กรองกระแส/บทเรียน เศรษฐกิจ ยุค “ปรีดิยาธร” ถึงยุค “สมคิด” แบ่งแยก แล้วปกครอง

กรองกระแส

บทเรียน เศรษฐกิจ

ยุค “ปรีดิยาธร” ถึงยุค “สมคิด” แบ่งแยก แล้วปกครอง

บนหน้า 1 ของสื่อหนังสือพิมพ์ แม้จะมีข่าวเรื่องความไม่พอใจในเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ อันมีผลสะเทือนไปยังโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงความหงุดหงิดของเกษตรกรชาวสวนยางที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

แต่บทบาท 1 ที่ต้องยอมรับก็คือ บทบาทและความพยายามอย่างเต็มกำลังของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สัมผัสได้จากการเดินทางไป “โรดโชว์” ที่ประเทศญี่ปุ่น

และอีกไม่นานก็สามารถสัมผัสได้จากการเดินทางไป “โรดโชว์” ที่ประเทศจีน และย้ำเตือนในเรื่องความร่วมมือกันในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง

เหมือนกับจะเป็นความพยายามที่ล่าช้า แต่ก็ต้องยอมรับในบทบาท

ยิ่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แสดงความตื่นตัว เคลื่อนไหว ออกโรงในเรื่องการแก้ไขปัญหาในทางเศรษฐกิจมากเพียงใด ยิ่งสะท้อนให้เห็นบทบาท และความหมายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับและรับผิดชอบงานเศรษฐกิจมากเพียงนั้น

ความหวังทั้งหมดของ คสช. และของรัฐบาล จึงฝากไว้กับความสามารถจากสมองก้อนโตของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทั้งสิ้น

บทบาท ความหมาย

ปรีดิยาธร เทวกุล

แรกที่มีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจอยู่ใน คสช. แต่ไม่ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งใน ครม.

อย่างมากที่สุดคือ อยู่ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ภาระหน้าที่ด้านหลักในงานทางด้านเศรษฐกิจจึงเป็นของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและทีมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายสมหมาย ภาษี และ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รวมถึง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

อาจกล่าวได้ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คุมตั้งแต่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขณะที่กระทรวงคมนาคมอยู่ในมือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กระทรวงพาณิชย์อยู่ในมือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมในการรัฐประหาร หากที่สำคัญยังเป็นรัฐมนตรีที่เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านรองนายกรัฐมนตรี

การบริหารในลักษณะเช่นนี้เองที่เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และคณะ ถูกปรับออก เขาจึงสรุปความล้มเหลวที่เกิดจากเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนสิงหาคม 2558 ว่า

เพราะเป็นการบริหารในแบบ “แบ่งแยก แล้วปกครอง”

บทบาท ความหมาย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

เหมือนกับการเข้ามาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จะมาเพื่ออุดจุดอ่อนและช่องโหว่ในยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

แต่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ประสบกับปัญหาเหมือนเดิม

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจกำกับงานกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ ได้

แต่ไม่อาจเข้าไปในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

แต่ไม่อาจเข้าไปในกระทรวงคมนาคม และไม่อาจเข้าไปในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เพราะว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการ แม้มิได้เป็นหน่วยขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่ก็อยู่ในการกำกับของรองนายกรัฐมนตรีซึ่งมิใช่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สภาพที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เผชิญจึงแทบไม่แตกต่างไปจากสภาพที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยประสบ

อย่างที่สรุปออกมาว่า เป็นกระบวนการบริหารในแบบ “แบ่งแยก แล้วปกครอง”

จาก ประชานิยม

ถึง “ประชารัฐ”

ความโดดเด่นในยุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี คือ การดำเนินนโยบายภายใต้คำขวัญที่ว่า “ประชารัฐ”

โดยการร่วมระหว่าง “กลุ่มทุนใหญ่” กับ “ภาคประชาสังคม”

เป็นการสรุปบทเรียนของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จากที่เคยร่วมในการดำเนินนโยบาย “ประชานิยม” ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพียงแต่เน้นบทบาทของ “ภาคประชาสังคม” มากยิ่งขึ้นภายใต้การอำนวยความสะดวกของ “ภาครัฐ”

จากนี้จะเห็นถึงการพยายามต่อยอดนโยบาย “ประชานิยม” จากอดีต แต่ดำเนินภายใต้แนวทาง “ประชารัฐ” อย่างคึกคัก

แต่ “ประชารัฐ” ก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานและความสำเร็จได้เท่า “ประชานิยม”

สาเหตุมิได้อยู่ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มิได้สรุปบทเรียนและลงมือแก้ไข หากแต่น่าจะมาจากผลสะเทือนของแนวทางการบริหารในแบบอย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยสรุปและเรียกอย่างรวบรัดว่า “แบ่งแยก แล้วปกครอง” มากกว่า

การบริหารจัดการเช่นนี้ ไม่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย่อมมิใช่คนตัดสินชี้ขาดอย่างแท้จริง