“ป่าไผ่สร้างได้ด้วยไผ่หนึ่งเดียวนา” บันทึกการเยี่ยมนักโทษการเมืองในบ่ายวันหนึ่ง

1.”ไผ่คิดอย่างไรกับคำว่าการปรองดอง”

ผมคิดคำถามนี้มาตลอดทางจากอำเภอหนองเรือถึงทัณฑสถานพิเศษขอนแก่น ผมควรถามคำถามนี้ไหม มันยากเกินไปหรือไม่ มันดูจะสร้างความยุ่งยากให้เขาหรือไม่ แม้ว่าผมจะเคยพบไผ่มาก่อนครั้งหนึ่ง แต่นั่นก็ในสถานที่อันพลุกพล่านและเพียงห่างๆ ในครานี้ผมจะได้พบเขา มีบทสนทนากับเขา ผมควรถามไถ่ ให้กำลังใจเขามากกว่าการยื่นคำถามที่ทำความลำบากใจให้เขาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การอ่านบทสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งที่ข้องเกี่ยวกับคำว่าปรองดองก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวันทำให้ผมตัดสินใจว่าผมควรถามคำถามนี้ ข้อเสนอแนะของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้นที่ขอให้ทุกคนลืมความขัดแย้งในอดีตเสียแล้วเริ่มต้นกันใหม่กับอนาคต มิเช่นนั้นแล้วความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

แล้วใครเล่าที่ควรต้องการความปรองดองในยามนี้มากกว่า-ไผ่

ไผ่ เด็กหนุ่มผู้ใฝ่รู้ทางกฎหมาย ไผ่ เด็กหนุ่มผู้ใฝ่รู้ต่อสิทธิ เสรีภาพ ทางสังคม ไผ่ ดาวดิน อันเป็นชื่อของเขาที่รู้จักกันโดยทั่วไป ไผ่ ผู้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากกวางจู ไผ่ เด็กหนุ่มผู้สูญเสียอิสรภาพอยู่ในยามนี้

และเขาควรได้รับอิสรภาพในทันทีหากการปรองดองที่อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นอ้างถึงมีอยู่จริง

2.สถานที่เฝ้ารอการเยี่ยมผู้ต้องขังในทัณฑสถานพิเศษขอนแก่นนี้ แทบไม่ต่างจากสถานีรถโดยสารต่างจังหวัดอันห่างไกลสักที่

เก้าอี้แถวที่ทำจากไฟเบอร์กลาส ร้านขายขนม น้ำและเครื่องดื่มต่างๆ ช่องติดต่อที่เปิดให้ผู้ติดต่อเข้าทำธุระได้ทีละคน

นี่เป็นบรรยากาศที่ไม่ต่างจากการเฝ้ารอรถโดยสารคันที่มุ่งหมายแล่นเข้าเทียบท่า เพียงแต่รถโดยสารที่ผู้คนในบริเวณนี้เฝ้ารอเป็นรถโดยสารสายความหวัง

ความหวังที่ทุกคนปรารถนาจะได้พบผู้ที่ถูกพรากจากพวกเขาด้วยผลทางกฎหมาย

ไผ่ ดาวดิน

3.ก่อนการเดินทางไปพบไผ่

ผมได้มีโอกาสสนทนากับรุ่นพี่ของไผ่ถึงไผ่

“ไผ่เป็นคนจริงจังตั้งแต่สมัยเรียน เขาเป็นคนทำอะไรทำจริง ผมเป็นรุ่นพี่เขาสามปี ได้เห็นเขาห่างๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง เขาสนใจกิจกรรมหลากหลาย แต่ตอนหลังดูเหมือนเขาจะมุ่งไปที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นหลักตามกับที่เขาร่ำเรียนมาด้านนิติศาสตร์”

คำบรรยายเช่นนี้ต่อตัวไผ่ดูจะเป็นคำจำกัดความที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

4.”ไผ่คิดอย่างไรกับคำว่าปรองดอง”

ผมถามคำถามนี้กับเขาเป็นคำถามแรกหลังยกหูโทรศัพท์ข้ามผนังคุยกับเขา แตกต่างจากเรือนจำกลางคลองเปรม โทรศัพท์ที่ทัณฑสถานพิเศษขอนแก่นนี้เป็นสีขาวบริสุทธิ์

ไผ่ในผมตัดสั้น เสื้อสีฟ้า ฟังคำถามนี้อย่างใคร่ครวญ ทำให้ผมต้องเอ่ยต่อกับเขาว่า “ที่ถามคำถามนี้กับไผ่เพราะว่า เมื่อวันก่อนมีบทความของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่บอกว่าเราควรลืมอดีตที่ขัดแย้งเสียที แล้วมองไปยังอนาคต การสนใจอนาคตจะลดความขัดแย้งลงและจะทำให้กระบวนการปรองดองนั้นเกิดขึ้นได้จริงเสียที”

ในครานี้ไผ่ตอบคำถามที่ว่านี้แทบจะทันที “ลืมอดีตนั้นได้ สำหรับผม จะให้มองอนาคตก็ได้ แต่ปัจจุบันเราภายใต้สังคมที่อำนาจเผด็จการควบคุมเราเช่นนี้ เราจะสร้างอนาคตได้อย่างไร แค่คัดค้านการรัฐประหารก็ทำไม่ได้เสียแล้ว แค่คัดค้านการลงประชามติก็ทำไม่ได้เสียแล้ว ในปัจจุบันที่ไม่มีพื้นที่แห่งการถกเถียง ไม่มีพื้นที่ให้แสดงความเห็น เราจะสร้างอนาคตร่วมกันได้อย่างไร เราจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร”

“ผู้พูดถึงคำว่าความปรองดองในตอนนี้เป็นไปเพื่อการหาผลประโยชน์จากคำคำนี้เท่านั้นเอง”

5.ไผ่ดูผอมลงจากวันแรกที่เขาถูกควบคุมตัว

ทรงผมของเขาตัดสั้น เขาอยู่ในชุดเสื้อสีฟ้า

ผมถามเขาว่าตอนนี้เขาพักอยู่ในแดนใด “ผมอยู่แดนพยาบาลครับ สบายดี” สีหน้าเขาแจ่มใส

ผิวเขาคล้ำกว่าครั้งสุดท้ายที่ผมได้เจอเขา

แต่รอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติของเขาอย่างเหมือนเดิม

เขาพูดประโยคสุดท้ายก่อนจะวางสายโทรศัพท์สีขาวลงกับเครื่อง

“บอกทุกคนด้วยนะครับว่าผมคิดถึง”

6.เวลาสิบห้านาทีในการสนทนากับไผ่นั้นสร้างตะกอนบางอย่างในความคิดผมต่อนักโทษทางความคิดเช่นไผ่

ผมตรงจากทัณฑสถานเรือนจำพิเศษขอนแก่นมายังร้านกาแฟแห่งหนึ่ง

ที่นั่นผมมีนัดกับผู้ที่ได้รับอิสรภาพคนหนึ่ง

ส. ได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนสิงหาคมปีกลาย ว่าไปแล้วก็เป็นเวลาเกือบปี ช่วงแรกเขามีปัญหากับการนอนไม่หลับ การสื่อสารกับเพื่อน ทำให้เขาต้องตัดสินใจไปพบกับจิตแพทย์

คำแนะนำที่เขาได้คือให้ไปหมกมุ่นกับสิ่งที่เขารักเขาชอบซึ่งทำให้เขาอาการดีขึ้นจนเป็นปกติในไม่ช้า

“ที่นอนไม่หลับ ช่วงแรกส่วนหนึ่งเพราะนอนอยู่ในที่คุมขังนั้นเป็นการนอนเปิดไฟตลอด พอต้องมาปิดไฟนอนนี่นอนไม่หลับเอาเลย ไม่นับว่าการกลัวเสียงกุญแจ ทุกครั้งก่อนการนับจำนวนนักโทษ ผู้คุมจะสั่นกุญแจเดินมาระหว่างทาง เสียงกุญแจนี่หลอนผมมากในช่วงแรกเลย”

“ตอนที่โดนข้อหานี้ รู้สึกอย่างไร”

“เขาให้ผมไปหาเจ้าหน้าที่ แจ้งผมมาก่อนว่าเขาต้องการให้ผมไปพบ พอผมไปพบ เขาก็เอารูปผมออกมาแล้วถามว่าเป็นผมไหม พอผมรับว่าเป็นผม เขาก็ใส่กุญแจมือผมเลย ผมก็ถามเขาว่าจับผมด้วยข้อหาอะไร เจ้าหน้าที่บอกว่าไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ พอไปถึงสถานีตำรวจผมถึงได้รู้ว่าผมโดนคดีร้ายแรงนี้ ผมตกใจมากว่าผมโดนข้อหานี้ได้อย่างไร ใครเป็นคนแจ้ง เขาบอกว่าเดี๋ยวพาไปกรุงเทพฯ ก็จะรู้เอง”

“แล้วลงกรุงเทพฯ เลยไหม”

“สี่โมงเย็นออกเดินทางจากที่นี่เลย พอถึงกรุงเทพฯ เขาพาไปส่งที่สถานีตำรวจอีกที่ ไปถึงมีนักข่าวมารอแล้ว คืนนั้นคุยกับนักข่าวเสร็จ ถึงได้ทราบว่าเพื่อนเตรียมทนายให้เรียบร้อย แต่ผมต้องค้างคืนนั้นที่สถานีตำรวจ”

“ระหว่างทางที่นั่งรถตู้ออกมากรุงเทพฯ รู้สึกอะไรบ้าง”

“เขาใส่กุญแจมือผมมา รถจอดที่โคาช เขาก็ไม่ได้เอาข้าวให้ผมกิน เช้าวันรุ่งขึ้นผมถึงได้ทานข้าว ตอนบ่ายเขาพาผมไปส่งศาล หลังจากนั้นก็เข้าเรือนจำเลย”

“สรุปว่าติดอยู่ในนั้นกี่ปี”

“สองปีกับสองเดือนครับ”

“ถ้าให้สรุปความรู้สึกตลอดเวลาสองปีสองเดือนนั้นเป็นประโยคสั้นๆ สักประโยคสองประโยคจะสรุปว่าอะไร”

“ผมไม่ได้รับความยุติธรรม ผมอยู่ในนั้นด้วยความรู้สึกถูกข่มขืนด้วยความอยุติธรรมทุกวัน ผมต่อสู้อะไรไม่ได้เลย ขอประกันตัวก็ไม่ได้ ทางเดียวที่จะได้รับอิสรภาพคือการสารภาพ ผมจำต้องรับสารภาพทั้งที่ผมไม่รู้สึกว่าเรามีความผิดแน่ ผมต้องอยู่ในสภาพ -สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน- ความรู้สึกแบบนี้จะให้ผมไปปรองดองอะไรกับใคร ในความอยุติธรรมนี้ไม่มีทางปรองดองได้เลย”

ผมจบบทสนทนาอันยืดยาวกับเขาในเย็นวันนั้น ประโยคสุดท้ายของเขาทำให้ผมนึกถึงคำพูดของไผ่ “เราจะปรองดองได้อย่างไรกับสภาพที่ไม่มีพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน”

จริงของเขา เราจะปรองดองได้อย่างไรหากไม่มีพื้นที่ให้ถกเถียงแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะหากไม่มีความยุติธรรม การปรองดองย่อมจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย