ออกแบบชีวิต อย่าง d.school : ธุรกิจพอดีคำ

“อยากทำอะไรของตัวเองว่ะพี่”

เสียงตัดพ้อต่อชีวิตของตัวเอง ของน้องๆ ที่ผมรู้จักหลายคน

ไม่ว่าจะในที่ทำงาน หรือที่มหาวิทยาลัย

เป็นคำพูดที่ไม่เชิงขอคำปรึกษา

แต่เป็นในเชิงระบายอารมณ์เศร้าๆ เล็กๆ

ราวกับว่า “ทำอะไรกับมันไม่ได้”

ผมเองก็มักตอบกลับไปง่ายๆ

“ก็ลองทำดิวะ”

ท่าทีของน้องๆ ที่มาปรึกษา ก็จะ “มองบน”

คำตอบที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ก็มักจะประมาณว่า

“ไม่รู้จะเริ่มยังไงพี่”

“ช่วงนี้ยุ่งมากเลย”

“แล้วถ้าเจ๊งล่ะพี่ ผมไม่มีความกล้าเหมือนเพื่อนๆ คนอื่นๆ เขา”

“ผมไม่ชอบความเสี่ยงพี่ ทำยังไงถึงจะกล้าเสี่ยง”

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสจัดคลาสสอนเรื่อง Design Thinking กระบวนการสร้างนวัตกรรมในองค์กร ที่ผู้บริหารหลายท่านติดต่อเข้ามาว่า อยากเรียน

ผมเองแม้จะเรียนเรื่องนี้มากับตัวเองเป็นปี จาก “d.school” ต้นตำรับที่มหาวิทยาลัย “สแตนฟอร์ด”

แต่ไหนจะทำงานประจำ ไหนจะต้องสอนหนังสือ

ไม่ค่อยมีเวลาจะไปสอนผู้บริหารในองค์กรแบบจริงๆ จังๆ สักที

ผมก็เลยคิดสนุกๆ ว่า อยากจะจัดคลาสที่ “ผู้บริหาร” ทั้งหลายต้องออกมาเรียนนอกบริษัท ต่างบริษัท ต่างธุรกิจ คนละนิดคนละหน่อย มาเรียนรวมกันในวันเสาร์-อาทิตย์

ก็ปรากฏว่า ได้เสียงตอบรับดีมากครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาก็จัดไปเป็นครั้งที่สามแล้ว

รวมสามครั้งก็เจ็ดสิบกว่าคน จากสามสิบกว่าบริษัท

ซีพี เอสซีจี เอไอเอส ทีเอ็มบี กรุงศรี เวิร์คพอยท์ มิตรผล แสนสิริ เอพี

บริษัทใหญ่ๆ ที่อยากจะทำอะไรใหม่ๆ ในองค์กร ก็ส่งพี่ๆ ผู้บริหารมาเรียนกัน

วันสุดท้ายของการเรียน มีพี่คนหนึ่งถามผมว่า

“ตอนที่ไปเรียนที่ d.school ชอบวิชาไหนที่สุด”

ผมก็ตอบไปแบบไม่ทันคิด ตามความรู้สึก

“Designing your life (ออกแบบชีวิต)” ครับ

พี่เขาก็งงไปนิดหน่อย แล้วถามว่า มันออกแบบยังไงหรอ

ขออนุญาตเล่าให้ฟังครับ

เรื่องของ “นวัตกรรม” นั้น เรามักจะพูดถึงการทำ “ต้นแบบ (Prototype)”

การทดลองแบบง่ายๆ ไม่ใช้เงินเยอะ ใช้เวลาเยอะ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้า เอามาปรับ เปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ การบริการของเรา

ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรใหญ่ๆ ลงเงินเยอะๆ กับมัน

เป็นการ “ลดความเสี่ยง”

ที่ d.school เชื่อว่า “แนวคิด” นี้ สามารถนำมาปรับใช้กับ “ชีวิต” เราได้เช่นกัน

ผมเองในฐานะ “วิศวกร” คนหนึ่ง ผมไม่ชอบความเสี่ยงครับ จะทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดแล้วคิดอีก วางแผนกันอย่างรัดกุม

ทำแล้วต้อง “เป๊ะ” ไม่ผิดพลาด

“วิศวกร” จากรั้วจามจุรี ก็มักจะเป็นแบบนี้

และนี่ก็เป็น “แนวคิด” ที่มีผลต่อการตัดสินใจหลายอย่างในชีวิตของผม ก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี 2013 วิชา “Designing your life” ที่ d.school เหมือนจับผม “ตีลังกา”

หลักการง่ายๆ มีอยู่ว่า

“ถ้าคุณอยากจะรู้ว่า คุณชอบอะไร อยากเป็นอะไรในชีวิต คุณไม่มีทางรู้จนกว่าจะลงมือทำ”

ฟังแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า เหย ยังไม่ได้ศึกษาอย่างดีเลย ลงมือทำ ก็มีความเสี่ยงจะเจ๊ง พังเอาง่ายๆ น่ะสิ

คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ

เพราะนี่เราพูดถึงการสร้าง “ต้นแบบ” ของชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ “การเสี่ยง” หรือ “ความมั่นใจ” แบบไร้เหตุผล

“เฮนรี่ ฟอร์ด” ผู้ผลิตรถยนต์เป็นคันแรกๆ ของโลก เขามีความคิดเรื่องรถยนต์ ตั้งแต่เป็นพนักงานของบริษัท “จีอี (GE)” บริษัทของ “โทมัส อัลวา เอดิสัน” ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรกของโลก

เฮนรี่ ฟอร์ด ไม่ได้ทุบหม้อข้าว ลาออกมาลุยสร้างรถยนต์ทันที

กลับกัน เขาซุ่มศึกษาเรื่อง “คาร์บูเรเตอร์ (Carburetor)” เป็นเวลากว่าสองปี

จดทะเบียนสิทธิบัตร (Patent) เรียบร้อย แล้วจึงลาออกมาทำเต็มตัว

“บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัท “ไมโครซอฟต์ (Microsoft)”

หลายคนคุ้นเคยกับเรื่องราว “บ้าบิ่น” ของเขา ที่ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย “ฮาร์วาร์ด” ตอนปีสอง เพื่อก่อตั้งบริษัทที่เปลี่ยนโลกแห่งนี้

ความจริงแล้ว บิล เกตส์ เริ่มทำสิ่งนี้ ตั้งแต่ปีหนึ่ง ทดลองเรื่อยมา จนขายซอฟต์แวร์บางส่วนไปได้บ้างแล้ว

ขึ้นปีสอง ทำต่อไปจนเห็นโอกาสที่ชัดเจนขึ้น มีความมั่นใจพอประมาณ แล้วจึงตัดสินใจ “ลาออก” จากมหาวิทยาลัย

“ฟิล ไนต์ (Phil Knight)” ผู้ก่อตั้งบริษัท “ไนกี้ (Nike)” เจ้าของสโลแกน “Just do it”

เขาทำงานประจำเป็นนักบัญชี ไปเช้า-เย็นกลับ และเริ่มสนใจจะสร้าง “นวัตกรรม” ของ “รองเท้า”

ฟิล ไนต์ ขายรองเท้า ทดลองตลาด จากหลังรถของตัวเอง เป็นเวลา 5 ปี ในขณะเป็นพนักงานประจำ

ก่อนจะลาออกมาทำบริษัท “Nike” แบบ Full-Time

“ผู้ประกอบการ” ในตำนานเหล่านี้ ล้วนไม่ใช่ “นักพนัน” ที่ชอบความเสี่ยงอย่างไร้เหตุผล

กลับกัน พวกเขากลับ “กลัวความเสี่ยง” จนต้องทำการสร้าง “ต้นแบบ (Prototype)” ขึ้นมา

เพื่อ “ลด” ความเสี่ยงนั้นๆ ก่อนที่จะก้าวขาออกมาสร้าง “บริษัท” ของตัวเอง

วิชา “ออกแบบชีวิต (Designing your life)” ของ d.school สอนเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ถ้าคุณอยากจะทำอะไรสักอย่าง ลองลงมือทำมัน “เล็กๆ” เสียก่อน อย่ามัวแต่นั่งคิด นั่งวางแผน

คิดใหญ่ แต่ เริ่มเล็ก (Think Big, Start Small) คือกุญแจสู่ความสำเร็จ

วัฒนธรรมแบบไทยๆ ของเราส่วนใหญ่ มาตายตรง “Start”

คิดเยอะ แล้วไม่ยอมลงมือเสียที

เสียงของน้องๆ ที่ถามผมว่า “ผมไม่ชอบความเสี่ยงพี่”

ผมก็อยากตอบกลับไปว่า “ไม่มีใครในโลกชอบความเสี่ยงหรอก”

คำถามคือ “ถ้าไม่ชอบเสี่ยงใหญ่ แล้วเสี่ยงเล็กๆ ได้มั้ย”

คุณคิดว่า เวลาที่ดีที่สุดในการสร้าง “ต้นแบบ” ของชีวิต คือช่วงเวลาใดกัน

มิใช่ “วัยเรียน” หรือ “วัยเริ่มทำงาน” ที่ยังไม่มีภาระหรอกหรือ

คิดใหญ่ แต่ “เริ่มเล็ก” คือเทคนิคของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ

คิดใหญ่ ไม่ใช่ปัญหา ใครๆ ก็ทำได้

แต่ “เริ่ม” เล็กนี่สิ ที่จะทำให้เราแตกต่าง และเป็นการ “ลดความเสี่ยง” ไปด้วยในตัว

“ต้นแบบ” ของชีวิตเรา

เอ็งสร้างได้วันนี้เลย ไอ้น้องเอ๋ย