สำนึกที่ไม่เหลืออยู่ / เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

สำนึกที่ไม่เหลืออยู่

 

แม้จะรู้ๆ กันอยู่ว่า “ผลโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ” คะแนนที่ถือหางคนถูกอภิปรายจะมากกว่า

เพราะการเมืองในระบบรัฐสภาแบบไทยๆ แต่งตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร และแม้จะถือว่า ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์จะโหวตอย่างไรก็ได้ แต่ก็นั่นแหละการเมืองไทยมีอีกระบบหนึ่งที่ซ้อนอยู่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว

คือ “ระบบพวกพ้อง”

ซึ่งเรามักได้ยินได้ฟังอยู่เสมอในถ้อยคำหรือการบอกกล่าวของคนการเมืองที่ยืนยันการมีอยู่ของวัฒนธรรมนี้

อย่าง “ผมไม่มีพรรคมีแต่พวก-ไม่ว่าจะสวมเสื้อพรรคไหน แต่ผมอยู่พรรคพวก หรืออะไรอื่นๆ ทำนองนี้”

“พรรคพวก” มีความหมายถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว และหากติดตามอย่างใกล้ชิดจะพบว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ผูกเชื่อมกันไว้ด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน

คนที่มีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มคนพวกหนึ่ง ย่อมนับเป็น “พรรคพวกกัน”

การขยายจำนวนคนที่มาร่วมเป็นพรรคทำได้แค่หยิบยื่นผลประโยชน์ไปแบ่งปันให้ตามสมควร ง่ายๆ แค่นั้น

ยิ่งในยุคนี้ มีขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของพรรคการเมืองอย่างเป็นระบบ

ไม่ว่าจะเป็นการทำจิตวิทยามวลชนอย่างเข้มข้นของนักการเมืองฝ่าย “อำนาจนิยม” ต่อต้านอำนาจประชาชน เข้ามายึดครองอำนาจรัฐด้วยการใช้กองกำลังทำรัฐประหาร ก่อตั้ง “เครือข่ายผู้มีอำนาจ” ขึ้นมายึดครองการจัดการประเทศ

เลยไปถึงการเขียนกฎหมายเพื่อลดบทบาทของพรรคการเมือง มีกลไกตรวจสอบที่ใช้จัดการนักการเมือง

จัดการให้นักการเมืองมีภาพที่เลวร้ายในสายตาประชาชน

เป็นยุคที่การทำงานเช่นนั้นอยู่ในช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุด

 

ด้วยการเมืองที่มีสภาพเช่นนี้เอง “ผลโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” จึงออกมาอย่างที่รู้กันอยู่ว่า ไม่ว่าฝ่ายค้านจะเปิดโปงหนักหน่วงแค่ไหน คนที่ถูกอภิปรายจะยังชนะเสมอ

และครั้งนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะความแตกต่างของคะแนนที่ 10 รัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจแต่ละคนไม่เท่ากัน หากมองให้ลึกลงไปแล้วไม่เกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกเปิดโปง 4 วัน 4 คืนเลย

แต่เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล และการขยาย “พรรคพวก” ของรัฐมนตรีบางคนมากกว่า

และหากใครยังเชื่อว่า “ไม่ว่าผลโหวตจะเป็นอย่างไร หากประชาชนไม่เชื่อ ที่สุดความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น” เหมือนที่เคยเป็นมาในวัฒนธรรมการเมืองในอดีตที่ “ผู้นำ” มีสำนึกแคร์ความรู้สึกของประชาชน ย่อมเสี่ยงอย่างยิ่งว่าจะเป็นความเชื่อที่จะนำความผิดหวังมาให้

เป็นความเชื่อที่ไม่เป็นจริงอีกแล้ว สำนึกเช่นนั้นดูจะไม่น่ามีอยู่แล้ว

 

หลังศึกซักฟอกครั้งนี้ “สวนดุสิตโพล” สำรวจความคิดของประชาชน

จากคะแนนเต็ม 10 ประชาชนให้ฝ่ายค้าน 6.90 คะแนน รัฐบาล 5.01 คะแนน ฝ่ายค้านชนะ

ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลหลังการอภิปราย ร้อยละ 43.25 ไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 23.28 เชื่อมั่นน้อยลง รวมฟากที่ความเชื่อมั่นเป็นลบร้อยละ 66.53 ขณะที่เชื่อมั่นเหมือนเดิมร้อยละ 20.57 และเชื่อมั่นมากขึ้นร้อยละ 12.90 รวมความเชื่อมั่นที่ยังเป็นบวก 43.85

ภาพของรัฐบาลในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่เป็นลบ

เมื่อถามว่าการเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ร้อยละ 55.40 ตอบว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 30.28 บอกน่าจะแย่งลง ร้อยละ 14.32 เห็นว่าจะดีขึ้น

แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้อยู่เต็มอกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะเปิดโปงความเลวร้ายของพฤติกรรมรัฐมนตรีแต่ละคนหนักหน่วง จนน่าเป็นห่วงว่าขืนปล่อยให้มีอำนาจควบคุมประเทศต่อไปจะส่งผลเสียหายต่อชาติ และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมากมายแค่ไหน

แต่ที่สุดแล้วด้วย “สำนึกที่ไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชน” อันเป็นแก่นของ “วัฒนธรรมการเมืองในยุคสมัยเช่นนี้”

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจาก “สำนึกของผู้นำ” อย่างเมื่อก่อน จะไม่เกิดขึ้น