“หล่อ” สังหาร (ระบอบทักษิณ) : ในประเทศ

ข้อเสนอของอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายพิชัย รัตตกุล

กับข้อเสนอของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายวันชัย สอนศิริ

น่าสนใจ

โดยนายพิชัยเสนอว่า เพื่อขัดขวางไม่ให้ทหารอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อคงอยู่ในอำนาจ

อันจะนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก

ทางเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อสู้กับพรรคทหาร เพื่อรักษาประชาธิปไตยได้ คือ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จะต้องสงบศึก ผนึกกำลังกัน เพื่อต่อสู้พรรคทหาร

โดยตกลงกันก่อนเลือกตั้ง ว่าระหว่างหาเสียงจะไม่โจมตีสาดโคลนกัน

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ให้พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดเป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาล

ส่วนพรรคที่เหลือต้องสนับสนุนให้พรรคที่ชนะ

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ เสนอว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นเอกภาพกว่านี้

ปัญหาภายในกับ กปปส. ต้องไม่ทะเลาะกันเอง

และต้องไม่ทะเลาะกับทหาร

ต้องแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ร่วมกันต่อสู้กับระบบทักษิณให้ได้

โดย 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวกเป็นแกนนำในสภาสูง

2 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สู้ภาคประชาชน

3 พล.อ.ประยุทธ์ ดูแลเรื่องความมั่นคง

“ถ้า 3 ส่วนจับมือเป็น 1 จะต่อสู้กับระบบทักษิณในระยะเปลี่ยนผ่านได้” นายวันชัยระบุ

เมื่อเปรียบเทียบข้อเสนอของทั้งสองคน

นายพิชัย ดูจะเสนอในสิ่งที่เป็น “อุดมคติ”

ถูกประเมินว่ายากที่จะเป็นจริงในการปฏิบัติ

โดยเฉพาะการให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย อยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงมาก

ยากยิ่งที่จะเห็นสองพรรคจับมือเป็นพันธมิตรกัน

ตรงกันข้าม ข้อเสนอของ นายวันชัย สอนศิริ ถูกจับตามองว่ามีเค้าแห่งความเป็นจริงมากกว่า

และอาจเป็น “โมเดล” ที่ถูกเลือกจากกองทัพ

เพราะนอกจากจะไม่เหน็ดเหนื่อยกับการตั้งพรรคทหารเองแล้ว

การผูกเอาพรรคประชาธิปัตย์เข้ากับสมาชิกวุฒิสภาและกองทัพ ย่อมจะเป็นแม่เหล็กดึงเอาพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมด้วยได้ง่าย

ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา รวมแม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนา

แล้วโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทยให้อยู่ในฐานพรรคฝ่ายค้าน

ส่วนรัฐบาลก็จะเป็นการรวบรวมพระเอกที่มีดีกรีสูงระดับ “หล่อสังหาร”

หล่อสังหาร ที่ไม่ได้ไปก่อ “อาชญากรรม” อะไร

หากแต่เป็นการสังหารศัตรูร่วมตลอดกาลคือ “ระบบทักษิณ” นั่นเอง

การที่จะบรรลุผลเช่นนั้นได้ 3 ฝ่ายคือ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้อง “สามัคคี” กัน

แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย รวมถึงนายวันชัยด้วยห่วงใยว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น

โดยกลัวว่าจะเกิดความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์

คือในปีกของ “นายอภิสิทธิ์” และปีกของ “กปปส.”

โดยในปีกนายอภิสิทธิ์ พยายามอิงตามหลักการ นั่นคือ หากพรรคประชาธิปัตย์ครองเสียงข้างมาก นายอภิสิทธิ์จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่นายสุเทพได้ย้ำหลายต่อหลายครั้ง ว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อไป

เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถ มีความกล้าที่จะเป็นคนกลางที่จะทำการปฏิรูปประเทศไทย

ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนที่แตกต่าง

อันอาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดความขัดแย้ง ถึงขนาดเคลื่อนไหวเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคโดย กปปส.

ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนพรรค

แต่กระนั้น หากจับท่าทีวันที่แกนนำ กปปส. จำนวน 8 คนกลับเข้าพรรค ทุกคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า สนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีหากครองเสียงข้างมาก

อันเป็นไปตามหลักการ

แต่กระนั้น หากประเมินตามเนื้อผ้า และตามความเป็นจริงแล้ว ค่อนข้างยากที่พรรคประชาธิปัตย์จะครองเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จนสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้

และก็ยังไม่แน่ว่าจะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ด้วย

สมการการเมืองหลังการเลือกตั้ง จึงน่าจะออกไปในแนวที่ทหารจะล็อกเอาพรรคประชาธิปัตย์ไว้กับฝ่ายตนก่อน

จากนั้นไปดึงเอาเสียงสมาชิกวุฒิสภามาเป็นฐาน เพื่อครองเสียงข้างมาก แล้วจากนั้นจะตามด้วยการดึงเอาพรรคขนาดกลางมาร่วม

ซึ่งไม่น่าจะยากเย็น โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ นายเนวิน ชิดชอบ ที่มีความแนบแน่นเป็นอย่างสูงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมจะเป็นเสียงเสริมเข้ามาอีก

ภาพของการเมืองหลังเลือกตั้ง จึงจะออกมาในรูปแบบ พรรคประชาธิปัตย์+พรรคขนาดกลาง+พรรคขนาดเล็ก+วุฒิสมาชิก

โดยมี กองทัพ+กปปส. หนุนอยู่ข้างนอก

ขณะเดียวกันก็โดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทย ให้ไปอยู่ฟากฝ่ายค้าน

สำหรับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเล่นบทผู้เสียสละ

กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่สภาได้ในฐานะพรรคเสียงข้างมาก จำต้องจับมือกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อให้มีเสียงเพียงพอ ก็อาจต้องสไลด์ไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อาจจะเป็นประธานที่ปรึกษานายกฯ หรือข้ามฟากไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่น่าเสียหายอะไร

ส่วนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็เปิดให้เป็นโควต้านายกรัฐมนตรีคนนอก

ซึ่งก็คงไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พิจารณาตามนี้แล้ว โมเดลที่นายวันชัยเสนอขึ้นมา ดูจะเหมาะเจาะลงตัว

พรรคประชาธิปัตย์เอง ที่ผ่านมาก็ไม่ได้แสดงอาการรังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์

สามารถร่วมทำงานกับฝ่ายทหารได้อย่างไม่ขัดเขิน

ยิ่งนายสุเทพได้ตีฆ้องร้องป่าวว่านี่คือการถอดแบบ “เปรมโมเดล” ที่สามารถสร้างความเจริญให้กับประเทศในช่วงครองอำนาจ 8 ปีมาแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ตามความเห็นของนายสุเทพก็คือ ผู้ที่จะนำอดีตอันรุ่งโรจน์กลับคืนมา

ส่วน กปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ในที่สุดก็คงจะสามารถกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้

แต่ก็คาดหมายกันว่า นายสุเทพ จะดำรง “กกปส.” ให้เป็นมวลชนนอกสภาต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีมวลชนอื่นก่อตัวเข้ามาป่วนรัฐบาล

ภาพของขั้วอำนาจการเมืองในอนาคต จึงน่าจะออกมาในรูป 3 ประสาน

คือ พล.อ.ประยุทธ์+นายสุเทพ+นายอภิสิทธิ์

เป็น 3 หล่อแห่งการเมืองไทย ที่มีเป้าหมายร่วมกัน

นั่นคือสังหารฝ่ายตรงข้าม ในนาม “ระบบทักษิณ” ลงให้ได้

ในนาทีนี้ “โมเดลการเมือง” ที่นายวันชัย นำเสนอขึ้นมา ดูจะลงตัว และมีความน่าจะเป็นมากที่สุด

แต่กระนั้น ต้องไม่ปฏิเสธว่า “การเมือง” ก็คือ “การเมือง” คือมากด้วยความไม่แน่นอน

อย่างน้อยที่สุด ก็ยังไม่อาจมีใครพยากรณ์ได้ว่า ผลจะออกมาอย่างไร

หากพรรคเพื่อไทยยังรักษาความนิยมเอาไว้ได้ โจทย์ข้างต้นก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะหากพรรคเพื่อไทยสู้จนได้เสียงข้างมาก กระแสสังคมก็ย่อมจะกดดันการเมืองฝ่ายอื่นๆ เปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการดึงเสียงจากวุฒิสมาชิก

แต่กระนั้น คำถามมีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะกุมเสียงวุฒิสมาชิกได้ทั้งหมด 250 เสียง

เพราะเอาเข้าจริง เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการแต่งตั้ง วุฒิสมาชิกย่อมจะมี “ฐานอำนาจอื่น” ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ยื่นมือเข้ามาร่วมแชร์ด้วยการดันคนของตนเข้าไปสู่ฐานอำนาจนั้นด้วย

จึงมีความเป็นไปได้ที่วุฒิสมาชิก 250 คนจะไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ

สภาพเช่นนี้เอง ที่ย่อมนำไปสู่การต่อรองทางการเมือง ที่อาจทำให้เกิดการพลิกผันทางการเมืองขึ้นได้

ไม่ต่างกับพรรคการเมืองอื่น หากประชาชนแสดงความประสงค์ที่จะไม่กลับไปวนเวียนกับการเมืองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีก ก็อาจต้องเงี่ยหูฟังด้วย

การจะไหลบ่าไปเพื่อเสวยอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่สามารถพลิกผันได้ตลอดอาจจะไม่เป็นผลดีทางการเมือง

การพลิกขั้ว สลับขั้วสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นี่คือความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งในและนอกสภา

อาการที่แสดงออกถึงการไม่อยากเลือกตั้ง ทั้งการตั้งคำถามแบบดิสเครดิตต่อฝ่ายการเมือง ทั้งการพยายามเซ็ตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ความคาดหวังอันสวยหรู อย่างโมเดลที่นายวันชัยนำเสนอขึ้น ก็ยังมีความไม่มั่นใจแฝงอยู่ค่อนข้างมาก

ประกอบกับระยะเวลาจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง ที่ไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ จะมีเหตุไม่คาดฝันอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ภาวะที่ควบคุมไม่ได้เช่นนี้เอง ทำให้ใครก็จะประมาทไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในวาระครบรอบ 3 ปีของรัฐบาล หากยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ ให้ลุล่วงไปไม่ได้ ก็น่าเป็นห่วงรัฐบาลไม่น้อย

และอาจทำให้ความฝันของหลายๆ คนที่หวังจะได้เห็น 3 หล่อ ร่วมกันสังหารระบบทักษิณลงให้ได้เสียที อาจสลายลงเหมือนกับสิบปีที่ผ่านมาก็เป็นได้