ต่างประเทศ : ถอนตัวจากความตกลงปารีส การสูญเสียความเป็นผู้นำของสหรัฐ

การตัดสินใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสที่เห็นพ้องโดย 195 ประเทศ ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในด้านความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกาและความร่วมมือในระดับนานาชาติ

ท่ามกลางความตกตะลึงว่า ประเทศที่มีขนาดของเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกได้หันหลังให้กับข้อตกลงที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นความหวังสุดท้ายที่ดีที่สุดในการชะลอภาวะโลกร้อน ประเทศอื่นๆ ให้สัญญาว่าจะใช้ความพยายามมากขึ้น

ทว่า ช่องโหว่ที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐทิ้งไว้ยากที่จะถมให้เต็ม

และการตัดสินใจของทรัมป์จะสร้างความหมางเมินให้กับยุโรปที่เป็นกังวลและจีนที่หวาดระแวงอยู่แล้วมากขึ้นไปอีก

 

สหรัฐไม่เคยให้สัตยาบันในข้อตกลงด้านสภาพอากาศฉบับก่อนหน้านี้ นั่นคือ พิธีสารเกียวโต เมื่อปี 1997 ที่เป็นการลดความน่าเชื่อถือและความสามารถในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างมีประสิทธิผล

แต่เมื่อทั้งโลกมาประชุมหารือกันอีกครั้งในปี 2015 เพื่อร่างความตกลงฉบับใหม่ที่ทะเยอทะยานมากขึ้น ฝ่ายบริหารของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นสนับสนุนจุดยืนที่ทะเยอทะยานดังกล่าว

พลังอำนาจด้านการทูตและเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาติมหาอำนาจใหม่และประเทศที่ปล่อยมลพิษเพิ่มมากขึ้นอย่างอินเดียเข้าร่วม และสามารถบรรลุข้อตกลงกับจีนได้สำเร็จ

จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในขณะนั้นปรากฏตัวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2015 เพื่อตรวจสอบถ้อยคำอันเป็นที่อภิปรายอย่างร้อนแรงไปจนบรรลุข้อตกลงในพิธีการที่สะเทือนอารมณ์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

และเมื่อเดือนเมษายน 2016 แคร์รี่ร่วมกับผู้แทนจากทุกประเทศในโลกยกเว้นเพียงแค่ซีเรียกับนิการากัว ลงนามในความตกลงฉบับนี้ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

 

และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แคร์รี่ได้แสดงความกราดเกรี้ยวออกมาในเรื่องความเสียหายที่เกิดจากการถอนตัวออกจากข้อตกลงของสหรัฐที่ไม่เพียงจะมีต่อดาวเคราะห์ดวงนี้และคนรุ่นหลัง

แต่ยังรวมถึงความเสียหายที่มีต่อเกียรติภูมิของชาวอเมริกันด้วย

“นี่เป็นความสูญเสียความเป็นผู้นำของอเมริกันในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” แคร์รี่เปิดเผยในแถลงการณ์และเตือนว่า “การตัดสินใจของทรัมป์จะทำให้เราสูญเสียอิทธิพล สูญเสียตำแหน่งงาน และเหมือนเป็นการเชิญชวนให้ประเทศอื่นๆ เดินออกจากการแก้ปัญหาวิกฤตเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่ใหญ่หลวงที่สุดของมนุษยชาติ”

“นี่เป็นการโดดเดี่ยวสหรัฐหลังจากที่เราได้เชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกัน” แคร์รี่กล่าว

สัญญาณแรกของการถูกโดดเดี่ยวตามมาหลังจากนั้นไม่นานนัก

ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีออกแถลงการณ์ในทันที โดยเมินข้อเสนอที่กำกวมของทรัมป์ให้มีการเจรจาข้อตกลงใหม่เพื่อให้อุตสาหกรรมของสหรัฐได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้น

คณะกรรมาธิการยุโรปนำสหภาพยุโรป (อียู) ก้าวเข้ามารับช่วงต่อความเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สหรัฐทิ้งไว้ โดยให้สัญญาว่า “โลกสามารถพึ่งพายุโรปได้”

ขณะที่ สเตฟาน ดูฌาร์ริก โฆษกของ อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรง โดยระบุว่า

“เป็นเรื่องจำเป็นที่สหรัฐต้องคงความเป็นผู้นำในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม”

 

แต่ความง่ายดายที่ทรัมป์ยักไหล่ให้กับพันธกรณีของสหรัฐที่ใช้ความพยายามอย่างยากลำบากเป็นเวลาหลายเดือนในการเห็นพ้อง สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในชัยชนะของโอบามากับแคร์รี่

ในขณะที่ทั้ง 2 พยายามที่จะโน้มน้าวอินเดีย จีน และชาติมหาอำนาจใหม่อื่นๆ ให้ลงนามในข้อตกลง พวกเขารู้ว่าไม่มีทางทำให้วุฒิสภาสหรัฐให้สัตยาบันในข้อตกลงได้

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวที่บรรลุโดยการเห็นพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถผูกมัดผู้รับช่วงต่อจากทั้ง 2 ได้ ผลก็คือความตกลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับศรัทธาที่ยังเหลืออยู่ของรัฐบาลสหรัฐชุดต่อมาเท่านั้น

ทรัมป์ซึ่งก้าวเข้ามาด้วยความเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกับสมาชิกพรรครีพับลิกันรวมถึงผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมาก ต่างกังขากับข้อตกลงฉบับนี้ที่มีมาตรการในการจำกัดอุตสาหกรรมตามแบบแผนของสหรัฐอยู่แล้ว

เรื่องนี้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการวิพากษ์วิจารณ์ชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ของทรัมป์ และข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) รวมถึงการถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)

วิสัยทัศน์ “อเมริกา” ต้องมาก่อนของทรัมป์ ให้ความสำคัญกับการสร้างงานในประเทศมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์กับต่างชาติ

แต่ข้อตกลงการค้าที่ดีขึ้นซึ่งทรัมป์ระบุว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุจำเป็นต้องได้รับความเชื่อถือจากบรรดาผู้นำต่างชาติ

ซึ่งอาจรวมถึงเงื่อนไขผูกมัดด้านสิ่งแวดล้อมด้วย