จีนอพยพใหม่ในไทย (21) นานาอาชีวะ (ต่อ) / เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (21)

 

นานาอาชีวะ (ต่อ)

พนักงาน

อาชีพพนักงานในที่นี้หมายถึง การเป็นพนักงานของบริษัท ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า องค์กรพัฒนาเอกชน (ในที่นี้แตกต่างจากเจ้าหน้าที่สมาคมจีนที่ได้กล่าวไปในกรณีแรงงานเข้มข้น เพราะเป็นพนักงานที่ทำหน้าที่บริหาร โดยมีอยู่กรณีหนึ่งที่เป็นผู้อำนวยการสมาคม) เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นกิจการสัญชาติจีน ยกเว้นห้างสรรพสินค้าที่มีเจ้าของเป็นคนไทย

พนักงานเหล่านี้มีการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีเงินเดือนประจำและสวัสดิการในระดับหนึ่ง

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า มีพนักงานจำนวนหนึ่ง (เฉพาะที่พบจากการสัมภาษณ์) ทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะ

ที่ว่าน่าสังเกตนี้มิได้อยู่ตรงที่ห้างนั้นมีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมาก (จึงต้องว่าจ้างพนักงานให้มาเป็นล่าม) หากตรงที่ห้างดังกล่าวมิได้ว่าจ้างพนักงานที่เป็นคนไทยที่รู้ภาษาจีน ซึ่งในด้านหนึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาด้านภาษาจีนมาโดยตรงอาจมีคุณสมบัติทางภาษาจีนที่ยังไม่ตรงกับความต้องการ จนห้างดังกล่าวต้องว่าจ้างพนักงานที่เป็นชาวจีน

ข้อสังเกตนี้ผู้วิจัยได้ตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วจากหัวข้อแรงงานทักษะในกรณีครูอาสาสมัคร

การเป็นพนักงานแล้วปักหลักอยู่ในไทยนี้ถือเป็นส่วนน้อย เพราะมีชาวจีนที่มีอาชีพพนักงานจำนวนมากที่มิได้คิดที่จะปักหลักอยู่ในไทย และต่างตั้งใจว่าจะได้ย้ายกลับยังจีนในวันหนึ่ง หรือไม่ก็ย้ายไปยังประเทศอื่นที่ต้นสังกัดมีสาขาตั้งอยู่ (เช่น ธนาคาร)

อย่างไรก็ตาม พนักงานเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 20 ปลายๆ จนถึงมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เหตุฉะนั้น ในกรณีที่มีอายุ 20 ปลายๆ ที่ตั้งใจปักหลักอยู่ในไทยจึงมิแน่ว่าอาจจะเร็วเกินไปที่ระบุความตั้งใจเช่นนั้น เพราะด้วยวัยดังกล่าวยังมีทางเลือกที่อิสระและมีเวลาอยู่อีกมาก ซึ่งล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจในปัจจุบันได้ทั้งสิ้น

ยกเว้นเสียแต่ว่ามีเงื่อนปัจจัยบางประการมากำหนดให้ไม่เปลี่ยนความตั้งใจ เช่น การมีคนรักเป็นชาวไทย เป็นต้น

 

ครูบาอาจารย์

นับแต่ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 2000 ถึงทศวรรษ 2010 ยังผลให้ชาวไทยมีความสนใจที่จะเรียนภาษาจีนมากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่เรียนกับผู้สอนชาวไทยและผู้สอนชาวจีน

ในกรณีหลังนี้มีผู้สอนชาวจีนเข้ามามากขึ้นในทศวรรษดังกล่าว แต่ก็มิใช่ทุกคนที่ตั้งใจจะปักหลักปักฐานในไทย และที่งานศึกษานี้ได้สัมผัสโดยตรงนั้นเป็นครูจีนในระดับมัธยมศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้มีอยู่หนึ่งคนที่ปักหลักอยู่ในไทยเพราะได้แต่งงานกับหญิงไทย

ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้เหตุผลว่า เมื่อแรกที่เข้ามาสอนภาษาจีนในไทยนั้น คิดแต่เพียงว่าจะอยู่ในไทยเพียงชั่วคราวหรือตามวาระในสัญญา แต่เมื่ออยู่ไปกลับมีความรู้สึกว่าตนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของไทยได้ จึงตัดสินใจอยู่ในไทยนับแต่นั้นมา

กล่าวเฉพาะกรณีที่แต่งงานกับหญิงไทยนับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะการแต่งงานดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจอยู่ในไทยค่อนข้างสูง ทั้งคู่ได้รู้จักกันเพราะฝ่ายหญิงเรียนภาษาจีนโดยฝ่ายชายเป็นผู้สอน และเมื่อรักกันแล้วก็แต่งงานกันหลังจากที่ฝ่ายหญิงจบการศึกษา อีกทั้งการแต่งงานก็ยังจัดขึ้นในไทยอีกด้วย

หลังจากนั้นฝ่ายชายจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่กับฝ่ายหญิงและอยู่กันเป็นครอบครัวจนมีลูกด้วยกัน

กรณีเช่นนี้พบได้ไม่มากนัก แต่เป็นกรณีที่น่าสนใจตรงที่ว่า การแต่งงานกับหญิงไทยในด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้ฝ่ายชายมีโอกาสกลับไปจีนน้อยลง ผิดกับชาวจีนอพยพอื่นๆ ที่มิได้แต่งงานกับชาวไทยที่มีอิสระในการตัดสินใจกลับไปยังจีนได้ง่ายกว่า และยิ่งมีลูกด้วยกันด้วยแล้วอิสระที่ว่านั้นก็ลดน้อยลง

 

นักเรียน-นักศึกษา

การระบุว่า นักเรียนหรือนักศึกษาเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวจีนอพยพใหม่ในที่นี้ย่อมแสดงว่า ผู้ที่มีอาชีพนี้ย่อมมาเรียนในไทยโดยไม่กลับจีน กรณีเช่นนี้พบจากการสัมภาษณ์สองตัวอย่าง แต่น่าเชื่อว่าคงมีอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ก็เพราะสองตัวอย่างดังกล่าวมีเหตุผลที่น่าสนใจ

โดยตัวอย่างหนึ่งให้ข้อมูลว่า การที่ตนได้มาเรียนในไทยก็เพราะมีญาติอยู่ในไทย และเข้ามาเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาเรื่อยมาจนจบระดับปริญญาตรี ครั้นจบแล้วก็มิได้กลับจีน แต่อยู่กับญาติของตนจนทุกวันนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งมาเรียนด้วยในระดับปริญญาตรีจนจบ แล้วจึงต่อระดับปริญญาโทพร้อมกับหางานทำโดยตั้งใจที่จะไม่กลับจีน จะเห็นได้ว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าวมีเหตุผลที่มาเรียนในไทยแตกต่างกัน แต่เป็นจีนอพยพด้วยเหตุผลที่เหมือนกันคือ ต่างตั้งใจที่จะหางานทำในไทยและใช้ชีวิตอยู่ในไทย

ส่วนที่ผู้วิจัยเห็นว่ากรณีนี้น่าจะมีอยู่ไม่น้อยก็เพราะหากย้อนกลับที่อาชีพเพื่อนเรียนแล้วจะพบว่า นักเรียน (ที่ยังเยาว์วัย) จนต้องมีผู้ปกครองติดตามมาดูแลเป็นเพื่อนเรียนนั้น มีแนวโน้มที่จะเรียนระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษาในไทยต่อไป

ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุผลสองประการ

 

ประการแรก ผู้ปกครองมีอาชีพถาวรอยู่ในไทยและเป็นชาวจีนอพยพใหม่พร้อมกันไป

ประการที่สอง ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในไทยถูกกว่าที่จีน

ประการหลังนี้เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่า สาเหตุที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาจีนมาที่ไทยจำนวนมาก (โดยส่วนใหญ่มิได้มีความประสงค์ที่จะอยู่ในไทย คือเรียนจบแล้วก็กลับจีน) ในแต่ละปีก็เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าที่จีน

อีกทั้งมีไม่น้อยที่มีค่านิยมว่า เมื่อมาเรียนในไทยแล้วก็ไม่ต่างกับได้ศึกษาต่อต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากกรณีมหาวิทยาลัยเกริกซึ่งเป็นเอกชนได้ขายกิจการให้แก่นักลงทุนจีนเมื่อ ค.ศ.2019

หลังจากนั้นนักลงทุนผู้นี้สามารถนำศึกษาจีนเข้ามาเรียนยังมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้นับพันคนต่อปี* เป็นต้น

 

อาชีพของชาวจีนอพยพใหม่ในไทยจากที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นว่า อาชีพเหล่านั้นมีพัฒนาการในตัวของมันเอง พัฒนาการนี้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ภายในทั้งของจีนและไทย ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อจีนเปิดประเทศมากขึ้นในทศวรรษ 1990 ชาวจีนก็จะเข้ามายังไทย (หรือประเทศอื่นๆ) มากขึ้น

หรือเมื่อความต้องการรู้ภาษาจีนของชาวไทยมีมากขึ้น ก็จะมีชาวจีนที่สอนภาษาจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

แต่ที่ดูจะสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ การที่ไทยได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนในทศวรรษ 2000 โดยข้อตกลงนี้ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับจีนมีขอบเขตที่กว้างขึ้น และส่วนหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ชาวจีนได้เข้ามาในไทยมากขึ้นและง่ายขึ้น

ชาวจีนเหล่านี้เป็นผู้นำพาเอาภาคเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ เข้ามาจนเห็นได้ถึงความหลากหลาย บางรูปแบบจัดอยู่ในข่ายของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาของร้านอาหารจีน

อาหารจีนเหล่านี้มิใช่อาหารที่ชาวไทยเคยสัมผัสมาแต่เดิมที่ทั้งหมดเป็นอาหารจากจีนตอนใต้ หากแต่เป็นอาหารจีนจากทั่วทุกภาคของจีน

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้อาหารจีนในไทยมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ดังร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ที่นำเข้าแป้งที่ผลิตจากเมืองซีอัน (มณฑลสั่นซี) เป็นการเฉพาะ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของอาหารประเภทเส้นของตนเอาไว้ เป็นต้น

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า อาชีพจากที่กล่าวมานี้มีเพียงรายเดียวที่มีอาชีพอิสระเป็นนักตกแต่งภายใน ซึ่งแตกต่างไปจากอาชีพอื่นโดยสิ้นเชิง เป็นไปได้ว่าอาชีพในลักษณะนี้อาจมีมากขึ้นในอนาคต

 

อาชีพของชาวจีนอพยพใหม่จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนได้เข้ามาทำงานในไทยหลังจีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ได้ไม่นาน กลุ่มที่เข้ามาในช่วงนั้นมักเป็นแรงงานเข้มข้น ครั้นถึงทศวรรษ 1990 ที่เศรษฐกิจจีนเปิดกว้างขึ้นและดีขึ้น ชาวจีนก็อพยพเข้ามาในไทยมากขึ้น

การอพยพดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ขาดสายแม้ในทศวรรษ 2000 และ 2010 สิ่งที่เปลี่ยนในสองทศวรรษหลังนี้ก็คือ ชาวจีนที่เข้ามาเริ่มเป็นผู้ที่มีฐานะดี และเข้ามาในฐานะผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจหรือกิจการ

ที่สำคัญ แทบทุกคนยังคงความขยันขันแข็งเอาไว้ไม่ต่างไปจากชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต

*ผู้วิจัยรับทราบเรื่องนี้เพราะเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป