ปูนยุคต้นของอยุธยา ได้เทคโนโลยีมาจากพวกขอม ตัวอย่างจากวัดราชบูรณะ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ลวดลายปูนปั้นงามวิเศษบนพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังถูกบูรณะซ่อมแซมโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี

ทำไมต้องเป็นทีมจากมหาวิทยาลัยโคโลญจน์?

ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะแค่เงินยูโรปึกหนาๆ และเทคโนโลยีล้ำๆ จากประเทศมหาอำนาจ แห่งนั้นหรอกนะครับ

แต่เป็นเพราะ “ปูน” ที่ปั้นประดิษฐ์เป็นลวดลายต่างๆ บนองค์พระปรางค์แห่งนี้ มีองค์ประกอบกันใกล้เคียงกับปูนที่ประดับอยู่ทั่วไปในเมืองพระนคร และเมืองพระนครหลวง (นครธม) ในประเทศกัมพูชา จนเรียกได้ว่าเทคโนโลยีในการผลิตปูนในยุคอยุธยาตอนต้น ที่สร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะนั้น ได้รับการถ่ายทอดเทคนิควิธีการผลิตปูนมาจากพวกขอมในยุครุ่งเรืองเลยทีเดียว

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ซึ่งได้ทำการศึกษา และซ่อมแซมงานปูนปั้นทั้งหลายในปราสาทขอมโบราณ ที่ประเทศกัมพูชานั้น จึงได้สนใจมาทำการบูรณะลวดลายปูนปั้นที่ประดับอยู่บนพระปรางค์วัดราชบูรณะด้วย จนทำให้เกิดโครงการความร่วมมือที่ว่านั่นเอง

พระราชพงศาวดารอยุธยาระบุว่า วัดราชบูรณะ ถูกสร้างขึ้นในเรือน พ.ศ.1967 โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (หรือที่มักจะคุ้นเคยกันมากกว่าในพระนามก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์คือ “เจ้าสามพระยา”)

ปีแรกสถาปนาวัดดังกล่าวเป็นปี พ.ศ. เดียวกันกับปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์

ดังนั้น ถึงแม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 จะทรงเคยยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวง ซึ่งก็ได้รับชัยชนะ และคงจะมีการกวาดต้อนชาวเมืองพระนครหลวง (หรือที่มักจะเรียกกันในปัจจุบันว่าเมืองเสียมราฐ คือเมืองที่สยามรบชนะ แต่ฝ่ายกัมพูชาเรียกว่า เมืองเสียมเรียบ ซึ่งหมายถึงเมืองที่ชาวสยามรบแพ้?) ที่ส่วนใหญ่ก็คงจะถือตนว่าเป็นชาวเขมรกลับมายังอยุธยา (ซึ่งถ้าจะมีช่างปูนฝีมือเยี่ยมกลับมาด้วยก็ไม่แปลก)

แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.1974 หรืออีก 7 ปีหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์ และได้สถาปนาวัดราชบูรณะแล้ว

แน่นอนว่า การที่พระปรางค์ วัดราชบูรณะ จะยังสร้างไม่เสร็จเมื่อวันเวลาย่างเข้ามาถึงปี พ.ศ.1974 ที่พระบรมราชาธิราชที่ 2 จะตีเมืองพระนครหลวงแตก และพาช่างปูนฝีมือชั้นครูกลับมายังอยุธยา แล้วค่อยมาปั้นปูนประดับลงบนพระปรางค์องค์นี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ยิ่งเมื่อลวดลายปูนปั้นต่างๆ เหล่านี้นับเป็นส่วนประดับขององค์พระปรางค์ อันเป็นงานส่วนเกือบจะท้ายที่สุดในระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างพระปรางค์ ก็ยิ่งชวนให้นึกถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว

ยิ่งเมื่อยังมีร่องรอยอื่นๆ จากพระราชพงศาวดารฉบับปลีก และจารึกขุนศรีไชยราชมงคล ซึ่งพบแถบ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี จะทำให้เราทราบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เจ้าเมืองพิมาย และเจ้าเมืองพนมรุ้ง (อันเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมขอมโบราณอย่างทั้งแนบปั๊ก และแน่นปึ๊ก) ยังเคยเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์อยุธยาพระองค์นี้ และนำมาสู่การหลั่งไหลของชาวเมืองพิมาย และพนมรุ้งเข้ามาสู่อยุธยา

ก็ยิ่งชวนให้ไพล่คิดไปถึงการหลั่งไหลของกระแสอารยธรรม และเทคโนโลยีจากพวกขอม ที่แพร่หลายเข้ามาสู่อยุธยาอย่างท่วมท้นในสมัยของพระองค์ จนทำให้ปูนปั้นที่พระปรางค์วัดราชบูรณะนั้น เป็นของที่อยุธยาอิมพอร์ตเข้ามาจากพวกขอมในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 นี่แหละ

แต่การณ์กลับไม่น่าจะคาดเดาได้ง่ายดายอย่างนั้นนะครับ เพราะเราก็มีตัวอย่างของปูนเกรดพรีเมียมในศาสนสถานยุคต้นอยุธยาที่อื่นๆ อีกด้วย บางแห่งก็มีอายุเก่าแก่กว่าปูนปั้นที่พระปรางค์ วัดราชบูรณะ มีตัวอย่างสำคัญอยู่ที่ พระปรางค์องค์เล็ก จากวัดส้ม เป็นอาทิ

เทคโนโลยีการผลิตปูนชั้นเยี่ยมในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา (หรืออาจจะรวมไปถึงช่วงก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วย) นั้น จึงน่าจะมีที่มา หรืออย่างน้อยก็ได้รับถ่ายทอดมาจากพวกขอมมาแต่เดิม ก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โน่นแล้วต่างหาก

 

มีเอกสารเก่าแก่ของจีนระบุเอาไว้ในทำนองที่ว่า พ.ศ.1893 “เสียน” รวมเข้ากับ “หลอฮู่” แล้วจึงกำเนิดเป็น “อยุธยา” เรือน พ.ศ. ที่ว่าตรงกับปีที่ในพระราชพงศาวดารของไทยระบุเอาไว้ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นอย่างพอดิบพอดี

คำว่า “เสียน” นั้น ปราชญ์และนักวิชาการหลงไปเข้าใจผิดอยู่นานว่าหมายถึง “สุโขทัย” แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า เสียน ในเอกสารจีนนั้นหมายถึง “สุพรรณบุรี” ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับสุโขทัยอย่างแน่นแฟ้นต่างหาก

ส่วนคำว่า “หลอฮู่” นั้นไม่มีปัญหา เพราะหมายถึง “ละโว้” หรือ “ลพบุรี” ที่ซี้ย่ำปึ๊กอยู่กับวัฒนธรรม และหมายรวมถึงราชสำนักขอมที่เมืองพระนครหลวงด้วยแน่

อย่างน้อยที่สุดแล้ว กรุงศรีอยุธยาในสายตาของพวกจีน จึงเกิดจากการรวมตัวกันของสองกลุ่มอำนาจ อย่างสุพรรณบุรี ที่มีบทบาทอยู่แถบลุ่มแม่น้ำท่าจีน และละโว้ ที่มีอิทธิพลอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก จนมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ในวงที่กว้างขวางขึ้น คือตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในปี พ.ศ.1893 เป็นต้นมา

และก็เป็นด้วยเหตุผลนี้เอง เราจึงเห็นได้ถึงทั้งร่องรอย และหลักฐาน ของวัฒนธรรมของพวกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลเขมร (สายละโว้) และกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย (สายสุพรรณบุรี) ปะปนกันให้เพียบในช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภาษา วรรณกรรม ฯลฯ

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หลังจาก พ.ศ.1893 เป็นต้นมาแล้ว เอกสารจีนก็ยังคงเรียก “อยุธยา” ว่า “หลอฮู่” อยู่อีกพักใหญ่ (แต่ไม่ยักจะเรียกว่า “เสียน” เลยสักหน)

ลักษณะอย่างนี้สอดคล้องกับหลักฐานจากพระราชพงศาวดาร ที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยานั้น สายตระกูลจากราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งก็คือสายจากเมืองละโว้ มีอำนาจในอยุธยามากกว่าสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ จากเมืองสุพรรณบุรี ดังจะเห็นได้จากรายพระนามกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ในระยะต้นกรุงนั้น เป็นสายราชวงศ์อู่ทองเสียมาก

ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ที่คำราชาศัพท์ของไทยจำนวนมากเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร ในขณะที่ภาษาไทยบ้านๆ ไม่เคยถูกใช้เป็นคำราชาศัพท์เลย

 

นอกเหนือจากคำราชาศัพท์ ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอำนาจของราชวงศ์ที่เกี่ยวดองกับเขมรแล้ว กำลังคนที่สายราชวงศ์อู่ทองก็คงมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพวกขอม หรือเขมรอยู่ด้วย โดยเฉพาะช่างฝีมือต่างๆ และก็คงจะรวมไปถึงช่างปูน ที่มีเทคโนโลยีการผลิตปูนในระดับพรีเมียมเหล่านี้ด้วย

ถึงแม้ว่าพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จะสร้างขึ้นโดยกษัตริย์สายราชวงศ์สุพรรณภูมิ อย่างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แต่คุณภาพของปูนที่ปรากฏให้เห็นอยู่นั้น ก็เป็นพยานปากเอกที่ทำให้เห็นถึงความสืบเนื่องของเทคโนโลยี และวัฒนธรรมขอมยุคคลาสลิค ที่มีอยู่ในอยุธยา เพราะทั้งชนชั้นสูง และไพร่พลพื้นฐานสำคัญของอยุธยาตอนต้นนั้นก็คือ ชาวเขมรนี่แหละครับ

อันที่จริงแล้วผู้สืบทอดอารยธรรมอันเจริญล้ำในจักรวรรดิเมืองพระนครหลวง ของพวกขอมโบราณตัวจริง เสียงจริง จึงอาจจะไม่ใช่ใครที่ไหน

แต่เป็น “กรุงศรีอยุธยา” นี่เอง