จีนอพยพใหม่ในไทย (20) นานาอาชีวะ (ต่อ) / เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (20)

นานาอาชีวะ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้ประกอบการที่งานศึกษานี้ได้สัมภาษณ์นั้น มีอยู่รายหนึ่งที่แต่งงานกับหญิงไทย กรณีนี้จะทำให้ชาวจีนผู้นี้มีพันธะมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับชาวจีนที่มิได้แต่งงานกับชาวไทย (ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นอาจารย์สอนภาษาจีนที่แต่งงานกับชาวไทย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

ควรกล่าวด้วยว่า พนักงานที่ใช้ภาษาจีนดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นชาวจีนเสมอไป เพราะมีบางกรณีที่ผู้ประกอบการว่าจ้างพนักงานชาวไทยที่ใช้ภาษาจีนได้ดีก็มีเช่นกัน กรณีเช่นนี้เกิดกับกิจการที่ต้องอาศัยการสื่อสารสองภาษาไปมา คือภาษาจีนกับภาษาไทย ซึ่งพนักงานชาวจีนมิอาจทำได้

พนักงานชาวไทยที่มีคุณสมบัติเช่นนี้จึงเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการบางประเภทอย่างมาก

แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ โรงงานขนาดเล็กแห่งหนึ่งมีแรงงานเป็นชาวจีนทั้งหมดแทนที่จะเป็นชาวไทย แต่ทั้งหมดนี้เป็นแรงงานไร้ทักษะ ชาวจีนผู้เป็นเจ้าของให้ข้อมูลว่า เดิมทีโรงงานนี้ตนมีแต่แรงงานไทย แต่ตนพบว่าแรงงานไทยมักเกี่ยงงานและเกียจคร้าน พอเลิกงานก็ล้อมวงดื่มสุรา

ครั้นรุ่งขึ้นก็ทำงานโดยมีอาการเมาค้าง

จนเจ้าของต้องเลิกจ้างแรงงานไทยและหันมาจ้างแรงงานจีนแทน แรงงานจีนเหล่านี้ก็คือผู้อพยพที่มีฐานะไม่สู้ดีและการศึกษาไม่สูง (ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้ว) แต่มีความขยันขันแข็งแบบหนักเอาเบาสู้

ที่ว่ากรณีนี้น่าสนใจก็เพราะว่า ทัศนะที่มองชาวไทยเช่นนี้ไม่เพียงเกิดกับชาวจีนที่เป็นเจ้าของโรงงานนี้เท่านั้น หากยังเกิดขึ้นกับชาวจีนอพยพที่เป็นเจ้าของกิจการประเภทอื่นๆ อีกด้วย แต่หลังจากเวลาผ่านไปนานนับปี ทัศนะเช่นนี้จึงเปลี่ยนไปเป็นเข้าใจชาวไทยหรือแรงงานไทยมากขึ้น ประเด็นนี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

กล่าวโดยรวมแล้วผู้ประกอบการชาวจีนเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ความสำเร็จนี้มาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ ลูกค้า ตลาด หรือกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการเหล่านี้จะเป็นชาวจีนเป็นหลัก

ยิ่งในช่วงปลายทศวรรษ 2010 ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามายังไทยสูงถึงหลักสิบล้านด้วยแล้วความสำเร็จนี้ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น ดังนั้น ปัจจัยชาวจีนจึงมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นอย่างสูง

ทั้งนี้ หมายความว่า หากขาดชาวจีนแล้วผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทันที

เพื่อนเรียน

 

คําว่า เพื่อนเรียน ในที่นี้เป็นคำที่แปลจากศัพท์ที่ใช้กันในหมู่ชาวจีนอพยพใหม่ในคำว่า เผยตู๋มามา คำในพยางค์แรกคือ เผย หมายถึง อยู่เป็นเพื่อน ติดตามเป็นเพื่อน ร่วม ช่วยเหลืออยู่ข้างๆ คำในพยางค์ที่สองคือ ตู๋ หมายถึง อ่าน เรียน ส่วนคำพยางค์ที่สามคือ มามา หมายถึง แม่หรือมารดา

เหตุดังนั้น หากแปลคำว่า เผยตู๋มามา ตรงๆ แล้วจะหมายถึง แม่ที่อยู่เป็นเพื่อนเรียน

คำถามต่อไปคือ อยู่เป็นเพื่อนให้แก่ใคร คำตอบคือ ลูก

เพราะฉะนั้นแล้ว คำว่า เผยตู๋มามา จึงหมายถึง แม่ที่อยู่เป็นเพื่อนลูกที่มาศึกษาต่อยังต่างแดน แต่ความหมายนี้ก็มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า การมายังต่างแดนซึ่งในที่นี้คือไทยนั้น ผู้ที่มาไม่จำเป็นต้องเป็นแม่เสมอไป ผู้เป็นพ่อก็มีให้เห็นเช่นกัน หรือมาทั้งพ่อและแม่ เป็นอยู่แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นแม่

ด้วยเหตุนี้ ในชั้นหลังจึงมีคำอื่นที่ถูกใช้เรียกแทน เผยตู๋มามา เพิ่มเข้าอีกสองคำคือ เผยตู๋ฟู่หมู่ ที่แปลตรงตัวว่า พ่อ-แม่ที่อยู่เป็นเพื่อนเรียน และคำว่า เผยตู๋เจียจั่ง ที่แปลว่า ผู้ปกครองที่อยู่เป็นเพื่อนเรียน

จากทั้งสามคำดังกล่าวงานศึกษานี้จึงเรียก (แปล) เป็นคำไทยว่า เพื่อนเรียน โดยตั้งอยู่บนฐานที่คำคำนี้ใช้เรียกอาชีพหนึ่งของชาวจีนอพยพโดยเฉพาะ และมีนิยามที่ครอบคลุมมากขึ้นว่าหมายถึง ผู้ปกครองที่ติดตามลูกที่มาศึกษาต่อ

 

ในฐานะที่เพื่อนเรียนเป็นอาชีพหนึ่ง ในระยะแรกอาชีพนี้ตกเป็นของผู้เป็นแม่ จนชั้นหลังต่อมาจึงปรากฏผู้เป็นพ่อหรือทั้งพ่อและแม่ก็มาเป็นเพื่อนเรียนด้วย แต่จนถึงปัจจุบันนี้ (ค.ศ.2021) แม้ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นแม่ ในฐานะที่เป็นอาชีพหนึ่งแล้วนับว่ามีผลต่อการศึกษาในที่นี้ไปด้วยว่า เมื่อสัมภาษณ์ชาวจีนอพยพใหม่ว่า มีอาชีพอะไร

คำตอบที่ได้คือ เพื่อนเรียน (เผยตู๋มามา เผยตู๋ฟู่หมู่ หรือเผยตู๋เจียจั่ง คำใดคำหนึ่ง)

คำตอบนี้ทำให้เห็นว่าไม่ต่างกับเวลาที่บุคคลกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในเอกสารตรงช่องอาชีพว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือแม่บ้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่ไม่มีเงินเดือนประจำหรือรายได้ที่มาจากการทำงานโดยตรง แต่สังคมเศรษฐกิจทั่วไปต่างยอมรับว่าเป็นอาชีพหนึ่ง

เมื่อจัดเป็นอาชีพหนึ่งแล้วประเด็นคำถามต่อไปจึงมีว่า อาชีพเพื่อนเรียนทำอะไรบ้าง ในเบื้องต้นพบว่าคล้ายกับอาชีพแม่บ้าน กล่าวคือ นอกจากอยู่เป็นเพื่อนลูกที่มาศึกษาต่อยังต่างแดนแล้วก็ยังต้องดูแลในเรื่องอื่นประกอบไปด้วย เช่น การกินอยู่หลับนอน การทำความสะอาด หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือน เป็นต้น

แต่สิ่งที่ทำให้เพื่อนเรียนแตกต่างจากแม่บ้านก็คือ เพื่อนเรียนจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากมิใช่เพราะผู้เป็นลูกต้องศึกษาต่อยังต่างแดน กล่าวอีกอย่างคือ หากผู้เป็นลูกศึกษาที่จีนแล้ว ผู้ปกครองก็อาจมีอาชีพแม่บ้านหรืออาชีพอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนเรียนทำอยู่ที่จีน

ในแง่นี้จึงทำให้เห็นไปโดยปริยายว่า ลูกที่มาศึกษาต่อยังต่างแดนนี้ย่อมอยู่ในวัยเด็กที่ยังต้องการการดูแลหรือเฝ้าระวัง มิใช่เด็กวัยรุ่นที่โตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นต่อไปว่า ผู้ที่จะเป็นเพื่อนเรียนได้ย่อมมีฐานะดีพอสมควร ด้วยผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก่เพื่อนเรียนคือครอบครัวที่อยู่ที่จีน และในกรณีที่เพื่อนเรียนเป็นพ่อหรือเป็นทั้งพ่อและแม่ก็พบว่ามีอาชีพที่มีเงินเดือนหรือรายได้สูง

โดยสถานศึกษาที่ลูกเรียนอยู่นั้นมักเป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีค่าเล่าเรียนสูงกว่าโรงเรียนที่มิใช่โรงเรียนนานาชาติ

แต่ในเวลาเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นด้วยว่า การที่ผู้ปกครองต้องมาเป็นเพื่อนเรียนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานศึกษาที่ว่ามิใช่โรงเรียนกินนอน อีกทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมก็แตกต่างไปจากจีน เช่น ภูมิอากาศ อาหาร หรือภาษา เป็นต้น

ย่อมทำให้การมาเป็นเพื่อนเรียนเป็นความจำเป็นที่มิอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งจีนเป็นชาติที่มีนโยบายให้มีลูกไม่เกินสองคนด้วยแล้ว ความห่วงใยลูกย่อมมีสูงกว่าปกติจนรู้กันว่า หากครอบครัวใดสูญเสียลูกจากเหตุใดก็ตาม ย่อมเป็นความเจ็บปวดอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ผู้เป็นพ่อหรือแม่มีอายุมากจนมิอาจมีลูกได้ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ เมื่อครั้งที่จีนยังใช้นโยบายลูกคนเดียวอยู่นั้น ได้มีคำเรียกลูกในจีนเชิงเปรียบเปรยว่า จักรพรรดิน้อย (เสี่ยวฮว๋างตี้) เพราะคนที่เป็นลูกมักได้รับการเลี้ยงดูประคบประหงมจากครอบครัวไม่ต่างกับจักรพรรดิตัวน้อยๆ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ค่อยได้เห็นในสังคมที่ไม่มีนโยบายจำกัดจำนวนการมีลูกมากนัก

ยกเว้นครอบครัวที่มีลูกน้อย (ด้วยเหตุผลต่างๆ) อยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะอาชีพเพื่อนเรียนของชาวจีนอพยพในไทยแล้วย่อมมีองค์ประกอบเชิงเหตุผลอยู่ด้วย ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทำให้รู้ว่า บางครอบครัวมีอาชีพเพื่อนเรียนในไทยก็เพราะค่าครองชีพในไทยไม่สูง ค่าเล่าเรียนไม่สูงเท่าบางประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านของไทย

ส่วนคุณภาพการเรียนการสอนที่ไม่ด้อยกว่าเพื่อนบ้าน อีกทั้งไทยยังมีที่ตั้งไม่ไกลจากจีนซึ่งสามารถเดินทางไปกลับภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมีงานประจำอยู่ในไทย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เพื่อนเรียนมิใช่อาชีพที่เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลายประการ เพื่อนเรียนจึงเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเฉพาะซึ่งแตกต่างไปจากอาชีพอื่น และไม่สู้จะพบเห็นในคนชาติอื่น

ที่สำคัญ ก็ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า อาชีพนี้เกิดขึ้นได้ในด้านหนึ่งเป็นเพราะชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้นกว่าอดีตมากต่อมาก

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป