ปิดทองหลังพระ เปิดแนวรบรอบสอง แก้วิกฤติโควิดระลอกใหม่ ช่วยคนตกงาน-เกษตรกร 40,000 ครัวเรือน / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ปิดทองหลังพระ

เปิดแนวรบรอบสอง

แก้วิกฤติโควิดระลอกใหม่

ช่วยคนตกงาน-เกษตรกร 40,000 ครัวเรือน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ผู้คนแทบทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ขณะที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดมสรรพกำลังผุดโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงแห่งความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเดินหน้า “โครงการฝ่าวิกฤตด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้ก้าวไปตามแนวพระราชดำริ” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำโครงการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถช่วยเหลือผู้ตกงาน และทำให้ชาวบ้านในชนบทมีแหล่งน้ำเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำอาชีพเกษตรกรรม

ปิดทองหลังพระ จึงสานต่อโครงการดังกล่าวมาทำระยะที่สองในปี 2564 พร้อมตั้งเป้าจะขยายผลต่อไปอีกในกลางปีนี้ โดยประสานความร่วมมือกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแหล่งน้ำ

อันจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้และเกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในชุมชน

 

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เล่าว่า โครงการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระยะที่ 1 ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยได้ร่วมกับราชการ เอกชน และชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ว่างงานและเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ ในภาคอีสาน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ มีการจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบ 369 คน พัฒนาแหล่งน้ำได้ 107 โครงการ ส่งผลให้มีน้ำกระจายไปได้ 30,900 ไร่ ทำให้เกษตรกรได้รับน้ำเพิ่มขึ้น 5,320 ครัวเรือน

“โครงการนี้ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 64 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรภายหลังมีน้ำใช้ปีละ 217 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ปิดทองหลังพระ จึงทำโครงการโควิดระยะที่สอง โดยขยายการดำเนินงานไปในพื้นที่ปิดทองหลังพระ 9 จังหวัด ประกอบด้วย น่าน อุทัยธานี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

โครงการระยะที่สองนี้ มีการขยายการดำเนินการออกไปกว้างขว้างยิ่งขึ้น คือ ขยายพื้นที่เป้าหมายจากเดิม 3 จังหวัดเพิ่มเป็น 9 จังหวัด มีการจ้างงาน 612 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขยายพื้นที่รับน้ำได้ 174, 430 ไร่ หรือมากกว่าโครงการแรกเกือบ 6 เท่า ทำโครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำรวม 543 โครงการ (จากที่เสนอมากถึง 1,084 โครงการ)

“โครงการระยะ 2 นี้ จะเพิ่มปริมาณน้ำได้ 98.2 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากขึ้นจากโครงการแรก 4 เท่า ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้รวมกันเพิ่มขึ้นปีละ 1,221 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณเฉลี่ยเพียงโครงการละ 400,000 บาทเท่านั้น หรือรวมงบฯ ทั้งหมด 216 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ้างงานและฝึกอบรม 52.6 ล้านบาท ค่าวัสดุปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำ 125.5 ล้านบาท ปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรอีก 20 ล้านบาท” นายการัณย์กล่าว และว่า คาดว่าจะสร้างแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรรวม 39,855 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นกว่าระยะแรกเกือบ 8 เท่า และจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการมีน้ำในการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปีเพิ่มขึ้นปีละ 7,000 บาทต่อไร่

ดังนั้น จึงประเมินได้ว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 1,221 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการยังเน้นเรื่อง 4 ประสาน คือ ราชการ เอกชน ประชาชนและปิดทองหลังพระเช่นเดิม คาดว่าการดำเนินงานระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

ปริมาณน้ำ 98.2 ล้านลูกบาศก์เมตรที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็กในโครงการโควิด 2 นี้ เทียบเท่าได้กับขนาดความจุน้ำของเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ซึ่งการจะสร้างเขื่อนขนาดนี้ขึ้นในปัจจุบัน จะต้องใช้งบประมาณถึง 8,000 ล้านบาท แต่โครงการของปิดทองหลังพระใช้งบประมาณเพียง 216 ล้านบาท น้อยกว่าถึง 37 เท่า

“ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีส่วนบรรเทาทุกข์ในช่วงโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนั้น การพัฒนาจะทำให้เห็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ การเพาะปลูกและการตลาดไปพร้อมๆ กันจะช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง และเกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในชุมชนได้”

“ที่สำคัญคือ ได้ช่วยเหลือผู้ว่างงานจากโควิด-19 เป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น ในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อมูลว่าคนตกงานเพราะโควิดมากถึง 4 หมื่นคน”

นายการัณย์ยังบอกด้วยว่า การทำโครงการโควิด-19 ทั้งสองระยะนี้ นอกจากจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ได้ด้วย ดังนั้น ปิดทองหลังพระจึงอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล และวางโครงการที่จะทำต่อจากโควิดระยะ 2 เสนอต่อคณะกรรมการสถาบันสิ่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ พิจารณาในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

โดยโครงการระยะต่อไป ตั้งเป้าหมายจะขยายไปในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 6 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำมูล คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีและอำนาจเจริญ โดยยึดรูปแบบการทำงานเช่นเดิม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากเกือบสองพันโครงการ โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยการประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จากนั้นจะทำการคัดเลือกโครงการ อบรมทำความเข้าใจผู้ปฏิบัติงาน คาดว่าลงมือซ่อมแซมแหล่งน้ำตามโครงการนี้ได้ในเดือนธันวาคม

“เนื่องจากจะเป็นการทำงานนอกพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ จึงต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่จะร่วมกันทำงาน ตามกระบวนการและคู่มือการปฏิบัติ ให้เข้าใจตรงกัน และมีการลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของแหล่งน้ำที่จะต้องซ่อมแซม การทำประชาคมให้ประชาชนเห็นประโยชน์ ซึ่งถ้าทำตามเป้าหมายนี้ได้ จะมีการปรับปรุงแหล่งน้ำที่ชำรุดเสียหาย ให้สามารถทำการเกษตรได้นับพันโครงการในลุ่มน้ำแม่น้ำมูล”

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากรุนแรงนี้ นอกจากภาครัฐแล้ว ปิดทองหลังพระอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะช่วยเหลือชุมชน ซึ่งถือเป็นการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทไปในตัวด้วย (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม Corporate Social Responsibility)

ทั้งหมดนี้ คงทำให้ได้เห็นกันแล้วว่า การดำเนินงานโครงการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ทั้งระยะที่ 1 ที่เสร็จสิ้นแล้ว ระยะที่ 2 ที่กำลังดำเนินการ และระยะที่ 3 ที่จะดำเนินการในอนาคต จะทำให้พี่น้องเกษตรกรและคนว่างงานในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง

ที่สำคัญสามารถสร้างความยั่งยืนในอาชีพให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี