วิกฤตินิเวศเกิดจากผู้แสดงกลุ่มใด / อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (11)

 

วิกฤตินิเวศเกิดจากผู้แสดงกลุ่มใด

การเคลื่อนไหวหลักเกี่ยวกับวิกฤตินิยมขณะนี้เป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ บางทีพูดครอบคลุมกัน ถือกันว่าปัญหาโลกร้อนนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยส่งก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศปริมาณมาก แม้เห็นพ้องกันเช่นนี้แล้ว ก็ยังมีความเห็นต่างกันว่าผู้แสดงกลุ่มใดสำคัญที่สุด ความแตกต่างนี้ก่อรูปเป็นจิตสำนึก ขบวนการและการเคลื่อนไหวที่แตกต่างหลากหลายกัน กระทั่งเป็นอริกันไปก็มี

ผู้แสดงหรือผู้กระทำที่ก่อวิกฤตินิเวศแบ่งเป็น 4 กลุ่มหรือทฤษฎีด้วยกัน ได้แก่

ก) ทฤษฎีคนดี-คนไม่ดี เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนและปัญหาอื่นใด เกิดจากความดีหรือความไม่ดีของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลชั้นนำ ผู้กำหนดนโยบายระดับสูง

ข) ทฤษฎีระบบทุนนิยมเป็นเหตุ เห็นว่าปัญหาทั้งหลายเกิดจากระบบทุนนิยม ตามทฤษฎีนี้จะปฏิบัติได้ยากกว่า เพราะระบบทุนนิยมมีอำนาจมาก ไม่ได้ปล่อยให้ใครมาเล่นงานได้ง่ายๆ

ค) ทฤษฎีระบบซับซ้อนที่นำมาสู่การล่มสลายได้ ชี้ว่าแม้ก้าวพ้นระบบทุนนิยม หากยังมีการทำให้สังคมซับซ้อนขึ้น ย่อมตกอยู่ในวิกฤตินิเวศอย่างดิ้นไม่หลุด การปฏิบัติแก้ไขยากกว่าล้มล้างระบบทุนขึ้นไปอีก

ง) ทฤษฎีมนุษย์เป็นต้นเหตุ เพราะมนุษย์ต้องการอำนาจและความมั่งคั่งเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบใด ตามทฤษฎีนี้ปัญหาจะแก้ไขยากที่สุด

จะได้กล่าวถึงทฤษฎีทั้งสี่เป็นลำดับไป

 

ก)ทฤษฎีคนดี-คนไม่ดี เป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ปฏิบัติง่าย ใช้กันทั่วไปทุกฝ่าย ในทุกด้านเสนอ ตั้งแต่สมัยโบราณ ทฤษฎีคนดี-คนไม่ดีมีอยู่ 3 ระดับด้วยกัน

ระดับแรก ระดับอุดมคติ มีมาเก่าแก่ ผู้เสนอ เช่น อริสโตเติล ปราชญ์กรีกโบราณ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองต่างกับผึ้งและมด คนดีผู้มีความสุขสามารถสร้างรัฐหรือชุมชนทางการเมืองในอุดมคติ ที่คนดีและพลเมืองดีเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ในจีนมีลัทธิเต๋า-ขงจื่อ เสนอการสร้างสมดุลหรือการสอดประสานระหว่างฟ้า ดิน และบุคคลจะสร้างรัฐในอุดมคติขึ้น

ระดับที่สอง เป็นระดับที่เป็นจริง เพราะว่าอุดมคติมักจะดีเกินกว่าจะเป็นจริง ทั้งอริสโตเติล เหลาจื่อ (เล่าจื้อ) และขงจื่อ ล้วนผิดหวังที่ไม่ได้เห็นสังคมในฝันเกิดเป็นจริง เพราะความเป็นจริงรัฐทั้งหลายมีลักษณะทางชนชั้นที่ชนชั้นผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดวัฒนธรรมและจิตสำนึกว่าอะไรดีไม่ดี ดังนั้น ทฤษฎีคนดีได้กลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองในการลิดรอนสิทธิของพลเมืองเป็นประการต่างๆ เช่น กล่าวว่าสตรีอ่อนแอ คนจนขี้เกียจ พลเมืองไม่มีความรู้ ดังนั้น จึงไม่ควรมีส่วนในการปกครองมากไป ระบอบปกครองไม่ควรเป็นแบบประชาธิปไตย

ระดับที่สาม เป็นระดับปฏิบัติทั่วไปในยุคข่าวสาร ยุคข่าวสารมีลักษณะเด่นได้แก่

ก) มีประชากรมากแน่นโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่

ข) มีการผลิตปริมาณมาก ระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่

และ ค) การสร้าง เก็บรักษา และเผยแพร่ข่าวสาร กระทำได้สะดวกรวดเร็ว สามารถสร้างวัฒนธรรมย่อยได้ง่ายขึ้น ต่างกลุ่มฝ่ายยกตนเป็นคนดี และโจมตีฝ่ายอื่นว่าเป็นคนไม่ดี เกิดการเมืองเชิงอัตลักษณ์ การแบ่งกลุ่มฝ่ายในสังคมอย่างรุนแรงทั่วโลก

เช่น สหรัฐมีขบวนการคนขาวสูงส่ง และขบวนการชีวิตคนดำมีความหมาย

เมื่อประธานาธิบดีบุชทำสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ได้ประกาศแก่ชาวโลกว่า “จะเข้าข้างเรา หรือเข้าข้างผู้ก่อการร้าย”

ในขณะนี้ทฤษฎีคนดีจึงเป็นเครื่องมือการเคลื่อนไหวต่อสู้ของทุกฝ่ายและขยายตัวออกไปทุกที

 

การเคลื่อนไหวที่น่าประทับใจของเกรตา ธันเบิร์ก นักสิ่งแวดล้อมวัยรุ่นของสวีเดน เป็นกรณีที่น่าสนใจ โดยทั่วไปวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ใหญ่ มักถูกมองเห็นว่า งุ่มง่าม ไม่อดทน เอาแต่ใจ หรือชอบเสพสุข ไม่ได้สร้างข่าวสารที่น่าเชื่อถือเพื่อการในอนาคต การเคลื่อนไหวของธันเบิร์กชี้ว่ามันไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป

การเคลื่อนไหวของเธอมีความใหม่บางประการด้วยกัน นั่นคือเป็นการแบ่งฝ่ายระหว่างเยาวชนวัยรุ่น กับผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจ เรียกร้องให้ผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตนให้ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายลงทุกที และถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกันสร้างโลกที่ยั่งยืน โดยเด็กและเยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อ

ธันเบิร์กได้รับเชิญไปกล่าวปราศรัยในที่ประชุมระดับโลกหลายครั้ง ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ และสภาเศรษฐกิจโลก (WEF)

ในการประชุมประจำปี 2020 ของสภาเศรษฐกิจโลก เธอปราศรัยว่า “โลกเรากำลังลุกเป็นไฟ และพวกท่านกำลังเติมเชื้อเพลิงอยู่”

ในการประชุมประจำปี 2021 เดือนมกราคม ที่เป็นแบบเสมือนจริง ธันเบิร์กได้ปราศรัย และเป็นข่าวทั่วไปว่า “ฉันมาที่นี่เพื่อเตือนความทรงจำในสัญญาที่ท่านได้ให้แก่ลูกและหลานของท่าน และบอกแก่ท่านว่าเราจะไม่ยอมรับความปลอดภัยระดับต่ำสุดที่เป็นอยู่ (คือข้อตกลงปารีส)…”

“ทุกวันนี้เราได้ยินผู้นำและประเทศต่างๆ กล่าวถึง ‘ภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศที่มีอันตรายถึงชีวิต’ แต่แทนที่จะมีการปฏิบัติเร่งด่วนอย่างที่ควรกระทำในภาวะฉุกเฉิน พวกท่านได้กำหนดเป้าหมายที่เลื่อนลอย ไม่พอเพียงและเป็นเชิงสมมุติฐานสำหรับอนาคต อย่างเช่น ‘การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050′”

“เป็นเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนฐานของช่องโหว่และจำนวนที่ไม่สมบูรณ์ เป็นเป้าหมายที่บ่งบอกการยอมจำนน คล้ายกับว่าเดินอยู่ในตอนกลางคืน ได้เห็นบ้านของคุณกำลังถูกเพลิงผลาญ แล้วตกลงที่จะรอไป 10, 20 หรือ 30 ปี ก่อนที่จะเรียกรถดับเพลิงมาดับ พร้อมกับเรียกผู้ที่พยายามเตือนคนอื่นว่าเป็นพวกตื่นตูม”

“เราเข้าใจดีว่าโลกนี้ซับซ้อนและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน แต่พวกท่านได้พูดแบบบลา บลา บลามา 3 ทศวรรษแล้ว”

“คุณต้องการเวลามากกว่านี้อีกแค่ไหน เพราะว่าเมื่อเป็นเรื่องการเผชิญภาวะฉุกเฉินทางนิเวศและภูมิอากาศแล้ว โลกนี้ยังคงอยู่ในขั้นการปฏิเสธอย่างแท้จริง ความยุติธรรมสำหรับผู้คนที่ถูกผลกระทบมากที่สุดในดินแดนที่ถูกกระทบมากที่สุดถูกมองข้าม… เวลาที่จะกล่าวว่า “เรากำลังก้าวเล็กๆ ไปบนทิศทางที่ถูกต้อง” ได้สิ้นสุดไปนานแล้ว…”

“เราสามารถจัดการประชุมสุดยอดและการประชุมทั่วไปอีกกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติต่อวิกฤตินิเวศ และวิกฤติภูมิอากาศอย่างที่มันเป็นวิกฤติแล้ว ย่อมไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้”

“สิ่งที่เราจะต้องการทำเป็นประการต้นๆ ก็คือการกำหนดงบประมาณคาร์บอนรายปีแบบมีข้อผูกพันบนฐานของวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่…ฉันขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้มาที่นี่เพื่อบอกให้ท่านทั้งหลายต้องทำอะไร เพราะว่าการรักษาอนาคตของสิ่งแวดล้อมเงื่อนไขของชีวิต และการอนุรักษ์ชีวิตในโลกนี้อย่างที่รู้จักกัน เป็นเรื่องใจสมัคร”

(ดูคำปราศรัยของเธอในเว็บ wef.org)

 

คําปราศรัยของธันเบิร์กมีทั้งความหวังและความสิ้นหวัง

เพราะในทางเป็นจริง ผู้นำทั้งหลายมีหน้าที่ในการรักษาระบบหรือสถานะเดิมไว้ ซึ่งหมายถึงว่าต้องรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป การเคลื่อนไหวเพื่อปลี่ยนผู้นำ หรือกดดันผู้นำให้เปลี่ยนนโยบายจึงยากมาก เพราะมันหมายถึงการกระจายอำนาจให้แก่ประชาชนและท้องถิ่นอย่างจริงจัง

อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวย เช่น เกิดมีผู้นำใหม่ที่มีสัญญาน่าเชื่อถือ แต่แล้วก็กลับไปปฏิบัติไม่ต่างกับเดิม

นี่ยังโชคดีที่ว่าธันเบิร์กใช้ทฤษฎีคนดี-คนไม่ดี หากใช้ทฤษฎีปัญหาเกิดจากระบบทุนนิยม ย่อมไม่ได้รับโอกาสมากเท่านี้ และคงจะถูกโจมตีอย่างเสียหายมากมาย ยิ่งกว่าเพียงกล่าวว่าเป็นพวกตื่นตูม

คำปราศรัยของธันเบิร์กยังได้เปิดเผยให้เห็นถึงว่า ยังมีการปฏิเสธเรื่องวิกฤตินิเวศและภูมิอากาศดำรงอยู่ ดังนั้น จึงต้องมีการเคลื่อนไหวเรื่องความสำนึกอยู่อีก

 

ผู้ปฏิเสธวิกฤตินิเวศและภูมิอากาศมีจำนวนไม่น้อย จะกล่าวถึงในสหรัฐเป็นตัวอย่าง เนื่องจากมีอิทธิพลสูงบนเวทีโลก มีทั้งนักการเมืองไปจนถึงนักวิชาการ ซึ่งทำงานกับบางสถาบันที่มีความสัมพันธ์กับบรรษัทน้ำมัน หรือนักอุตสาหกรรมฝ่ายขวา เช่น พี่น้องตระกูลคอช ทำงานในสำนักคิดแนวขวา มักอยู่ในพรรครีพับลิกัน และเผยแพร่ผลงานในสื่อปีกขวาอย่างเช่นฟอกซ์นิวส์

ที่เป็นนักการเมืองและมีอิทธิพลสูงได้แก่ วุฒิสมาชิกเจมส์ อินฮอฟ แห่งพรรครีพับลิกัน เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการวุฒิสภาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและกิจการสาธารณะ

มีบางรายงานว่าเขาได้รับเงินสนับสนุนทางการเมืองจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลกว่า 2 ล้านดอลลาร์

เขาเปรียบเทียบสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นเหมือนตำรวจเกสตาโปในระบอบนาซี อินฮอฟเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “การแหกตาครั้งใหญ่ที่สุด” (เผยแพร่ปี 2012)

เขาได้อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาว่า “การกล่าวว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นการแหกตาครั้งใหญ่ที่สุดที่กระทำต่อชาวอเมริกัน” (ดูบทความของ Brendan Demelle ชื่อ Top 10 Climate Deniers ใน beforetheflood.com เป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนภาพยนตร์สารคคีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ชื่อเดียวกัน เสนอโดยสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟิก เผยแพร่ปี 2018)

ทรัมป์ได้รับเอาแนวคิดของอินฮอฟมาเผยแพร่ต่อ และได้กลายเป็นนโยบายตลอดสมัยของรัฐบาลเขา ที่มีชาวอเมริกันเลื่อมใสสนับสนุนจำนวนไม่น้อย

 

ส่วนผู้แสดงด้านการสร้างความตระหนักและเห็นภัยจากวิกฤตินิเวศและภาวะโลกร้อนมีจำนวนมากกว่ากันมาก ผู้แสดงเด่นคือองค์การสหประชาชาติ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เนื่องจากสหประชาชาติเป็นองค์การกลาง ต้องใช้การยอมรับจากสมาชิกที่มาจากหลากระบบและระดับการพัฒนา ไม่อยู่ในฐานะที่จะโจมตีระบบใดได้ มักต้องพูดแบบ “บลา บลา บลา”

ในปี 2020 ยูเอ็นดีพีได้ดำเนินการสำรวจครั้งใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นการสำรวจด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่สุด ใช้กลุ่มตัวอย่างถึง 1.2 ล้านราย ใน 50 ประเทศ ซึ่งสะท้อนความเห็นประชากรกว่าครึ่งโลก ภายใต้ชื่อว่า “มติภูมิอากาศชาวโลก” เพื่อใช้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงกลาสโกว์ ปลายปี 2021 ในการเร่งรัดความคืบหน้าของข้อตกลงปารีส และใช้เป็นแนวทางนโยบายการเคลื่อนไหวด้านนี้ของสหประชาชาติโดยทั่วไป

การสำรวจมีอยู่ 2 ประเด็น

ประเด็นแรกถามว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศถึงขั้นเป็นภาวะฉุกเฉินของโลกหรือไม่ ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าถึงขั้นฉุกเฉินแล้ว ประเด็นที่สองถามว่า จะสนับสนุนนโยบาย 18 ประการของสหประชาชาติในการแก้ไขวิกฤตินี้หรือไม่ (นโยบาย 18 ประการ มีกลุ่มปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ พลังงาน การขนส่ง อาหารและการเกษตร ธรรมชาติ และการปกป้องประชาชน) ก็ได้รับการตอบสนองเห็นด้วยอย่างดี

นโยบายที่ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างสูง ได้แก่ การอนุรักษ์ป่าและที่ดิน (ได้รับการสนับสนุนร้อยละ 54) การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลม (ร้อยละ 53) การทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ (ร้อยละ 52) ลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจและการงานสีเขียว (ร้อยละ 50) แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการนโยบายที่ครอบคลุมกว่าที่รัฐบาลกำลังปฏิบัติอยู่ ตั้งแต่การทำการเกษตรอย่างเป็นมิตรกับภูมิอากาศ จนถึงการปกป้องธรรมชาติ และการลงทุนในการฟื้นฟูสีเขียวจากโควิด-19

จุดเด่นในการสำรวจนี้ ได้แก่ การเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเข้าถึงได้ยาก มีจำนวนกว่า 5 แสนราย พบว่าเยาวชนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกล่าวว่าสภาพการปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีลักษณะฉุกเฉินมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก (ดูรายงานข่าวชื่อ World’s largest survey of public opinion on climate change : a majority of people call for wide-ranging action ใน undp.org 27/01/2021)

จากที่กล่าวมา ได้ชี้ถึงสถานการณ์ซับซ้อนและแก้ไขยากของภาวะโลกร้อน ด้านหนึ่ง ฝ่ายประชาชนพลเมืองเห็นพ้องว่าสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าขั้นภาวะฉุกเฉิน และต้องการมาตรการแก้ไขที่กว้างขวาง อีกด้านหนึ่ง ผู้นำในประเทศต่างๆ บ้างยอมรับแบบ “บลา บลา” บ้างปฏิเสธอย่างซึ่งหน้า แผนปฏิบัติการที่ร่างมาอย่างละเอียด มักไม่ได้ถูกปฏิบัติเต็มที่ ดังนั้น การใช้ทฤษฎีคนดี-คนไม่ดี ในเรื่องนี้มีความจำกัดมาก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงวิกฤตินิเวศและภูมิอากาศกับระบบทุนนิยมและสั