ปัญหาวัยรุ่น จากชู้สาวที่ยะหา สู่การไล่ฟันกลางเมืองยะลา ท่ามกลางไฟใต้ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ปัญหาวัยรุ่น

จากชู้สาวที่ยะหา

สู่การไล่ฟันกลางเมืองยะลา

ท่ามกลางไฟใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากข่าวดังเดือนมกราคมปีนี้ ปัญหาวัยรุ่นของจังหวัดยะลา สองเรื่องคือ เรื่องชู้สาวที่ยะหา (ต้นเดือน) จนมีมาตรการดังพาดหัวข่าว “จับแต่งงาน”

กับสอง วัยรุ่นยกพวกไล่ฟันผู้บริสุทธิ์ (ปลายเดือน) “กลางเมืองยะลา”

กำลังเป็นปัญหาซ้ำเติมปัญหาไฟใต้ตลอด 17 ปี และโควิดที่ทุกภาคส่วนกำลังร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหา

สำหรับการแก้ปัญหาต่อเรื่องทั้งสองประการน่าจะมีประเด็นลึกกว่าสิ่งที่เราเห็นปรากฏการณ์ผ่านสื่อ โดยเฉพาะเรื่องการยกพวกไล่ฟันผู้บริสุทธิ์

#ชู้สาวที่ยะหา

 

ต้นปี 2564 กรณีสถานีตำรวจภูธรยะหา จ.ยะลา ออกประกาศมาตรการทางสังคม นำร่องจับ “แต่งงาน” หากพบเห็น “ชาย/หญิง” ที่มิใช่สามี-ภรรยา มีพฤติกรรมในลักษณะเชิงชู้สาว ในที่สาธารณะหรือที่ลับตาคน หากพบเห็นหรือจับได้ สถานีตำรวจภูธรยะหาและคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือฮูกมปากัต 4 ฝ่าย (ไม่ใช่จับแต่งเลยตามพาดหัวข่าว) ดังนี้

นำส่งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เรียกผู้ปกครองเพื่อทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาให้ถูกต้อง

ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในข้อหา “กระทำอนาจาร” หรือ “กระทำชำเรา” และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ผลของประกาศครั้งนี้ ในเชิงปฏิบัติเพียงวันเดียววัยรุ่นคนหนุ่ม-สาวที่จับคู่ พูดคุย ส่อเชิงชู้สาวหายเกลี้ยง ไม่กล้าออกมาเหมือนที่ผ่านๆ มา ยังผลให้กระแสตอบรับในสังคมมุสลิมสูง เพราะเป็นที่ทราบดีว่า “ปัญหาเชิงชู้สาวสังคมมุสลิมโดยทั่วไปรับไม่ได้ ต่างกับสังคมโลกเสรีมานานแล้ว แต่ไม่ถูกแก้ไขเชิงประจักษ์”

แต่ก็ได้รับการวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและข้อห่วงใยพี่น้องร่วมชาตินอกพื้นที่

ดร.อับดุลฮาฟิซ ฮิเล ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทัศนะว่า “อีหม่ามอัลฆอซาลี กล่าวว่า หลักศาสนา คือ แนวปฏิบัติ อำนาจของผู้นำ คือ การปกป้อง รักษาหลักการศาสนา ถ้าอำนาจผู้นำไม่นำหลักการศาสนามาปฏิบัติ ก็จะหลงทาง ถ้าหลักการศาสนาไม่ได้รับการปกป้อง การนำปฏิบัติจากอำนาจผู้นำก็จะไร้ประโยชน์ ขอชื่นชมผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหา ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม (อินซาอัลลอฮฺ) สังคมต้องการผู้นำอย่างท่าน เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ อามีน”

นายอับดุลการีม อัสมะแอ อาจารย์กฎหมายมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และเลขาธิการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้ทัศนะว่า “เราให้กำลังใจตำรวจยะหา ที่เขาตั้งใจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้มาตรการเพื่อปรามวัยรุ่น และสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนกระบวนการขั้นตอนที่ตำรวจและผู้นำศาสนาจะเอาโทษเอาผิด ต่อเยาวชนก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง อย่าได้ฝ่าฝืนและปฏิบัติการภายใต้อำนาจตามกฎหมาย ส่วนการดำเนินการเพื่อสร้างความสมดุลในการแก้ปัญหาการจับแต่งของวัยรุ่นที่ไม่พร้อมและจะสร้างปัญหาสังคมต่อไปนั้น ก็เป็นโจทย์ให้เราต้องมาแก้ร่วมกัน ทั้งผู้นำศาสนา สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ”

 

อย่างไรก็แล้วแต่ ในเมื่อประเทศไทยมีต่างศาสนิก มีกฎหมายที่ระบุชัดเจน เมื่อข่าวนี้ถูกแพร่จะถูกวิจารณ์ในทางลบก็มีเยอะในโลกโซเชียล

หรือนักสิทธิมนุษยชนบางท่าน “ควรมีการตรวจสอบคำสั่งหรือนโยบายของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรยะหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และชอบด้วยคำสั่งทางปกครองหรือไม่”

ผู้เขียนได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.สายูตี กาเต๊ะ ผู้กำกับ สภ.ยะหา ต่อเรื่องนี้

โดยท่านให้ทัศนะว่า “เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรการทางสังคม ยุติธรรมทางเลือก หรือฮูกมปากัต 4 ฝ่าย เราเอาเฉพาะที่กฎหมายเข้าไม่ถึง ภาพที่เห็นหลังปฏิบัติการ วัยรุ่นหนุ่ม-สาว มุสลีมีน มุสลีมะห์ หายหมด กับมาตรการทางสังคมของ สภ.ยะหา และชมรมอีหม่ามประจำอำเภอยะหา อยู่บ้านกันปลอดภัยที่สุด…นี่คือหลักศาสนา ที่เข้าถึงดีกว่าปล่อยเลยตามเลย และจะนำสู่ผลของการปฏิบัติที่ประกาศก็ต้องสอบถามความสมัครใจในการดำเนินการ หากผู้ใดยืนยันจะขอปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็ไม่สามารถบังคับ”

สำหรับผู้เขียนขอให้ทุกภาคมีส่วนประเมินผลการปฏิบัติงานและในทางวิชาการ

เสนอให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ลงพื้นที่ทำการวิจัยในนวัตกรรมกฎหมายทางเลือกนี้

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืนทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันหาทางออก แม้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีในจุดเริ่มต้น แต่ก็สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปและยั่งยืน เช่น ข้อเสนอของคุณมุมตัซ อัญชนา หีมมีนะ จากกลุ่มด้วยใจ ว่า การแก้ปัญหาระยะยาวนั้นวัยรุ่นเป็นวัยของการเรียนรู้ ทดลอง และต่อต้าน การบังคับ การออกกฎเขาจะหนี ต่อต้าน ปฏิเสธ และการแก้ปัญหาจากมุมมองแบบผู้ใหญ่อาจจะผลักเขาให้ไปสู่จุดที่เรากลัวและต้องการแก้ปัญหา เราตามไม่ทัน แต่ถ้าเราได้ดำเนินการใน 2 มุม ก็น่าสนใจเกิดเป็นความร่วมมือและเป็นความรับผิดชอบของทุกคนไม่ใช่การผลักภาระเป็นของใคร ดังนี้

1. การแก้ปัญหาแบบเด็กมีส่วนร่วม เชิญชวนเด็กมาคุย มาออกแบบว่าผู้ใหญ่กังวลปัญหานี้ เด็กและวัยรุ่นมองปัญหานี้และจะป้องกันปัญหานี้อย่างไร เรื่องนี้ชวนประชาสังคม (ที่ทำเรื่องวัยรุ่น) ทำกระบวนการ

2. การให้ความรู้กับเด็กและวัยรุ่นเรื่องเพศศึกษา (บูรณาการกับหลักศาสนา) เรื่องมุมมองอนาคตของการใช้ชีวิตเพื่อให้เขาเข้าใจชีวิตในโลกของความเป็นจริง เพื่อให้เขาเลือกด้วยตนเองและยอมรับการเลือกนั้น

3. กลับไปที่ผู้ปกครอง พ่อ-แม่ เด็กอยู่กับพ่อ-แม่หรือปู่-ย่า ตา-ยาย การดูแลมีความพร้อมไหม พ่อ-แม่ผู้ปกครองมีทัศนคติต่อการเลี้ยงดูวัยรุ่นอย่างไร การพูดกับเด็กอย่างไร พ่อ-แม่มีลูกเยอะไหม พ่อ-แม่อยู่ด้วยกันไหม กลับไปที่การสร้างความรู้ทักษะการเลี้ยงดูเด็กวัยรุ่นทั้งทางโลกและศาสนา เรื่องนี้ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา น่าจะมีบทบาทได้

4. ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อเรื่องนี้คือโทรศัพท์ มอเตอร์ไซค์ อินเตอร์เน็ต ซึ่งพ่อ-แม่ ชุมชน ต้องเรียนรู้การควบคุมและดูการใช้โทรศัพท์ของเด็กอย่างเหมาะสม รู้เท่าทันโลกออนไลน์

#ไล่ฟัน “กลางเมืองยะลา”

 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 เวลา ประมาณ 22.20 น. ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผกก.สภ.เมืองยะลา ให้ พ.ต.ท.ธัญ ศิริขันธ์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองยะลา พร้อมด้วย มว.ตชด. 4102 ด่านจุดตรวจขุนไวย์ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเครือข่ายภาคประชาชน ออกตรวจสอบกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบมั่วสุม และจับกลุ่ม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ตามสถานที่จุดเสี่ยง ภายในเขตเทศบาลนครยะลา ตามแผนพิทักษ์ยะลา 64 ตามวันเวลาเกิดเหตุ ได้รับแจ้งจากเครือข่ายภาคประชาชน ว่ามีการรวมกลุ่มของกลุ่มวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก บริเวณถนนเลียบแม่น้ำ ฝั่งจารู ตลาดเก่า

พ.ต.ท.ธัญ ศิริขันธ์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองยะลา จึงสั่งการให้ มว.ตชด. 4102 ด่านตรวจขุนไวย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเครือข่ายภาคประชาชนในละแวกใกล้เคียง ได้เข้าไปทำการตรวจสอบ

เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวไปถึง กลุ่มวัยรุ่นได้แยกย้ายหลบหนีในทันที

เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวได้ทำการตรวจสอบบริเวณพื้นที่จุดรวมตัว พบสิ่งเทียมคล้ายอาวุธปืน จำนวน 1 กระบอก จึงได้แจ้งให้ พ.ต.ท.ธัญทราบ ซึ่งในขณะนั้น ได้เดินทางมาพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งพอดี จึงได้ทำการไล่ติดตามกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวไปอย่างกระชั้นชิด

เมื่อไปถึงบริเวณสวนมิ่งเมือง 2 ถนนเลียบบึงแบเมาะ ได้พบกับกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวนั่งรวมกลุ่มกัน นับได้ 27 คน พ.ต.ท.ธัญจึงได้สนธิกำลังเพื่อเข้าทำการตรวจสอบกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว

ผลการตรวจสอบ พบอาวุธมีดสปาต้า จำนวน 2 เล่ม ซุกซ่อนบริเวณม้านั่ง ซึ่งเป็นจุดที่กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวนั่งรวมกลุ่มกันอยู่

จากนั้นจึงได้ทำการเชิญกลุ่มวัยรุ่นทั้งหมดมาทำการตรวจสอบประวัติ และดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมเยาวชนได้อีกใน 2 จุดด้วยกันคือ จุดที่ 1 บริเวณถนนเลียบแม่น้ำ ฝั่งจารู ตลาดเก่า ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา สิ่งเทียมอาวุธปืน จำนวน 1 กระบอก

จุดที่ 2 บริเวณสวนมิ่งเมือง 2 ถนนเลียบบึงแบเมาะ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา อาวุธมีดสปาต้า จำนวน 2 เล่ม

เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเยาวชนทั้งหมดมายังสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา เพื่อทำการดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมตรวจยึดรถจักรยานยนต์ไว้ทั้งหมด 8 คัน ได้ประสานบิดา-มารดา ผู้ปกครอง เพื่อมาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

หากดูผลการศึกษาของกรมสุขภาพจิต มองเรื่องนี้ว่ามาจากสาเหตุหลายปัจจัย ดั่งที่นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “จากสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ มีออกมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง การพกพาอาวุธ การทำลายทรัพย์สิน การรวมกลุ่ม ยกพวกตีกัน การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ฯลฯ นำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กและเยาวชนนั้น มักเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งด้านสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยด้านบวกหรือปัจจัยป้องกัน และผลกระทบของแต่ละปัจจัย ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น ระยะเวลา และความรุนแรงด้วย” (โปรดดู https://www.thaihealth.or.th/Content/48962-4เทคนิคแก้ไขปัญหาลูกวัยรุ่นสลายพฤติกรรมรุนแรง.html)

ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว โรงเรียน สถาบันศาสนา (พุทธ-มุสลิม) ชุมชน ประชาสังคม และสื่อบูรณาการกับภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยความมั่นคงในส่วนกระบวนการยุติธรรมที่สามารถตรวจสอบได้ เป็นธรรม โปร่งใส อันเป็นที่พึ่งในเชิงประจักษ์

ในขณะที่รักชาติ สุวรรณ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา เช่น

1. ควรเปิดพื้นที่ในการแสดงออกของกลุ่มเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กแว้น หรือใดๆ สุดแล้วแต่ ควรเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกได้

2. สารวัตรนักเรียน ควรมีการนำมาใช้ แต่ไม่ควรใช้ครู อาจารย์ มาเป็นสารวัตรนักเรียน จากการที่ได้มีโอกาสศึกษาดูงาน เขาใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสารวัตรนักเรียน เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับเด็กและเยาวชน #ย้ำนะครับ แก้ไขปัญหาให้กับเด็กและเยาวชน เพราะฉะนั้น การใช้กำลัง ใช้อาวุธกับเด็กและเยาวชนจึงไม่ควรเกิดขึ้น

3. ในยะลาเองมีองค์กรภาคประชาสังคม หรือ NGOs เยอะ ควรประสานมือกันแก้ปัญหาโดยมีภาครัฐเข้าร่วมด้วย

4. การทำงานด้านเด็กและเยาวชน การประณาม การด่า การอคติ ไม่ควรเกิดแก่นักกิจกรรมที่ทำงานทางด้านปกป้องสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน

ต่างประเทศเราจะใช้โทรศัพท์เพื่อถ่ายภาพเด็กและเยาวชนไม่ได้เป็นอันขาด หากไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นมารยาททางสังคมของประเทศนั้นๆ