โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญปวเรศ-วัดบวรนิเวศฯ ที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก สมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญปวเรศ-วัดบวรนิเวศฯ

ที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก

สมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์

“เหรียญปวเรศ” เป็นเหรียญเก่าแก่ของวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นหนึ่งในชุด “เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก” ที่หายากยิ่งเหรียญหนึ่งในปัจจุบัน

หนังสือ “เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2525” ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี กล่าวถึงประวัติความเป็นมาโดยสรุปไว้ว่า

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีมหาสมณุตตมาภิเศก เลื่อนพระอิสริยยศของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2434 พระชนมายุ 82 พรรษา

จัดสร้างขึ้น 2 แบบ คือ แบบ 1 เรียกว่าเหรียญปวเรศ และแบบ 2 เรียกว่าเหรียญมือ

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบ 1 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เหรียญปวเรศ” หรือ “เหรียญบาตรน้ำมนต์” นับเป็นวัตถุมงคลที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเคียงคู่กับพระกริ่งปวเรศ เพียงแต่เหรียญปวเรศมีการจัดสร้างจำนวนมากกว่า จึงทำให้สนนราคาค่านิยมลดหลั่นกันไป

 

หนังสือ “เหรียญที่ระลึก กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-2525” หน้า 73 กล่าวถึงเหรียญนี้ไว้ว่า…

เหรียญที่ระลึกมหาสมณุตตมาภิเศก แบบ 1 ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ขอบเรียบ ด้านหน้า เป็นรูปอัฐบริขาร พัดยศ และเบญจปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 5 ชั้น) มีอักษรเป็นภาษามคธว่า “อยํโข สุขิโตโหติ นิทฺทุกฺโข นิรุปทฺทโว อนันตราโย ติฏฺเฐยฺย สพฺพโสตฺถี ภวนฺตุเต” แปลว่า ผู้นี้แลมีความสุข ไร้ความทุกข์ ไร้อุปัทวะ ไม่มีอันตราย พึงดำรงอยู่ ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน

ด้านหลังมีข้อความว่า “ที่รฤก งานมหาสมณุตตมาภิเศก พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐” (ด้านบนคำว่า “ศก” มีเลขไทย “๒๔”) ชนิดทองแดง ขนาดส่วนกว้าง 44 มิลลิเมตร ส่วนยาว 55 มิลลิเมตร สร้าง พ.ศ.2434…

เหรียญปวเรศมีการจัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงที่มีขนาดค่อนข้างเขื่อง และจากรูปลักษณะของเหรียญ แสดงให้เป็นถึงความประณีตบรรจงสร้างสรรค์ของช่างฝีมือผู้ทำแบบแม่พิมพ์ที่สามารถบรรจุเครื่องอัฐบริขาร พัดยศ และเบญจปฎลเศวตฉัตรทั้งหมดไว้ในเหรียญได้อย่างเหมาะเจาะ สวยงามสง่า

จึงเป็นวัตถุมงคลที่ควรค่าแก่การเสาะหาเก็บไว้บูชายิ่ง

เหรียญปวเรศ

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2352

เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา

ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดมหาธาตุ จนแตกฉานด้านภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านนี้คือพระนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทัตถิวิธาน” เป็นภาษาบาลี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะเสมอพระราชาคณะสามัญ

ในปี พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายธรรมยุติกนิกายพระองค์แรก

 

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกตลอดรัชกาล รวมเป็นระยะเวลา 15 ปี

ในระหว่างนั้น พระองค์ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก คือ สมเด็จพระสังฆราช

เมื่อปี พ.ศ.2416 พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในปีเดียวกัน ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์

ในปี พ.ศ.2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเจริญพระชนมายุ ไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในพระบรมราชตระกูลอันนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ยังดำรงอยู่ก็ดี ที่จะมีพระชนมายุเทียมถึง รวมทั้งยังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และฝ่ายบรรพชิต

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตามาภิเษก เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (สมเด็จกรมพระยาในปัจจุบัน)

หลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือที่เรียกอย่างย่อว่า “สมเด็จพระสังฆราช”

พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย

ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์”

ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2435