ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | วัคซีนโควิด : วิกฤตประเทศที่ต้องฝ่าข้ามเพื่ออนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าขณะที่โควิด-19 เป็นภัยคุกคามโลกมากว่าหนึ่งปี วัคซีนบรรเทาปัญหานี้กลับเป็นชนวนใหม่ของความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยไปในที่สุด

เพราะไม่เพียง “โซเชียล” จะซุบซิบนินทาเรื่องนี้ต่อเนื่อง

รัฐบาลและคนไม่ชอบรัฐบาลก็ทะเลาะกันไฟแลบด้วยเรื่องนี้เหมือนกัน

สถาบันวัคซีนพูดถูกว่าการแก้ปัญหาโควิดระลอกนี้เจอปัญหาการเมืองกดดันหนักกว่าทุกกรณี

แต่ที่จริงการแก้ปัญหาระดับชาติทุกเรื่องล้วนเจอการเมืองแบบนี้ทั้งสิ้น

เพราะอะไรที่เป็นเรื่องระดับชาติย่อมเป็นเรื่องสาธารณะ และอะไรที่เป็นเรื่องสาธารณะย่อมเป็นปกติที่คนจะคิดเห็นแตกต่างกัน

รัฐบาลและข้าราชการที่ใกล้ชิดรัฐบาลพยายามสร้างกระแสว่า “การเมือง” เรื่องวัคซีนมาจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่เมื่อคำนึงถึงไทม์ไลน์ของข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจริงๆ “โซเชียล” ซุบซิบนินทาและตั้งคำถามเรื่องนี้จนเกิดคำว่า “วัคซีนพระราชทาน” มาก่อนแล้ว

ธนาธรเป็นแค่คนหยิบเรื่องนี้ไปพูดตรงๆ เท่านั้นเอง

ไม่มีประโยชน์ที่จะขุดคุ้ยต่อไปว่าจริงๆ แล้วรัฐและ IO ของหน่วยงานรัฐปั่นเรื่องวัคซีนโอเวอร์จน “โซเชียล” เกิดปฏิกิริยาต่อต้านเป็นประเด็น “วัคซีนพระราชทาน”

แต่บทเรียนที่รัฐและ IO รัฐควรได้คือเรื่องแบบนี้ไม่ควรปั่นจนเกิดกระแสโต้กลับที่ลุกลามเป็นเรื่องอ่อนไหวไปอย่างที่ไม่ควรเป็น

โควิด-19 คือโรคระบาดที่คุกคามชีวิตประชาชนมานานกว่าหนึ่งปีทั้งในแง่ชีวิตจริงๆ และชีวิตทางเศรษฐกิจ ธนาธรจึงพูดถูกเหมือนที่รัฐบาลและทุกคนเข้าใจตรงกันว่า “วัคซีน” คือแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะพาประชาชนออกจากหุบเหวแห่งวิกฤตที่สร้างความทุกข์ทนให้คนทั้งประเทศมานาน

การทำให้ข้อถกเถียงเรื่องวัคซีนกลายเป็นการตอบโต้ทางการเมืองในเรื่องอ่อนไหวสร้างผลเสียหายต่อสังคมโดยไม่ควรเป็น คำพูดธนาธรที่ต่อยอดประเด็นโซเชียลเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน” มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

แต่คนไม่เห็นด้วยล้วนเห็นว่าไม่ควรใช้เรื่องนี้ดำเนินคดี 112 ธนาธร

ถึงที่สุดแล้ว คนไทยกังวลปัญหาวัคซีนในเรื่องซึ่งคล้ายกับความกังวลของคนในประเทศอื่นๆ

เรื่องแรก คือประสิทธิภาพของวัคซีน

เรื่องที่สอง คือการจัดสรรวัคซีน

เรื่องที่สาม คือราคาวัคซีน

และทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามได้เหมือนตั้งคำถามนโยบายสาธารณะทั่วไป

ปัญหาประสิทธิภาพวัคซีนเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนที่สุดซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไร ตราบใดที่ยังไม่มีการฉีดจริงเกิดขึ้น

แต่ปัญหาเรื่องการจัดสรรวัคซีนและราคาวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนพิสูจน์ด้วยตัวเองได้ไม่ยาก

และเฉพาะในสองส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้มีปัญหานี้จริงๆ

ธนาธรชี้ประเด็นเรื่องคนไทยได้วัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นเกินไป และทันทีที่คนพูดเรื่องนี้คือธนาธร IO รัฐบาลก็แห่กันตอบโต้ว่ามีประเทศที่ได้วัคซีนโควิด-19 ช้ากว่าประเทศไทยเยอะ ทั้งที่หากฟังเรื่องนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้พูดคือธนาธร ประเทศไทยก็ถือว่าได้วัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นจริง

เฉพาะในประเทศอาเซียนด้วยกันตอนนี้ สิงคโปร์และอินโดนีเซียฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนไปแล้ว เมียนมาจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ มาเลเซียจะเริ่มฉีดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ขณะที่รัฐบาลไทยเพิ่งจะมีความชัดเจนในปลายเดือนมกราคมเรื่องเริ่มฉีดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

การฉีดวัคซีนให้ประชากรหลายสิบล้านเป็นกระบวนการใหญ่ที่ต้องใช้เวลา ยิ่งประเทศฉีดเร็วก็ยิ่งมีโอกาสออกจากหายนะทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศอื่นๆ

คำถามธนาธรเรื่องทำไมไทยฉีดวัคซีนช้าจึงเป็นคำถามที่ทุกคนในประเทศอยากรู้

และรัฐบาลที่ดีไม่ควรด่าคนถามหรือยัดคดี

คําอธิบายของธนาธรชี้ว่าไทยฉีดวัคซีนช้าเพราะซื้อวัคซีนจากบริษัทหลักเพียงรายเดียว และแม้ธนาธรจะไม่พูดตรงๆ แต่ธนาธรก็ชวนให้สงสัยว่าคำสั่งซื้อพัวพันกับการเอื้อประโยชน์ให้โรงงานไทยที่รับช่วงผลิตวัคซีนต่อจากบริษัทนั้น ซึ่งทางแก้ความสงสัยข้อนี้มีแต่การเปิดสัญญาให้เห็นจริงๆ

ตรงกันข้ามกับนายกฯ และรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐที่เอาแต่ยัดคดี 112 ธนาธร

รัฐมนตรีสาธารณสุขชี้แจงได้ดีว่าไทยเลือกซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวเพราะความประหยัด รอบคอบ และความเป็นไปได้ตามกฎหมายไทย

แต่ก็ยังไม่ตอบคำถามว่าทำไมไทยเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าที่ควรเป็น

สมชัย จิตสุชน นักวิจัยแห่ง TDRI เปิดเผยว่าการซื้อวัคซีนจากบริษัทเดียวมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ไม่อนุญาตให้รัฐบาลซื้อของที่อาจไม่ได้ของหรือไม่ได้ใช้เลย

การตัดสินใจซื้อวัคซีนจากบริษัทไหนจึงไม่ง่ายในเวลาที่ไม่มีใครรู้ว่าบริษัทไหนจะผลิตวัคซีนได้จริงๆ

ในเงื่อนไขที่การสั่งซื้อวัคซีนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ในเวลาที่ไม่มีใครรู้ว่าบริษัทไหนจะผลิตวัคซีนได้สำเร็จหรือไม่ แอสตร้าเซนเนก้าเป็นบริษัทที่เปิดโอกาสให้เกิดการ “จองซื้อ” ซึ่งเป็นไปได้ที่สุดในกฎหมายไทยจนรัฐบาลไทยตัดสินใจซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างที่รู้กัน

เฉพาะในแง่นี้ คำอธิบายของรัฐมนตรีและนักวิจัย TDRI ชี้ว่ากฎหมายไทยมีส่วนให้รัฐบาลต้องซื้อวัคซีนด้วยวิธีที่ถูกวิจารณ์ตอนนี้ คำถามในแง่นโยบายจึงมีอยู่ว่าทำไมรัฐบาลประยุทธ์ไม่แก้กฎหมายทั้งที่ระยะเวลาพอทำได้

แต่กลับยอมให้กฎหมายเป็นอุปสรรคจนต้องซื้อวัคซีนหลักเจ้าเดียว

ถ้าโจทย์ของประเทศอยู่ที่การได้วัคซีนโดยเร็วเพื่อยุติโรคระบาดและการพังพินาศทางเศรษฐกิจ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำในเวลานี้คือเร่งหาวัคซีนตัวเดียวกันให้ได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น รวมทั้งหาวัคซีนค่ายอื่นจากผู้ผลิตอื่น ไม่ใช่จำกัดทางเลือกทางยุทธวิธีของประเทศที่การซื้อวัคซีนหลักจากบริษัทเดียว

รัฐมนตรีสาธารณสุขชี้แจงว่าไทยสั่งวัคซีน 26 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า และ 2 ล้านโดสจากไซโนแวคซึ่งมากพอสำหรับการระบาดในไทย

ซ้ำล่าสุดได้สั่งเพิ่มจากแอสทราอีก 35 ล้านโดสสำหรับประชาชน 31.5 ล้านคน หรือ 63% ของประชากรทั้งหมด

แต่ยังไม่มีคำตอบว่าเมื่อไรวัคซีนจะถึงไทย

ล่าสุด แอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถส่งวัคซีนให้สหภาพยุโรปตามที่ตกลง คำแถลงของ Stella Kyriakides กรรมาธิการสาธารณสุข EU เทียบได้กับรัฐบาลสหภาพยุโรป ถึงกับระบุว่า บริษัทไม่โปร่งใส เอาแต่ส่งวัคซีนให้ประเทศที่สาม ผลิตได้จริงแค่ 31 ล้านโดส ทั้งที่ต้องส่ง 80 ล้านโดสให้ 27 ประเทศภายในเดือนมีนาคม

หากแอสตร้าเซนเนก้ามีปัญหาส่งมอบวัคซีนให้ยุโรปได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ต่อไป คำสั่งซื้อวัคซีนของไทยย่อมได้รับผลกระทบจนอาจทำให้แผนฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามที่คาด หรือในทางกลับกันก็ทำให้โอกาสของประเทศไทยในการออกจากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจเนิ่นช้าไปอีกฟรีๆ

ภายใต้ยุทธศาสตร์การใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลักเพียงรายเดียว รัฐบาลไทยเผชิญปัญหาเรื่องการได้มาซึ่งวัคซีนให้ทันการเยอะไปหมด ทั้งที่ผู้ผลิตวัคซีนแอสทราไม่ได้มีแค่รายเดียว แต่สถาบันเซรั่มของอินเดียก็ผลิตได้

ซ้ำปริมาณการผลิตยังมากจนบริหารให้พม่าได้ 1.5 ล้านโดสไปฟรีๆ

ในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลเลือกแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก ทำไมรัฐบาลไม่ซื้อแอสตร้าเซนเนก้าจากอินเดียซึ่งราคาถูกกว่าที่ไทยซื้อจากบริษัทแม่ 5 เหรียญ ขณะที่สหภาพยุโรปและฝรั่งเศสซื้อแค่ 3 เหรียญเท่านั้น ทั้งที่วิธีนี่ทำให้ไทยได้วัคซีนเดียวกันเร็วขึ้นในราคาที่ถูกลง

ยิ่งไปกว่านั้น บทความของ Thai Enquirer เรื่อง Rejection of India”s vaccine offer adds to mounting concerns about Thailand”s vaccine program ยังอ้างแหล่งข่าวจากทางการอินเดียว่าเคยเสนอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยสถาบันเซรั่มซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลกให้ไทยแล้ว

แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธอย่างไม่ไยดี

วัคซีนคือทางออกจากวิกฤตสุขภาพและวิกฤตเศรษฐกิจจนไม่ควรกลายเป็นเรื่องการเมือง

และไม่ว่ารัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการยัด 112 จากคำพูดธนาธรเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน” ธนาธรตั้งคำถามหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องตอบ

โดยเฉพาะทำอย่างไรให้ไทยซื้อวัคซีนจากแหล่งที่หลากหลายเพื่อให้คนไทยปลอดเชื้อโดยเร็ว

ไม่มีคนไทยคนไหนควรติดคุกเพราะตั้งคำถามเพื่อให้คนไทยได้วัคซีนรวดเร็วอย่างที่เกิดขึ้นกับธนาธร