สิ่งแวดล้อม : รายงานโลกเสี่ยง 2021

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
[email protected]

รายงานโลกเสี่ยง 2021

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศอังกฤษ ทำเอาทั่วโลกต่างเป็นงงๆ ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้รุนแรงขั้นอันตรายถึงชีวิตหรือเพียงแค่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิมแต่ไม่มีพิษสงร้ายอย่างที่มีข่าวเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน?

เพราะล่าสุดนั้น นายบอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษบอกว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์แพร่ระบาดในเมืองเคนต์แล้วกระจายไปทั่วเกาะอังกฤษและอีก 50 กว่าประเทศทั่วโลก มีอัตราเสี่ยงตายเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์

คนไข้วัย 60 ปีขึ้นไปที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ 1,000 คนมีอัตราเสี่ยงตาย 13 คน เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เก่าเมื่อปีที่แล้ว มีอัตราเสี่ยงตาย 10 คน

“จอห์นสัน” เป็น 1 ในผู้นำโลกเคยติดเชื้อโควิดมาก่อนและรักษาหายแล้ว แถมกักตัวเอง 14 วันเมื่อปลายปีก่อนเพราะอยู่ใกล้คนป่วย คงไม่ออกมาพูดขู่ให้ผู้คนใจฝ่อ

นอกจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์ในอังกฤษแล้ว ยังมีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้และบราซิล มีระดับความรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน

แม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกัน แต่คนอังกฤษติดเชื้อเพิ่มและมีอัตราเสียชีวิตสูงมาก ในช่วง 7 วันก่อนโน้น เฉลี่ยเสียชีวิต 1,240 คน และเมื่อวันพุธที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เสียชีวิต 1,820 คน

 

คนป่วยด้วยโรคโควิด-19 ใช่ว่ารักษาหายป่วยแล้วชีวิตจะกลับมาราบรื่นเป็นปกติเหมือนเดิมทุกคน บางคนนั้นยังเป็นทุกข์ทั้งทางสุขภาพจิตสุขภาพกาย เช่น ความรู้สึกรับรู้รส กลิ่นไม่เหมือนเดิม

ผลการศึกษาในเกาหลีใต้พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ประสบกับปัญหาทางสุขภาพจิตและสุขภาพกาย

การแพร่ระบาดเชื้อโควิดยังสะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของแต่ละประเทศมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดียและยุโรป ระบบมีปัญหา คนป่วยมาก โรง

พยาบาลขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถเยียวยารักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีจึงมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ต่างประสบภาวะเครียด บางคนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ต้องขอลาออกจากงาน

ณ วันนี้ ทั้งโลกมีคนป่วยเพราะโควิด-19 ทะลุเข้าใกล้ 100 ล้านคน สังเวยชีพเพราะเชื้อร้ายตัวนี้กว่า 2.1 ล้านคน

บ้านเรายังมีคนติดโควิด-19 วันละเป็นร้อยคน แม้อัตราตายต่ำ แต่อย่าเพิ่งการ์ดตกก็แล้วกัน

ในรายงานว่าด้วยความเสี่ยงโลก 2021 ฉบับที่ 16 ของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม แห่งเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เป็นการรวบรวมความเห็นข้อมูลของผู้นำทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจระดับสูง ชี้ชัดว่า สถานการณ์โลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งทางสังคม

เชื้อโควิด-19 ทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ช่องว่างความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันถ่างห่างกันมากขึ้น

ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศเสื่อมลง อัตราการว่างงานพุ่ง คนที่เรียนรู้เข้าใจความเป็นดิจิตอลจะได้เปรียบกว่าคนที่ไม่รู้

ช่วง 10 ปีข้างหน้า โควิด-19 จะผลักให้สังคมโลกตกอยู่ในความปั่นป่วนอลเวง

ขณะที่ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอ่อนล้า เกิดวิกฤตหนี้ลามไปทั่ว เศรษฐกิจถดถอย โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะถดถอยและอาชญากรรมไซเบอร์ การก่อการร้ายเพิ่มระดับความรุนแรงสูงขึ้น

ในช่วง 5-10 ปี โลกเผชิญกับความเสี่ยง ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คนบุกรุกโค่นป่าทำลายธรรมชาติอย่างรุนแรงเพราะไม่มีงานทำ ไม่มีอะไรกิน

ระหว่างเกิดโควิด-19 แค่เฉพาะไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ส่งผลกระเทือนกับคนกินเงินเดือนอย่างหนัก ชั่วโมงทำงานวูบหายไปเทียบเท่า 495 ล้านตำแหน่งงาน

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ บีบให้โลกเข้าสู่วงโคจรการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 เร็วขึ้น

ผู้คนหันมาใช้เครื่องมือ “ดิจิตอล” แทนปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและป้องกันการติดเชื้อ

การค้าอีคอมเมิร์ซ การเรียนการสอนและการทำงานผ่านระบบออนไลน์พุ่งทะยานไปทั่วโลก สังคมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ผลที่ตามมา สังคมใดที่มีช่องว่างความรู้ด้านดิจิตอลอยู่แล้วจะยิ่งถ่างห่างออกไป

คนรุ่นหนุ่ม-สาวจะเข้าสู่แรงงานในตลาดดิจิตอล ผลักให้คนรุ่นเก่าตกสมัยกระเด็นกระดอนเร็วขึ้น

 

การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีผลให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเสื่อมทรามเพราะทุกประเทศต่างๆ เอาตัวเองให้รอดจากวิกฤต เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาโลกร้อนที่ควรจะผนึกกำลังแก้ไขก็ต้องทอดเวลาออกไป เท่ากับวิกฤตโลกร้อนคุกคามชาวโลกหนักขึ้น

รัฐบาลทั่วโลกใช้งบประมาณมากมหาศาล เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่สังคมเปลี่ยนโฉม พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนหันมาซื้อของผ่านตลาดออนไลน์ ทำงานจากที่บ้าน เร่งให้เกิดช่องว่างทางการค้า

ผู้ค้ารายย่อย ธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็กที่ปรับตัวไม่ทันจะตกยุค โอกาสเจ๊งสูง เกิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดย่อมมากขึ้น ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมย่อมตามมา
นั่นหมายถึงว่าการพัฒนาสู่ความยั่งยืนจะยังอยู่ไกลเกินเอื้อม

ในรายงานฉบับนี้ ชี้แนะให้ผู้นำทั่วโลกคิดวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบอย่างเป็นมืออาชีพ มองทุกปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ระดมความรู้ความร่วมมือในทุกๆ ด้านมาใช้แก้ปัญหาลดความผิดพลาด ป้องกันความเสี่ยงและเกิดประสิทธิผลในทางบวกอย่างรวดเร็ว