จาก ‘ปฏิวัติซินไฮ่’ ถึง ‘คณะ ร.ศ.130’ : ว่าด้วยความเจริญแลความเสื่อมทรามของประเทศ / My Country Thailand – ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง

จาก ‘ปฏิวัติซินไฮ่’
ถึง ‘คณะ ร.ศ.130’
: ว่าด้วยความเจริญแลความเสื่อมทรามของประเทศ

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 2455 หรือกว่า 100 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าจับกุมนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “คณะ ร.ศ.130” ผู้ถือคติว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” พวกเขาคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยไปเป็นประชาธิปไตย
ความเสื่อมทรามของการปกครองจีนภายใต้พระนางซูสีไทเฮา ก่อให้เกิดขบวนการ “ถงเหม็งฮุ่ย” ซึ่งเป็นขบวนการปฏิวัติจีน นำโดยซุนยัตเซนสามารถโค่นล้มราชวงศ์ชิงได้ในกลางกุมภาพันธ์ 2455 ผนวกกับการปกครองแบบเอกาธิปไตยของไทยทำให้นายทหารไทยหัวก้าวหน้าที่กองปืนกลที่ 1 รักษาพระองค์ ถนนซางฮี้ นำโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ เกิดแสงสว่างทางปัญญา
กลางฤดูหนาวในเดือนธันวาคมของปี 2454 พวกเขาสนทนาแลกเปลี่ยนหนทางสร้างความก้าวหน้าให้กับไทย

ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)

ต่อมา พวกเขาได้ไปหา ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) ที่บ้านถนนสาทร หมอเหล็งจึงเล่าประวัติศาสตร์การปฏิวัติของประเทศต่างๆ ให้นักปฏิวัติหนุ่มฟัง
บนโต๊ะอาหารในกลางเดือนมกราคม 2455 นางอบ ศรีจันทร์ ภริยาของหมอเหล็งร่วมกินข้าวเย็นพร้อมสามีและเหล่านักปฏิวัติหนุ่มด้วย
เธอเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่รับฟังความในใจของเหล่านักปฏิวัติ
แทนที่เธอจะตกใจ เธอกลับแสดงความเห็นด้วยและอวยพรให้กับนายทหารหนุ่มเหล่านั้นที่ต้องการสร้างความเจริญให้ไทยทัดเทียมอารยะ
ต่อมาได้มีการประชุมจัดตั้งคณะปฏิวัติขึ้นในกลางเดือนมกราคมปีนั้นที่บ้านหมอเหล็ง อันมีสมาชิกก่อตั้งครั้งแรก 7 คน คือ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) ร.ต.เหรียญ ร.ต.จรูญ ร.ต.เนตร ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ ร.ต.ม.ร.ว แช่ รัชนิกร และ ร.ต.เขียน อุทัยกุล
และการประชุมในครั้งต่อมาได้มีการพูดถึงปัญหาของเอกาธิปไตยไทย หลังจากนั้นจึงมีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ประชาธิปไตย
จากนั้น คณะนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้าจัดประชุมขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น บ้านหมอเหล็งแถวสาทร โบสถ์ร้างวัดช่องลมแถบช่องนนทรี ทุ่งนาใกล้สถานีรถไฟคลองเตย สวนผักแถวตำบลศาลาแดง และสำนักงานทนายความอนุกูลคดีกิจสถานแถววังบูรพาภิรมย์ ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2455
แต่พวกเขายังไม่ทันลงมือ ความก็แตกด้วยเหตุมีหนอนบ่อนไส้ภายในคณะ
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้นรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าจับกุมพวกเขาและยึดเอกสารชิ้นหนึ่งในบ้านของแกนนำสำคัญ
เอกสารชิ้นนั้นชื่อ “ความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ” ซึ่งเป็นเอกสารที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองของแกนนำคณะอย่างแจ่มชัด
ในบันทึกมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น จะรุ่งเรืองหรือเสื่อมทรามลงก็เพราะการปกครองของประเทศนั้นเอง

เอกสารเป้าหมายของระบอบการปกครองที่รัฐบาลยึดได้จากบ้านของแกนนำปฏิวัติ

ว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศ

หัวใจสำคัญของบันทึกดังกล่าวจำแนกและวิเคราะห์แนวทางการปกครองในโลกนี้ว่ามี 3 แนวทาง คือ แนวแรก “แอ็บโซลุด มอนากี” แนวที่สอง “ลิมิตเต็ด มอนากี” และแนวสุดท้ายคือ “รีปัปลิก”
สำหรับการปกครองแบบ “แอ็บโซลุด มอนากี” นั้น บันทึกวิเคราะห์ว่า เป็นระบอบการปกครองที่บุคคลเพียงคนเดียวมีอำนาจเต็มอยู่เหนือกฎหมาย ประชาชนถูกกดขี่แลเบียดเบียน ทรัพย์สมบัติและที่ดินจะถูกริบนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ภาษีอากรจะถูกนำมาบำรุงความสุขให้ส่วนตัว เงินบำรุงบ้านเมืองจึง “ไม่เหลือหรอ”
ขณะนั้นไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ปกครองในระบอบดังกล่าว ในบันทึกวิเคราะห์ต่อไปว่า ประเทศที่ปกครองแบบนี้จะทำให้ประเทศทรุดโทรมและถึงแก่กาลวินาศ
สำหรับการปกครองใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม คือ แนว “ลิมิตเต็ด มอนากี” ในบันทึกวิเคราะห์ว่า การปกครองแบบนี้ ผู้ปกครองต้องอยู่ใต้กฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีอำนาจ “พวกเต้นเขนและพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางเลย”
วิธีการปกครองแบบนี้เริ่มต้นจากอังกฤษ ประเทศต่างๆ ได้ทำตามแบบดังกล่าว เช่น ตุรกี และญี่ปุ่น
แต่บางประเทศทำเลยไปไกลก็มี บันทึกเห็นว่า คงเหลือแต่ไทยเท่านั้นที่ยังคงระบอบการปกครองที่ทำให้มีคนบางกลุ่มมีความสุขสบายจนไม่เหลือภาษีบำรุงประเทศ
การปกครองแนวสุดท้าย คือ “รีปัปลิก” บันทึกนิยามว่า การปกครองชนิดนี้เป็นการปกครองที่ “มีประธานาธิบดีเป็นประธานสำหรับการปกครองประเทศ” ประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
การปกครองรูปแบบนี้ ในบันทึกวิเคราะห์ว่า “ราษฎรทุกประเทศจึงอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปัปลิกทั้งหมด เวลานี้ ประเทศใหญ่น้อยต่างๆ เป็นรีปัปลิกกันเกือบทั่วโลกแล้ว” เช่น ประเทศในยุโรป อเมริกา และจีน เป็นต้น
ทางสองแพร่ที่อยู่เบื้องหน้านายทหารและพลเรือนหนุ่มที่ต้องตัดสินใจเลือก คือ การปฏิวัติที่กระทำเพียงครึ่งทางซึ่งเป็นการประนีประนอมตามแนว “ลิมิเต็ด มอนากี” หรือการปฏิวัติไปให้สุดทางตามแนว “รีปับลิก”
ด้วยเหตุนี้ ทางสองแพร่งของการปฏิวัตินี้จึงนำไปสู่การถกเถียงกันในที่ประชุมอย่างร้อนแรง ที่มีการเสนอแนวทางถอนรากถอนโคนขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จากบันทึกความทรงจำของหมอเหล็ง และ ร.ต.เนตร บันทึกไว้ว่า ที่ประชุมครั้งแรกๆ หลายครั้ง ที่ประชุมให้การสนับสนุนการเปลี่ยนการปกครองตามแบบจีน
พวกเขาบันทึกว่า มตินี้รับการสนับสนุนจากทั้งนายทหารระดับนำหลายคน เช่น หมอเหล็ง พันตรี หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (หมออัทย์ หะสิตะเวช) ร.ต.เนตร รวมทั้งกลุ่มพลเรือนในคณะ เช่น พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เซี้ยง สุมาวงศ์) พระพินิจพจนาตรถ์ (น่วม ทองอินทร์) บุญเอก ตันสถิตย์ (อดีตนักเรียนฝรั่งเศส ขณะนั้น เขาทำงานในสถานทูตฝรั่งเศส) และอุทัย เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสมาชิกในคณะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มสายกลางขึ้น
กลุ่มดังกล่าวเป็นสมาชิกที่มีอายุมากต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบ “ลิมิตเต็ด มอนากี” มากกว่า กลุ่มสายกลางนี้ให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการให้เกิดความชอกช้ำมากเกินไป ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล”
ร.ต.เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะและกลุ่มแกนนำประเมินความคิดของกลุ่มสายกลางว่า “ไม่ได้ความเลย”

ในที่สุดพวกเขาตัดใจทำตามมติคือตามทางสายกลาง
และตกลงกันลงมือปฏิวัติในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในเดือนเมษายน 2455
แต่ความหวังของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ไม่อาจบรรลุผลได้เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมในเวลาต่อมาก่อนการลงมือเพียง 1 เดือน เนื่องจากมีหนอนบ่อนไส้นำแผนการของพวกเขาไปแจ้งต่อรัฐบาล
การทรยศดังกล่าวทำให้ผู้ทรยศได้ทุนไปศึกษาด้านการทหารในฝรั่งเศส แต่ทำให้พวกเขาเหล่าผู้กล้าที่มาก่อนกาลบางคน เช่น ร.ต.ชอุ่ม สังกัดกองทหารม้าที่ 1 ยิงตัวตายด้วยการใช้ปืนเล็กสั้นของนายทหาร “ยัดเข้าปาก” ปลิดชีพตนเองแทนที่จะยอมให้ศัตรูปลิดชีวิตของเขา
สมาชิกแกนนำคนหนึ่งบันทึกถึงความแน่วแน่ในความคิดของเขาก่อนถูกส่งตัวไปลงทัณฑ์ว่า
“เมื่อเป็นฝ่ายแพ้อำนาจก็ต้องตายหรือรับทัณฑ์ แต่เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยยังไม่ตาย ลัทธิประชาธิปไตยก็คงคลอดภายในแผ่นดินไทยได้สักครั้งเป็นแน่”
ทั้งนี้ สมาชิกของคณะถูกโยนเข้าคุกเพื่อรับโทษทัณฑ์ ในระหว่างที่พวกเขาถูกลงโทษ สมาชิกหลายคนเสียชีวิตในคุก
ร.ต.วาส วาสนา หนึ่งในสมาชิกของคณะ เขาได้กล่าวกับเพื่อนๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตนักปฏิวัติว่า
“เพื่อนเอ๋ย กันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น”

ควรบันทึกด้วยว่า เอกสารว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศชิ้นนี้เป็นเอกสารที่สะท้อนความคิดทางการเมืองของเหล่านายทหารและพลเรือนหนุ่มที่ใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์การเมืองและเป็นแนวทางในการตัดสินใจสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ให้ไทยเมื่อครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้นว่า แนวทางการเปลี่ยนแปลงทั้งสองแนว มิอาจเป็นจริงได้ในขณะนั้น เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมก่อนลงมือปฏิบัติการ
แต่เอกสารสำคัญนี้ยังคงสะท้อนความคิดทางการเมือง ความหวังใหม่และความตั้งใจอันแรงกล้าของพวกเขา ณ ห้วงเวลานั้น

ใต้ภาพ
เอกสารเป้าหมายของระบอบการปกครองที่รัฐบาลยึดได้จากบ้านของแกนนำปฏิวัติ
ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)