มุกดา สุวรรณชาติ : เลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่มีทางได้รัฐ…ธรรมาภิบาล

มุกดา สุวรรณชาติ

คําถามเรื่องรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลเป็นเรื่องดี และไม่ได้ต้องการคำตอบเพื่อคนคนเดียวหรือสองคน แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อเสนอปัญหาให้สังคมได้รับรู้และเตรียมการ และคำตอบของทุกฝ่ายก็ควรรับฟัง

ข้อมูลจากสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่า หลักธรรมาภิบาลนั้นประกอบด้วย

คุณธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า

ทั้ง 6 หลักการไม่มีค่าตัวเลขมาตรฐาน

ถ้ารัฐบาลบริหารโครงการตามนโยบายได้เหมาะสม สุจริต ชาวบ้านทำมาหากินได้ สังคมอยู่ดีมีความสุขสบาย มีความสะดวกทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การรักษาพยาบาล ชาวบ้านก็จะบอกว่ารัฐบาลนี้ดี

แต่ความมุ่งหวังที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล อาจมีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการการเลือกตั้งเพื่อหารัฐบาลที่คนส่วนใหญ่อยากได้

แต่ในสถานการณ์วันนี้คำตอบ จะมีคำตอบเดียวคือ…การเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เตรียมเอาไว้จะไม่มีทางได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

 

เหตุผลในเชิงวิชาการและข้อเท็จจริง
ที่จะไม่ได้รัฐบาลธรรมาภิบาล

1.การเลือกรัฐบาลตามความต้องการของผู้เลือกที่เป็นคนส่วนใหญ่หรือตามเสียงข้างมาก สิ่งนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า การเลือกนายกฯ ซึ่งจะเป็นผู้ตั้งรัฐบาล ไม่ให้เลือกโดยตรงจากประชาชน หรือเลือกจากผู้แทนของประชาชน

แต่จะเลือกโดยผ่าน ส.ส. 500 คน และ ส.ว. ซึ่งมาจากการคัดสรรและแต่งตั้ง 250 คน

เมื่อ ส.ส.ผ่านระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ตาม รธน.ใหม่ จะไม่มีพรรคใหญ่พรรคหนึ่งได้ ส.ส. เกินครึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้การแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ที่เคยมีมาในอดีตจะทำให้เสียง ส.ส. แตกออกเป็น 3-4 กลุ่ม

เสียงของ ส.ว. ที่เกินกว่า 200 เสียง จะกลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดในการเลือกนายกฯ และตั้งรัฐบาล

ดังนั้น รัฐบาลที่ได้มาจึงเป็นรัฐบาลของผู้ที่แต่งตั้ง ส.ว. และเป็นตัวแทนของพรรคผสม

2. การกำหนดนโยบายที่จะพัฒนาประเทศ หรือเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะต้องถูกกำกับด้วยยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งประชาชนก็ไม่ได้เลือก

การวางยุทธศาสตร์บางเรื่องอาจจะถูกวางเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มก็ได้ เพราะเป็นหนี้บุญคุณกันมา

และยุทธศาสตร์นี้ให้ใช้ต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนไปถึงหลังเลือกตั้งอาจนานถึง 10 หรือ 20 ปี

ดังนั้น โอกาสที่จะวางนโยบายให้เหมาะสมหรือช่วยเหลือประชาชนจะไม่สามารถทำได้

ซึ่งตามข้อมูลปัจจุบัน เราจะพบว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทุก 2 ปี 3 ปีก็ว่าได้

ถ้ากฎหมายหรือข้อบังคับทางยุทธศาสตร์กำหนดไว้เป็นกรอบจะทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ช้ามากหรือทำไม่ได้ยกเว้นจะต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ

ยกตัวอย่างการเปลี่ยนเร็ว… เช่น เรื่องพลังงานในอนาคตการใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนเซลล์ จะสามารถทำการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายหรือเพื่อใช้ในหมู่บ้าน แบบประปาหมู่บ้านได้ นี่จะเกิดผลกระทบต่อองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายและนโยบาย

หรือตัวอย่างระบบการค้าที่ไม่มีพรมแดน เช่น การจองที่พักโรงแรมในประเทศผ่านตัวกลางซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติและหักค่าหัวคิวไปเกือบ 20% โดยที่รัฐบาลยังไม่มีวิธีการที่จะเรียกเก็บภาษีให้สมน้ำสมเนื้อถ้าหากเราไม่ยอมรับระบบนี้ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่ถ้ายอมรับก็จะต้องสร้างระบบและกฎหมายขึ้นมารองรับและหาทางสร้างเครือข่ายให้ประโยชน์อยู่ในประเทศ

จะเห็นว่า กรณีแบบนี้เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลซึ่งมีวิสัยทัศน์แบบเก่าจะทำเป็นหรือมองเห็น

3. การร่างกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ จนถึงกฎหมายธรรมดา ไม่มีตัวแทนที่ประชาชนเลือกไปร่วมร่าง ผลประโยชน์จากกฎหมายจะตกแก่ใคร?

ข้อเสนอแบบห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ก็สามารถปรากฏขึ้นได้เสมอเพราะมาจากกลุ่มคนไม่กี่คนที่นั่งรถเก๋งแพงๆ

4. ถ้ารัฐบาลเป็นพวกเดียวกับผู้ตรวจสอบ จะโปร่งใสได้อย่างไร ที่ต้องพูดถึงคือระบบตรวจสอบซึ่งจะต้องเป็นแบบมาตรฐาน นั่นหมายถึงองค์กรที่จะตรวจสอบต้องเป็นกลางและยุติธรรม แต่ไม่มีข้อกำหนดให้ประชาชนเลือกหัวหน้าต่างๆ ขององค์กรอิสระ หรือระบบยุติธรรม ระบบศาล ซึ่งจะต้องเป็นกลางและยุติธรรม

เมื่อระบบตรวจสอบไม่โปร่งใสเสียเอง ก็เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมผู้มีอำนาจให้ทำงานอย่างสุจริต

 

การแก้ปัญหา ถ้าไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

1.สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อระบบการบริหารบ้านเมืองสุดท้ายประชาชนจะเดือดร้อนรัฐบาลจะบริหารต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ขอเพียงอย่ามีคนเข้ามาแทรกแซงด้วยการใช้กำลังรัฐประหาร กลไกเหล่านี้จะดำเนินไปตามระบบของมัน

2. จะต้องแก้กฎเกณฑ์หรือรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกอย่างสมบูรณ์คือเลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรง เลือกผู้แทนฯ คือ ส.ส. และ ส.ว. โดยตรง แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากแต่เมื่อกระแสประชาชนขึ้นสูงการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ เพราะถ้าไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขกฎเกณฑ์ ก็จะต้องแก้ไขบุคคล สังคมจะมีเส้นทางเดินของมันเอง

3. ต้องให้โอกาสประชาชนในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ให้มากขึ้น ให้โอกาสผู้สมัครแบบเปิดกว้าง ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกมากขึ้น จะต้องเปิดกว้างต่อการเสนอนโยบาย วิสัยทัศน์โครงการของผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาล อย่าควบคุมการหาเสียงหรือการเสนอนโยบาย

ไม่ควรบังคับแม้กระทั่งเรื่องเอกสารหาเสียงเรื่องป้ายโฆษณา ฯลฯ ที่จะทำให้ประชาชนรับรู้ไม่ว่าจะผ่านทางสื่อต่างๆ โทรทัศน์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้ยิ่งกระจายกว้างยิ่งให้เวลาถกเถียงกันยิ่งมากยิ่งดี

การเลือกตั้งไม่ใช่การนั่งสมาธิ มองทางในแล้วจะรู้ว่าพรรคไหน คนไหนเป็นคนดีเหมาะสม

 

คำถามที่ว่าการคำนึงถึงการเลือกตั้งอย่างเดียว
โดยไม่คิดถึงอนาคตของประเทศนั้นที่จริงไม่มี

เพราะกว่าจะเกิดการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การต่อสู้ในยุคหลังจะเห็นว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องมีกระบวนการการต่อสู้ มีผู้บาดเจ็บล้มตาย มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีการบอยคอต กว่าจะฝ่าด่านไปหย่อนบัตรได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ดังนั้น คนที่จะเลือกตั้งมองถึงอนาคตของตนเอง ของครอบครัว ของสังคมและประเทศชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้มีอำนาจในแต่ละยุคอย่าหลอกลวงประชาชน อย่าบีบบังคับ อย่าตั้งกฎเกณฑ์ที่บังคับให้ประชาชนเลือกหรือไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ทั้งยังควรให้โอกาสประชาชนที่จะได้รับรู้รับทราบนโยบายต่างๆ ที่จะมีผลต่อประเทศชาติหรือต่อชีวิตของพวกเขา

การเลือกตั้งคือการที่ประชาชนจะหาตัวแทนที่เหมาะสมไปเป็นตัวแทนในการออกเสียงของเขาหรือเป็นตัวแทนในการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ของส่วนรวม ส่วนครอบครัว ส่วนสังคม หรือชุมชนของตนเอง

แน่นอนว่าชุมชนที่เป็นชาวประมงย่อมมองหาพรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการประมง ทะเลชุมชน ที่เป็นชาวไร่ชาวนาก็ต้องมองหาพรรคที่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของเกษตรกร

ในคนแต่ละอาชีพย่อมอยากหาตัวแทนที่จะช่วยให้พวกเขามีโอกาสลืมตาอ้าปาก นโยบายที่จะให้สวัสดิการโดยรวม

ถ้าหากไม่ให้โอกาสในการเสนอนโยบายที่แตกต่าง ประชาชนก็ไม่รู้จะเลือกใครเข้ามาเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียง เป็นผู้บริหาร

และถ้าหากนโยบายต่างๆ ถูกบังคับให้อยู่ในกรอบและออกมาคล้ายกันเกือบหมดก็จะเป็นความยากลำบากในการเลือกของประชาชน

ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตของประชาชนและอนาคตของประเทศชาติ ควรเปิดช่องให้กว้าง และให้ตัวแทนของประชาชนมีโอกาสปรับเปลี่ยนแก้ไขได้

 

คนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
เป็นอันตรายต่อสังคม
ต้องถูกจำกัดบทบาท

เรื่องนี้ว่ากันตามความจริง คนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นอันตรายต่อสังคมถ้าเข้ามาสมัครรับเลือกตั้ง หากถูกเปิดโปงก็ไม่มีใครเลือกอยู่แล้ว และคนแบบนี้ไม่เพียงต้องกำหนดไม่ให้เข้าสู่การเมือง ยังจะต้องถูกจำกัดบทบาท

แต่ถ้าคนเหล่านี้ผ่านเข้ามามีอำนาจด้วยวิธีอื่น ด้วยการประจบสอพลอ หรือมาตามระบบราชการก็ห้ามได้ยาก และยังมีปัญหาว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นถูกต้องยุติธรรมหรือไม่ ใครเป็นผู้ตัดสิน

ความถูกต้องในบางสถานการณ์ บางช่วงเวลาที่คนชื่นชมกัน อาจจะเปลี่ยนเป็นเรื่องที่คนไม่ชอบในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ได้

หรือความไม่ถูกต้องในบางช่วงเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป สิ่งนั้นอาจจะเหมาะสม

การตัดสินใจของประชาชนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องเสนอข้อมูลให้รอบด้านเพราะผลกระทบของปัญหาใหญ่ในวันนี้จะกระทบต่อคนทั้งประเทศ คนยิ่งจนยิ่งลำบากยิ่งกระทบหนักที่สุดถึงขั้นไม่มีจะกิน คนชั้นกลางถึงขั้นล้มละลาย คนรวยได้รับผลกระทบมากแต่อาจจะยังพอมีกิน

การให้สิทธิเสรีภาพให้คนคิด ให้คนรู้ข้อมูล รู้ความจริง จึงกลายเป็นความจำเป็นไปแล้ว

สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาที่หลักธรรมาภิบาลซึ่งกำหนดให้ความสมดุลของหลัก 6 ประการทำให้ต้องคิดทั้งหลักคุณธรรม นิติธรรมควบคู่ไปกับความคุ้มค่า

บางเรื่องก็ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ บางเรื่องต้องมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมต่างๆ แล้วจะพบว่ากฎเกณฑ์ทางประชาธิปไตยซึ่งใช้เสียงส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดสินยังเหมาะสม เพราะนโยบายที่กระทบต่อคนหมู่มาก บางครั้งไม่ใช่ถูกหรือผิด ขาวหรือดำ แต่เป็นแถบสีเทาขนาดใหญ่ ผู้บริหารก็ต้องตัดสินใจตามความเห็นคนส่วนใหญ่ว่าจะทำอย่างไร มีปัญหาแล้วจะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

รัฐธรรมาภิบาลไม่ใช่รัฐที่หล่นลงมาจากฟ้า หรืองอกมาจากดิน แต่จะเกิดขึ้นจากการเลือกของคนในสังคม จึงจะบริหารแบบธรรมาภิบาลได้ ตรวจสอบได้ เปลี่ยนได้

การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยทำหลายครั้งก็ได้ ไม่ทำให้ประเทศล่มจม มีแต่เจริญขึ้น