หลัง 4 คำถามนายกฯ กูรูวิชาการเมืองไทย ฟันธง 2561 ไม่มีเลือกตั้ง : ในประเทศ

“ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561” อ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นักวิเคราะห์การเมืองหัวแถวฟันธงไว้ หลังมีการตั้ง “4 คำถาม” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยขอคำตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ โดยให้มหาดไทยขับเคลื่อน

อ.สุขุมมองว่า 4 คำถามคือความต้องการสื่อสารให้ประชาชน หรือเป็นการเตือนสติ (แนวขู่) ว่า ถ้าไม่ต้องการเหตุการณ์แบบในอดีต ประชาชนควรคิดก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้ง เหมือนขู่ให้กลัว ว่าถ้าเลือกแบบเดิมคนเดิม บ้านเมืองจะมีสภาพเหมือนช่วงก่อนยึดอำนาจ จึงมองว่าลึกๆ แล้วเขาคงต้องการเปิดช่องให้พรรคใหม่เข้ามามีพื้นที่มากขึ้น

พร้อมมองว่าคำถามมีลักษณะ “ชี้นำ” ให้คนปฏิเสธเหตุการณ์ที่ผ่านมา จะพลาดพลั้งอีกหากยังคิดแบบเดิม

ทั้งที่มองไปทีละคำถามก็รู้สึกว่า 4 คำถามมันมีคำตอบอยู่แล้ว

อย่างคำว่า “ธรรมาภิบาล” บทบัญญัติรัฐธรรมนูญชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร รัฐธรรมนูญนี้ทำให้นักการเมืองขยับตัวลำบากอยู่แล้ว ทำให้พ้นจากตำแหน่งง่าย

กฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ในการเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ท่านเป็นคนกำหนดเองไม่ใช่หรือ? จะมีแม่น้ำกี่สายก็แล้วแต่ ต้นทางมาจากสายหลักสายเดียว ท่านวางไว้เอง แต่ไม่เชื่อในกฎเกณฑ์ที่ท่านเป็นคนกำหนดหรือ?

นี่คือคำตอบที่อยู่ในคำถามอยู่แล้ว

อ.สุขุมมองว่า หากรัฐบาล คสช. อยากเลื่อนเลือกตั้งก็ทำได้ไม่ยาก แค่ขยับโรดแม็ปเท่านั้นแหละ ขยายกรอบไปเพราะไม่ได้ตายตัว หากรัฐบาลต้องการอยู่ยาว ไม่ต้องตั้งคำถาม ที่สำคัญทุกวันนี้ก็เห็นท่านหาเสียงอยู่คนเดียว โพลที่ออกมาเกินครึ่งก็สนับสนุนท่านทั้งนั้น

แต่อย่าไปมองว่าที่อยากอยู่ยาวนี้เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว แต่อยากให้มองว่าที่มีความสุขในระบบแบบนี้ คือกลุ่มก้อนที่สนับสนุนเป็นปัจจัยหลัก เพียงแต่ศึกหนักจะไปตกอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แต่จริงๆ แล้วคือ “องคาพยพ” อื่นมากกว่า

อ.สุขุมเล่าว่า ที่ผ่านมาหากมีนายกฯ รับเชิญ (รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) มักจะมีการสร้างปรากฏการณ์บางอย่างเพื่อที่จะอยู่ต่อ ครั้งหนึ่งมีผู้ที่ต้องการให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ต่อ เพราะว่าการเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ก็ต้องมีวิธีทำให้ประชาชนรับรู้ วันรุ่งขึ้นมีพาดหัวหนังสือพิมพ์ “หม่อมป้าเรียกหาพ่อเปรมอยู่ไหน” หรือแม้แต่ผู้เป็น ผบ.ทบ. สมัยนั้นก็ใช้คำหรือให้สัมภาษณ์ว่า “ทหารอยากได้เปรมเป็นนายกฯ” เป็นต้น

แต่อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นคือ มีอดีต ส.ส. รณรงค์ให้ประชาชนส่งไปรษณียบัตรเป็นแสนๆ สนับสนุนการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.เปรม เสมือนใช้ช่องทางนี้เป็นประชามติจากประชาชน

ประกอบกับมีการขึ้นป้ายในหลายพื้นที่ว่า “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของ…”

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับนายกฯ รับเชิญ ซึ่งถือว่าได้ผลเชิงจิตวิทยาทั้งการขึ้นป้าย หรือการให้สัมภาษณ์ การส่งไปรษณียบัตร ทำให้ดูมีน้ำหนักมากขึ้น ไม่ได้เข้ามาเพราะขืนใจนักการเมือง

ส่วนจะเรียกว่าเป็นการจัดตั้งหรือเปล่า มองว่าเหมือนการซื้อไปรษณียบัตรแจกให้ชาวบ้านแล้วไปลงข่าวว่ามีเป็นแสนๆ ใบ ให้เหมือนกับเป็นการเรียกร้องจากประชาชน มองผลเป็นอย่างนั้นมากกว่า

ส่วนปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลรับเชิญเสื่อมถอยก็มาจากไม่กี่อย่าง เช่น รัฐบาลขาดประสิทธิภาพ หรือการ “อยู่นาน” ไม่มีอะไรตื่นเต้นเร้าใจ คนเบื่อ เมื่อบ้านเมือง “พ้นวิกฤต” ก็อยากได้รัฐบาลปกติ สภาวะปกติกลับคืนมา แต่ถ้ามีวิกฤตก็ยอมได้

อ.สุขุมมองการเมืองหลังจากนี้โดยใช้คำอมตะของอดีตนักการเมืองท่านหนึ่งว่า “ในการเมืองคำว่าเป็นไปไม่ได้ไม่มี” ใครจะไปเชื่อ วันหนึ่ง คุณพิชัย รัตตกุล จะออกมาพูดให้นักการเมืองรวมกันได้ เพื่อสู้กับระบบแต่งตั้ง ใครจะไปคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ซึ่งหลังจากนี้ เราจะเห็นพรรคการเมืองใหม่ๆ ออกมา และพรรค (สนับสนุน) ทหารจะเกิดขึ้น

หรือแม้แต่จะเห็นกระแสของคนอีกกลุ่มที่สนับสนุนให้รัฐบาลรับเชิญออกมาด้วย

ส่วนกลุ่มคน-พวกที่กดไว้ คงมีแต่ความไม่พอใจ แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น บางพรรคที่เคยแนบแน่นกับทหาร ก็จะรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน เวลาเขาด่านักการเมือง เพราะเขาไม่ละเว้น เขาจัดประเภทคุณให้เหมือนกันหมด ประกอบกับผลสำรวจก็ยังออกมาว่าคนศรัทธานักการเมืองลดลง ที่สำคัญการเลือกตั้งจะมีการใช้ระบบกฎเกณฑ์ใหม่ การนับคะแนน ทำให้พรรคไม่แข็งแรง ลดทอนเสถียรภาพการเลือกตั้ง

ฉะนั้น เชื่อแน่ว่าการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า “การชูเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ” จะเป็นประเด็นนำของทุกพรรคการเมือง และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหนึ่งให้ชนะเลือกตั้ง

ส่วนจะแก้ได้หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง แต่จะช่วยปลุกความรู้สึกประชาชนได้ เมื่อมีคนพูดซ้ำพูดซากพูดหลายรอบ ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้แก้ได้ เช่นเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่ได้มาจากประชาชนคิดว่าจะมีการแก้ไข

สุดท้ายหลายคนชอบพูดว่า 3 ปีของ คสช. เสียของ อ.สุขุมมองว่า สิ่งที่เสียของก็มีจริง แต่ก็แล้วแต่ว่าเรามองแบบไหน เศรษฐกิจนี่ชัดเจน คือเราพลาดโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย แต่ถ้าไม่มี คสช. อาจจะแตกแยกนองเลือดแบ่งกั้นคนไทยแตกมากขึ้น แต่ข้าราชการคงจะชอบให้มี คสช. เพราะระบบราชการแข็งแรงขึ้น มีการขึ้นเงินเดือน แต่ไพร่ฟ้าอาจจะหน้าไม่ใส

ทั้งนี้ เรื่องเศรษฐกิจจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญของการเลือกตั้งที่จะไม่มีขึ้นในปี 2561

รัฐบาลจะรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกว่านี้ เพราะเวลาหาเสียงของพรรคการเมืองจะไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลว่าทำเศรษฐกิจพัง

จึงคิดว่าการเลือกตั้งจะเลยปี 2561 ไป ส่วนจะมีเมื่อไหร่ ไม่สามารถตอบได้

ชมคลิปสัมภาษณ์