เราควบคุมโลกโซเชียลมีเดียได้แค่ไหน /จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Portrait of a woman grabbing her head in despair at the desk near the laptop, late at night. Education, business concept photo. Lifestyle

Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin

เราควบคุมโลกโซเชียลมีเดียได้แค่ไหน

ฉันเล่นเฟซบุ๊กครั้งแรกประมาณ 13 ปีที่แล้วเพราะน้องสาวที่อเมริกาบังคับให้สมัครจะได้มีวิธีติดต่อสื่อสารอัพเดตชีวิตกันได้นอกเหนือจากการแชตบนเอ็มเอสเอ็น
มองย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน หน้าฟีดของเฟซบุ๊กรวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ เรียบง่ายกว่านี้มาก เราได้เห็นสิ่งที่เราต้องการจะเห็น เราเป็นเพื่อนกับใคร เราก็ได้เห็นโพสต์ของคนนั้น เรากดไลก์เพจไหน ก็ได้เห็นโพสต์ของเพจนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านี้
จนกระทั่งเวลาผ่านไป เฟซบุ๊กเริ่มพัฒนาอัลกอริธึ่มมาใช้จัดการกับหน้าฟีดของผู้ใช้งาน
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะไม่เคยอธิบายอย่างละเอียดว่าอัลกอริธึ่มนี้ทำงานอย่างไร แต่ผู้ใช้งานอย่างเราก็ค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงว่านอกจากเราจะเห็นโพสต์ของเพื่อนน้อยลงมากแล้ว เราก็ยังได้เห็นโพสต์โฆษณาอื่นๆ จากเพจที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน มาปรากฏอยู่บนหน้าฟีดของเราด้วย
จะว่าไปนี่ก็ไม่แปลกอะไร การจะบริหารจัดการระบบเครือข่ายโซเชียลมีเดียขนาดมหึมาแบบนี้ก็ต้องมีต้นทุนมหาศาล และการโฆษณาก็กลายเป็นช่องทางหารายได้หลักของเฟซบุ๊กในแบบที่ผู้ใช้งานซึ่งใช้งานฟรีๆ
ไม่มีทางเลือกที่จะปิดมันได้เลย

เราเริ่มคุ้นเคยกับการปล่อยให้เฟซบุ๊กคัดเลือกสิ่งที่เราจะเห็นในแต่ละวัน
เราเห็นแต่เรื่องเดิมๆ หัวข้อเดิมๆ จากคนเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา
จริงอยู่ที่เราก็เพลิดเพลินไปกับการเห็นอะไรแบบนั้นเพราะมันตรงกับความชอบของเราอยู่แล้ว
แต่รู้ตัวอีกทีเพื่อนจำนวนไม่น้อยก็อันตรธานหายไปจากหน้าฟีดเราทั้งๆ ที่สถานะความเป็นเพื่อนกันก็ยังคงอยู่
เราเริ่มเห็นเรื่องแย่ๆ เรื่องร้ายๆ หรือที่คนไทยติดปากพูดกันว่า ดราม่า มากขึ้นๆ เพราะอัลกอริธึ่มป้อนโพสต์ดราม่าให้เราไม่ขาดสาย เนื่องจากโพสต์เหล่านี้มีเอนเกจเมนต์หรือมียอดไลก์ คอมเมนต์ และแชร์สูง
สถานการณ์เดียวกันนี้ก็รวมถึงบรรดาข้อมูลผิด ข้อมูลปลอม หรือทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายซึ่งยั่วยวนดึงดูดคนที่มีแนวโน้มจะเชื่ออยู่แล้วให้บินเข้ามาติดกับราวกับแมลงเม่าบินเข้าหากองไฟ

บทความใน The Wall Street Journal ชิ้นหนึ่งพูดถึงอัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียที่กำกับรูปแบบการมองโลกของเราแต่ละคนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว
ทุกครั้งที่เราเข้าโซเชียลมีเดีย เรามองเห็นแต่ของที่เราอยากจะเห็นเพราะทุกอย่างผ่านการคัดเลือกโดยอัลกอริธึ่มมาให้เราแล้ว
เราคลิก เราอ่าน เราดู แล้วเราก็ถลำลงไปในหลุมลึก ล้อมรอบไปด้วยคนที่คิดแบบเดียวกัน และนั่นก็กลายเป็นมุมมองโลกของเราไปโดยปริยาย
ฉันนึกถึงการที่เพจขนาดใหญ่หลายๆ เพจที่สามารถเซ็ตอะเจนดาหรือกำหนดหัวข้อสำคัญในแต่ละวันได้ง่ายๆ ด้วยการแชร์อะไรบางอย่างที่รู้ว่าจะเร้าอารมณ์ผู้ติดตามไปได้ในทางหนึ่ง
จากนั้นก็ส่งผู้ติดตามเหล่านั้นให้กระโดดลงรูกระต่ายเพื่อไปสู้รบกับอะไรก็ตามที่พวกเขาคิดว่าเป็นศัตรู
ขณะที่อัลกอริธึ่มของเฟซบุ๊กก็พร้อมเติมเชื้อไฟให้โพสต์ประเภทนี้ด้วยการจัดให้ไปปรากฏอยู่บนหน้าฟีดของคนเยอะๆ เรากระโดดจากหลุมหนึ่งไปยังอีกหลุมหนึ่งทุกวัน โหยหาว่าเมื่อไหร่เพจไหนจะส่งเราไปที่ไหนต่อเพื่อให้เราได้สำเร็จความใคร่ทางโซเชียลมีเดียไปได้อีกหนึ่งวัน
ทำไมฉันจะไม่รู้ ฉันเองก็ตกเป็นหนึ่งในผู้ติดตามที่กระโดดโลดเต้นเหยงๆ ไปกับเขาด้วยเหมือนกัน

Joanna Stern ผู้เขียนบทความนี้บอกว่าอัลกอริธึ่มสนับสนุนให้คนทำเรื่องแย่ๆ ได้โดยง่าย เธอลองเสนอวิธีแก้ไขบางข้อที่อาจจะทำให้โซเชียลมีเดียของเราแต่ละคนดีต่อสุขภาพจิตของเราเองมากขึ้น
ไอเดียแรกก็คือ โซเชียลมีเดียทั้งหมดจะต้องเอาอัลกอริธึ่มออก และกำจัดโฆษณาทิ้งไปให้หมด
ย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นของโซเชียลมีเดีย เราเห็นโพสต์จากคนที่เราติดตามเท่านั้น ไม่มีคนแปลกหน้าคนไหนสามารถล่วงล้ำเข้ามาในหน้าฟีดของเราได้โดยที่เราไม่อนุญาต
ดังนั้น การปลดโฆษณาทั้งหมดก็จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลลวงได้ยากขึ้น จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นเต็มใจที่จะเสพข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเองเท่านั้น
ข้อเสียของวิธีนี้ก็คือจำนวนคนเล่นโซเชียลมีเดียตอนนี้กับเมื่อก่อนเทียบกันไม่ติดอีกต่อไปแล้ว ถ้าปราศจากอัลกอริธึ่มมาช่วยจัดสรรไทม์ไลน์ให้ ฟีดของเราก็อาจจะเต็มไปด้วยโพสต์เล็กโพสต์น้อยและยากที่จะกลั่นกรองได้ว่าอันไหนน่าสนใจกว่ากัน และหากบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่สามารถขายโฆษณาได้จะเอารายได้ที่ไหนเล่ามาบริหารจัดการ
เป็นไปไม่ได้แหละ
แต่อีกอย่างที่คล้ายๆ กัน และน่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะต้องขายฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกตั้งค่าเองได้ว่าอยากจะใช้ตัวกรองประเภทไหนในการจัดการหน้าฟีดที่เราต้องเห็นทุกวัน
เช่น ตั้งค่าให้เห็นจากเพื่อนทุกคน จากกลุ่มหรือเพจที่ติดตามให้ครบ ปรับโฆษณาออก
และเมื่อไม่มีโฆษณา ผู้ใช้ก็จะไม่ตกเป็นเป้าของโฆษณาและไม่ต้องเสี่ยงถูกเก็บข้อมูลส่วนตัวด้วย

ไอเดียที่สอง ลดความสำคัญของคอนเทนต์ประเภททำลายล้าง
แพลตฟอร์มผู้ให้บริการจะต้องเอาจริงเอาจังในการที่จะลดความสำคัญของคอนเทนต์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลผิดๆ หรืออารมณ์ที่เกรี้ยวกราด และเพิ่มความสำคัญให้กับคอนเทนต์ที่เชื่อถือได้และมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ ถึงแม้ว่าคอนเทนต์เชิงบวกจะดึงดูดความสนใจได้น้อยกว่าคอนเทนต์เชิงลบก็ตาม
คนที่ทำได้สำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่งก็คือยูทูบที่ลดการมองเห็นของวิดีโอประเภททฤษฎีสมคบคิดลง
ทฤษฎีเหล่านี้ก็มีตั้งแต่ความเชื่อว่ามนุษย์เราไม่เคยไปดวงจันทร์ และวิดีโอนักอวกาศเหยียบและปักธงบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่เราเห็นกันมาโดยตลอดคือการจัดฉากของนาซ่า ไปจนถึงการต่อต้านการฉีดวัคซีน
กลุ่มคนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเคยได้ข้อมูลมาจากวิดีโอของยูทูบซึ่งครั้งหนึ่งอัลกอริธึ่มของยูทูบเคยนำเสนอวิดีโอเหล่านี้ให้ผู้ชมดูมาแล้ว
ส่วนเฟซบุ๊กก็พยายามทำแบบเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุด

และไอเดียที่สาม คืนอำนาจในการควบคุมกลับมาให้ผู้ใช้งาน
ผู้ใช้งานควรมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าเราอยากเห็นอะไรบนหน้าฟีดของเรา
เช่น เลือกเฉพาะโพสต์จากคนที่เป็นเพื่อนกันเท่านั้น หรือเพจที่เราติดตามอยู่เท่านั้น หรือเห็นโพสต์ตามเวลาที่มีการโพสต์จริงๆ (ซึ่งอันที่จริงบนเฟซบุ๊กเราสามารถตั้งค่าได้เพื่อให้เราเห็นโพสต์ที่ใหม่ที่สุด แต่วิธีการตั้งค่ามันไม่ได้รวดเร็วและตรงไปตรงมาขนาดนั้น)
โซเชียลมีเดียเคยเป็นช่องทางให้เราติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวได้ง่ายๆ
แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นมากกว่านั้น เราใส่ต้นทุนทางอารมณ์ไปกับมันเยอะอย่างน่าประหลาดใจ หลายๆ กิจกรรมที่เราทำอย่างหมกมุ่นบนโซเชียลมีเดีย เมื่อจบวันหรือเมื่อผ่านไปสักสัปดาห์ เราอาจจะรู้สึกก็ได้ว่าทำไมเรายอมสละเวลา หัวร้อนไปด่าคนแปลกหน้า มากกว่าที่จะไปเขียนแสดงความยินดีกับเพื่อนที่เพิ่งแต่งงานหรือเขียนแชร์เรื่องราวเป็นประโยชน์ที่เราเพิ่งได้เรียนรู้ให้คนอื่นได้รู้บ้าง
ทำไมโซเชียลมีเดียถึงกลายเป็นโลกทั้งใบของเรา และยิ่งลงทุนกับมันเท่าไหร่ โลกใบนี้ของเรากลับยิ่งแคบลงเรื่อยๆ มันไม่ได้ทำให้เราฉลาด รอบรู้ และใกล้ชิดกับคนที่เรารักมากขึ้นเหมือนที่เราเคยคาดหวังเอาไว้ตอนสมัครใช้งานใหม่ๆ เลย
ทั้งหมดนี้นอกจากตัวเราเองแล้วมันอาจจะเกิดขึ้นจากอัลกอริธึ่มก็ได้