เช็กสต็อกหนังสือ : พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ/คู่มือปลุกปั่นเพื่อสร้างสรรค์ กล่องเครื่องมือเพื่อการปฏิวัติ (BEAUTIFUL TROUBLE : A TOOLBOX FOR REVOLUTION)/SCHOOL A’ LA CARTE การศึกษาภาค (อย่า) บังคับ

พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ผู้เขียน จำนวน 347 หน้า ราคา 465 บาท

พุทธศิลป์เป็นมิติทางวัฒนธรรมที่สำคัญมิติหนึ่งซึ่งควบรวมเอาทั้งศาสนา ศิลปะ-วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ของประเทศในภูมิภาคนี้

หนังสือเล่มนี้ซึ่งปรับปรุงจากรายงานวิจัยของศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของงานศิลปกรรมที่จะช่วยให้เราเข้าใจพุทธศาสนาในประเทศไทยและอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งรู้และเข้าใจความเหมือนและความต่างได้อย่างลึกซึ้ง ส่วนแรกจะเป็นภาพรวมของหลักฐานการประดิษฐานพุทธศาสนาในดินแดนไทยและอาเซียน ก่อนที่จะมีการศึกษาเปรียบเทียบงานพุทธศิลป์ที่แบ่งเป็นงานพุทธศิลป์ไทยที่ได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งส่วนใหญ่รับมาจากพม่าที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาสายเถรวาทที่สำคัญรองลงมาคือเขมรที่มีอิทธิพลของศาสนาฮินดู ส่วนที่สองเป็นบทบาทงานพุทธศิลป์ไทยที่มีต่อเพื่อนบ้านซึ่งพบมากในงานพุทธศิลป์ลาวและเขมรในช่วงหลัง

ทั้งนี้ บทสรุปที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งก็คือพุทธศาสนาสายเถรวาทที่เป้าหมายสูงสุดคือนิพพาน ลักษณะทางพุทธศิลป์จะเรียบง่าย ศาสนสถานไม่ใหญ่โต ขณะที่พุทธศาสนาที่มีอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่มีความเชื่อเรื่องเทวราชา จะเน้นศาสนสถานที่ใหญ่โตแข็งแรงตอบสนองต่อความเชื่อเรื่องอำนาจและโลกหน้า รายละเอียดของอิทธิพลของสองสายที่แผ่ไปมาในอาเซียนสะท้อนผ่านลักษณะทางพุทธศิลป์ที่ต่างกันจึงน่าสนใจทีเดียว

คู่มือปลุกปั่นเพื่อสร้างสรรค์ กล่องเครื่องมือเพื่อการปฏิวัติ (BEAUTIFUL TROUBLE : A TOOLBOX FOR REVOLUTION) สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน Andrew Boyd และ Dave Oswald Mitchell บรรณาธิการ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และสรวิสิฏ โตท่าโรง แปล จำนวน 262 หน้า ราคา 250 บาท

เป็นอีกเล่มสำหรับเรียนรู้หนทางการต่อสู้ในแนวสันติวิธี ที่รวบรวมทั้งแนวคิด วิธีการ กลยุทธ์ และบทเรียนจากกิจกรรมการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและการเปลี่ยนแปลงสังคมจากทั่วโลกมาไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ นี้

ขึ้นชื่อว่าคู่มือเพื่อการปลุกปั่น แน่นอนว่าผู้ที่สมาทานก็จะต้องถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาในสายตาผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลาย และแน่นอนว่าแม้จะยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี แต่บางครั้งยิ่งสันติวิธีก็ยิ่งสร้างความปั่นป่วนหรือยิ่งเป็นตัวป่วนที่สร้างความหงุดหงิดไม่พอใจอันนำไปสู่การตอบโต้ตั้งแต่ข่มขู่คุกคาม จนกระทั่งจับกุมคุมขังและเข่นฆ่า

หลังจากจันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการด้านสันติวิธีผู้เขียนคำนำเสนอ ยกกรณีศึกษา “ปฏิบัติการรบกวนความเป็นปกติ” ที่ประชาชนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเบลารุส สเปน นำมาใช้ต่อสู้แล้ว ยังกล่าวไว้น่าสนใจว่าความน่าอัศจรรย์ของหนังสือมิได้อยู่ที่คำแนะนำเชิงเทคนิคให้นักกิจกรรมได้คิดค้นและสานต่ออย่างสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังอยู่ที่นัยทางทฤษฎีว่าด้วยการต้านอำนาจครอบงำที่ฝังลึกอยู่ในความคิด ความเชื่อและการรับรู้ของผู้คน ที่ “ปฏิบัติการรบกวนอย่างสร้างสรรค์นี้” จะต้องทำหน้าที่รบกวนมิให้มันครอบงำและส่งต่อไปยังคนรุ่นลูกหลานได้

ขณะที่ผู้เรียบเรียงก็แนะว่า หากต้องการเห็นการเชื่อมโยงของมโนทัศน์การเคลื่อนไหวเหล่านี้ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ beautifultrouble.org และท้ายเล่มยังมีภาคผนวกแนะนำช่องการติดต่อและติดตามเจ้าของไอเดียแสบๆ ทั้งหลาย รวมทั้งหนังสือและเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลและไอเดียเหล่านี้ไว้ด้วย

พลิกอ่านแล้วจะรู้ว่าหลายกลยุทธ์ เยาวชนคนรุ่นใหม่บ้านเราได้ดัดแปลงนำมาใช้ในการขับเคลื่อนช่วงที่ผ่านมาอย่างมีสีสันและทรงพลังไม่น้อย

SCHOOL A’ LA CARTE การศึกษาภาค (อย่า) บังคับ สำนักพิมพ์ a book โคลญ่า ผู้เขียน จำนวน 145 หน้า ราคา 235 บาท

เกริ่นไปที่ปกว่า “คู่มือทำความเข้าใจโลกการศึกษาของเด็กไทย เพื่อให้รู้ว่าอิสรภาพในการเลือกยังเป็นของเรา” ช่างสอดคล้องกับการตั้งคำถามของเด็กนักเรียนยุคนี้ที่ออกมาขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องคุณค่าและเสรีภาพในการศึกษาต่อสังคมและผู้มีอำนาจ

โคลญ่าผู้เขียนที่เป็นแม่ลูกหนึ่งพยายามโน้มน้าวให้เห็นการศึกษาภายใต้ทางเลือกใหม่ (ที่เราอาจเลือกที่จะไม่เลือกก็ได้) ให้กับผู้อ่าน ในภาวะที่การศึกษาภาคบังคับทั้งหลายในบ้านเราได้แต่จมปลักอยู่กับแนวคิดเดิมที่มุ่งบ่มเพาะและผลิตคนให้เป็นหุ่นยนต์ แม้จะพยายามพร่ำพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา แต่ความจริงมันไม่เคยก้าวไปถึงไหน

เธอรวบรวมหลักคิดของนักคิดนักการศึกษาทั้งหลาย ข้อมูล พัฒนาของกระบวนการจัดการศึกษาทางเลือกของทั่วโลก มาเขียนให้อ่านกันง่ายๆ สนุกสนาน แต่ก็เต็มไปด้วยข้อเสนอที่ตรงเป้า ชัดเจนว่าการศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่ออิสรภาพ ทั้งอิสรภาพทางความคิด อิสรภาพของการแสดงออก อิสรภาพในความเป็นมนุษย์ที่จะพัฒนาเติบโตไปตามศักยภาพและเจตจำนงของตนเอง ไม่ใช่การปิดประตูใส่หน้าเด็ก ก่อนที่จะนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะช่วยกันสำรวจระบบการศึกษาในบ้านเราว่ามันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและเรามีทางเลือกอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้เด็กๆ ส่วนหนึ่งก็แสดงออกชัดเจนแล้วว่าเพวกเขาเลือกที่จะไม่ทนกับทางเลือกแบบเดิมและต้องการการศึกษา “เพื่อความเป็นไท”

คนเป็นพ่อ-แม่จึงควรอ่านและเปิดใจกว้างหากลูกจะขอมีทางเลือกของตัวเองในท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง ที่โรงเรียนอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป

คํา คม คิด

“ถ้าเราสอนเด็กวันนี้เหมือนอย่างที่เคยสอนเมื่อวาน เรากำลังปล้นอนาคตจากพวกเขา”

จอห์น ดิวอี้