2 นักรัฐศาสตร์พิเคราะห์การเมือง 2564 จับตา “ม็อบในม็อบ” ระวัง “ม็อบชนม็อบ”

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2564 ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวี ไปพูดคุยกับสองนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ ได้แก่ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อขอให้ทั้งคู่ช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเมืองไทยที่อาจจะเกิดขึ้นในขวบปีนี้

ดร.กนกรัตน์เริ่มต้นด้วยการประเมินพลังทางการเมืองของตัวละครสองกลุ่มสำคัญ ฝ่ายแรกคือรัฐไทย-ชนชั้นนำปีกอนุรักษนิยม ฝ่ายหลังคือขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย

โดยสิ่งที่เราพบเห็นในปีที่ผ่านมาก็คือ จุดเริ่มต้นของการพูดคุย-ต่อรอง ผ่านการโยนข้อเรียกร้อง 10 ข้อ หรือ 3 ข้อ ของคนรุ่นใหม่ ทว่าสิ่งที่ทุกคนยังไม่เห็นก็ได้แก่ท่าทีประนีประนอม โดยเฉพาะจากฝ่ายผู้มีอำนาจ

“ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ (แก้ไข) รัฐธรรมนูญ การอยากให้ท่านนายกฯ ลาออก หรือการปฏิรูปสถาบัน เรายังไม่เห็นการปรับตัวของผู้ใหญ่ในทั้ง 3 เรื่อง

“หนึ่ง (แก้) รัฐธรรมนูญ (ด้วยร่างฉบับประชาชน) ที่พยายามเรียกร้อง เราก็ไม่เห็นการยอมรับเพื่อที่จะตั้งกรรมาธิการหรือกระบวนการในการผลักดัน ดูมันช้าและไม่ทันการณ์ เรื่องที่สองก็คือเรื่องของ (การเปลี่ยน) ตัวผู้นำ เราก็ไม่เห็น โดยเฉพาะในวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา เราก็เห็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างชัดเจน เรื่องที่สามก็คือ การเริ่มใช้ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) กับเยาวชนในวงกว้างมากขึ้น

“อันนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจว่ารัฐไทยที่ดิฉันบอกว่าเข้มแข็งมาก เขายังอยู่ในตำแหน่งที่ยืนยันว่าไม่ปรับ ซึ่งทำไมจะไม่ปรับ มันก็มีหลายเหตุผล อย่างที่ดิฉันบอก คือรัฐไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน กว้างขวาง ลึก เข้มแข็ง การที่จะปรับตัวขององคาพยพของรัฐที่มันพัฒนาตัวมาเป็นร้อยปี กับสิ่งที่เยาวชนเรียกร้องที่มันเปลี่ยนแบบท้าทายเขามากในช่วงเวลาไม่กี่เดือน (ทำให้) รัฐไทยปรับตัวยากมาก คือมันไม่ใช่เรื่องง่าย”

สถานการณ์อึดอัดอึมครึมดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการเมืองไทยปี 2564 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปใด?

“เมื่อไม่ปรับ ปีหน้าเราจะเจออะไร ดิฉันคิดว่าแน่นอน ขบวนการของเยาวชนตื่นตัว กว้างขวาง แต่พลังของเขาในการที่จะยกระดับขึ้นไป มันจะไปได้ถึงที่ไหน?

“อันนี้ตีความได้ทั้งแบบมองว่าอาจจะค่อยๆ ลดขนาดลง หรือถูกจับ ปราบ ถูกดำเนินคดี แกนนำทั้งหมดและม็อบหายไป แล้วเราก็รออีก 2-3 ปี ที่คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในชั้นมัธยมซึ่งตอนนี้ตื่นตัวทางการเมืองมากเริ่มกลับเข้ามา เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองแย่กว่านี้ เช่น เศรษฐกิจจากโควิดมันส่งผลกระทบที่แย่กว่านี้ หรือความชอบธรรมของรัฐบาลหรือสถาบันอนุรักษนิยมเจอกับวิกฤตครั้งใหม่

“อันนี้ก็ตีความแบบนี้ได้ ว่าปีหน้าเราอาจจะเห็นความเงียบ

“แต่ถ้าตีความอีกแบบหนึ่ง ซึ่งพวกเขาก็ทำเซอร์ไพรส์ ที่เราคิดว่าแกนนำจำนวนมากถูกจับในช่วงระหว่างวันที่ 13-16 (ตุลาคม 2563) ม็อบน่าจะซา แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ ตอนนี้เราเห็น dynamics (พลวัต) ของการเกิดขึ้นของ “ม็อบในม็อบ” เยอะแยะไปหมด

“ตอนนี้เครือข่ายของม็อบในม็อบ ไม่มีอะไรยึดโยงกับแกนนำแล้ว กลุ่มสตรีปลดแอก กลุ่มราษแดนซ์ กลุ่มเด็กชั้นมัธยม เครือข่ายโรงเรียนที่หลากหลาย และความสำเร็จที่มันเป็น daily life politics หรือการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

“การชูสามนิ้ว การไม่ใส่ชุดนักเรียน มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่การดื้อกับคุณครูนะ แต่ว่ามันเป็นเหมือนกับพวกเขาได้รับการบอกว่าเขาชนะระดับหนึ่งแล้ว แล้วการที่พวกเขาชนะมันแปลว่าอะไร? ข้อเรียกร้องของเขามันก็จะมากขึ้นและ (แพร่ขยาย) ในวงกว้างมากขึ้น โดยที่แกนนำไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทก็ได้

“ซึ่งอันนี้มันอาจจะไม่หยุดก็ได้ ข้อเรียกร้องจะยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่หรือรัฐไทยก็ไม่ประนีประนอม เพราะพวกเขาเข้มแข็งมาก แล้วต้นทุนมันไม่มีอะไรเลยกับการที่ต้องประนีประนอม คือไม่ประนีประนอมมา 7 ปี รัฐบาล (ประยุทธ์) ก็สามารถอยู่ได้ ทำไมจะต้องประนีประนอม?

“การขยายวงกว้างมากขึ้นของคนรุ่นใหม่มันคือคนหลักแสน ซึ่งสำหรับรัฐไทยที่มีกลไกระบบราชการที่กว้างขวาง ลึก คนหลักแสนไม่ใช่ปัญหาของรัฐไทยที่มีความเข้มแข็ง อันนี้ประเมินแบบรัฐไทยที่มีวิธีคิดแบบนี้”

แม้อนาคตจะแลดูมืดมิดไร้ทางออก แต่อาจารย์กนกรัตน์ยังมองโลกในแง่ดีว่า ช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา พวกเราต่างประจักษ์ชัดกับสายตาตนเองว่าสังคมไทยนั้นเปลี่ยนไปเร็วมาก ด้วยเรื่องราวที่ผู้คนมักคาดไม่ถึง

ตั้งแต่การประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีข้อจำกัดเยอะแยะ มาจนถึงการเกิดขึ้นของม็อบราษฎร 2563

จึงเป็นไปได้ว่าเราอาจพบกับ “เรื่องราวเซอร์ไพรส์” ที่คาดเดาไม่ได้เช่นกันในปี 2564

ทางด้าน ดร.ประจักษ์ ประเมินสถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาและแนวโน้มปีหน้าคล้ายคลึงกับ ดร.กนกรัตน์ แต่เพิ่มเสริมความวิตกกังวลเรื่อง “ความรุนแรง” ที่อาจเกิดขึ้นได้เข้าไป

“ต้องประคับประคองไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่สถานการณ์มันคงตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เพราะว่าข้อเสนอทั้ง 3 ข้อยังไม่บรรลุผลเลยสักข้อเดียว คือรัฐเองไม่ยอมผ่อนปรนเลยสักข้อเดียว คือถ้าผ่อนปรนบ้างสถานการณ์มันก็จะไม่ตึงเครียด ทีนี้ถ้ามันมีการชุมนุมที่มันใหญ่โตขนาดนี้ เขายื่นข้อเรียกร้องแล้วรัฐไม่คิดจะประนีประนอมบ้าง หรือยอมปรับตัวบ้าง ตอบรับข้อเสนอบ้าง สถานการณ์มันก็ย่อมตึงเครียด

“3 ข้อปฏิเสธหมดเลย คราวนี้จะทำอย่างไร? ถ้าไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครอยากให้เกิดในสังคมไทย

“หนึ่ง ทางม็อบเขาระมัดระวังอยู่แล้ว ม็อบเป็นม็อบที่ยึดมั่นในสันติวิธีมาก อย่างที่เราคุยกัน กระทั่งนักสันติวิธีหลายคนก็ออกมาเขียนบทความศึกษาม็อบนี้แล้วด้วยซ้ำ และอธิบายให้เห็นว่าเป็นม็อบที่สันติวิธีมากที่สุดม็อบหนึ่งอย่างไร และเขาค่อนข้างมีวินัยในการจัดระเบียบกันเองและเรียนรู้จากความผิดพลาด ฉะนั้น ในฝั่งการชุมนุมเคลื่อนไหวของคณะราษฎร ผมมองว่าเขาหลีกเลี่ยงการปะทะ

“อันนี้มันก็ไปลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงได้ กระทั่งความเสี่ยงหลายอย่างที่มันเคยเกิดความผิดพลาดขึ้นในการชุมนุมบางครั้ง เขาปรับเร็วมาก โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงที่มันน่ากลัวกว่า คือจากฝั่งรัฐนี่แหละ เราจะเห็นว่าที่ผ่านมา อยู่ดีๆ ก็มาฉีดน้ำ มายิงแก๊สน้ำตา หรือมาสลายการชุมนุมโดยที่นักศึกษาและประชาชนเองเขายังไม่ได้ปะทะ ไม่ได้ใช้วิธีการอะไรเลยที่รุนแรง

“ตรงนี้ก็ต้องป้องกันไม่ให้มันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ฉะนั้น ถ้านักศึกษาเขายึดมั่นในสันติวิธี แล้วรัฐเองก็ไม่ใช้กำลังในการสลายการชุมนุม อันนี้ความรุนแรงมันก็ไม่เกิด”

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งพลังที่ประมาทไม่ได้ในทัศนะอาจารย์ประจักษ์คือ “มวลชนจัดตั้ง” หรือ “มือที่สาม” ซึ่งมิได้เป็นกองกำลังอันเป็นทางการของรัฐ

“แต่ที่มันน่ากลัวคือการจัดตั้งมวลชนมาปะทะ จะมือที่สามหรือรัฐจัดตั้งเอง อันนี้แหละที่สังคมต้องช่วยกันจับตามอนิเตอร์ รวมถึงสื่อด้วย กลุ่มม็อบที่เอามาชนม็อบนี่แหละ ตรงนี้แหละที่จะเกิดความรุนแรงได้มากที่สุด

“ปีหน้า (2564) ถ้าถามว่าจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหนที่จะเกิดความรุนแรง? ผมกลัวตรงนี้ รูปแบบ “ม็อบชนม็อบ” แล้วก็ใครก็ไม่รู้อะไรแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะว่าไม่ใส่เครื่องแบบ แล้วมีการจัดตั้งกันมา แล้วมีแนวโน้มที่จะยั่วยุ แล้วเข้ามาทำร้าย ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา

“มันก็มีเหตุมาแล้วหลายกรณี แต่ว่าปัญหาคือรัฐไม่ยอมดำเนินคดี ไม่ยอมบังคับใช้กฎหมาย อันนี้เป็นบทเรียน (ก่อน) 6 ตุลาฯ ก็เกิดแบบนี้ ก่อนที่จะมาเกิด (เหตุสังหารหมู่) วันที่ 6 ตุลาฯ ก็คือมีการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย ลอบสังหาร ตีหัว จ้างกลุ่มอันธพาลมาป่วนการชุมนุม

“ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเราต้องมอนิเตอร์กันให้ดี”