แนวคิดของอิกบาล ว่าด้วยพระเจ้า ศาสดา และมนุษย์ในอิสลาม (1)/มุมมุสลิม- จรัญ มะลูลีม (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

จรัญ มะลูลีม
มุฮัมมัด อิกบาล (Muhammad Iqbal) ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ.1873

มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม

แนวคิดของอิกบาล

ว่าด้วยพระเจ้า ศาสดา และมนุษย์ในอิสลาม (1)

มุฮัมมัด อิกบาล (Muhammad Iqbal) ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ.1873 ที่เมืองสิอัลก็อต ปากีสถาน
บรรพบุรุษของเขาเป็นพราหมณ์วรรณะชาปูร จากกัษมีระ (แคชเมียร์หรือแคชมีร)
บิดาของปู่ของเขาย้ายมาจากแคว้นปัญจาบเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 (ฮ.ศ.1289) เพื่อมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่สิอัลก็อต อันเป็นเมืองประวัติศาสตร์
บิดาของเขาคือ นูร มุฮัมมัด (Nur Muhammad) เป็นคนใจบุญซึ่งถือว่าศาสนาเป็นประสบการณ์ที่มีชีวิต
เมื่อจบโรงเรียนมัธยมแล้ว อิกบาลได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาในเมืองละโฮร์ (Lahore) ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของอุดมศึกษา
อิกบาลได้เลือกเรียนวิชาปรัชญาเป็นวิชาสำคัญโดยมีโธมัส อาร์โนลด์ (Thomas Arnold) เป็นครู นับว่าอิกบาลโชคดีเพราะเขาเป็นครูที่ไม่ธรรมดาเลย
เมื่อได้เรียนสิ่งที่ปรัชญาตะวันตกสอนให้จบจุใจแล้วอิกบาลก็ไปทำปริญญาเอกที่เยอรมนีเพราะตอนนั้นมหาวิทยาลัยอังกฤษไม่มีปริญญาที่สูงกว่าปริญญาโท
เมื่อได้รับวิชาปรัชญาจากตะวันตกแล้ว อิกบาลก็คิดจะชดใช้หนี้ให้โดยแนะนำตะวันตกให้รู้จักกับความคิดด้านปรัชญาในสมัยก่อนอิสลาม และในเปอร์เซียหลังอิสลาม

อิกบาลได้กลายเป็นกวีที่มีชื่อเสียง แวดวงนักวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศของเขายกย่องว่าเขาเป็นดาวดวงใหม่ในท้องฟ้าของภาษาอุรดู (Urdu) มีแต่ฆอลิบ (Ghalib) เท่านั้นที่เคยได้รับเกียรติมาก่อน
อิกบาลเป็นทายาทของนักวิชาการด้านอักษรศาสตร์และปรัชญาที่อุดมสมบูรณ์มาก เขาดูดดื่มและกลืนเอาทั้งหมดที่ดีที่สุดในความคิดแบบอิสลามและแบบตะวันออกแล้วก็เติมความรู้อันกว้างขวางของเขาในเรื่องวรรณกรรมตะวันตกลงไปด้วย รวมทั้งปรัชญาและวัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน
อิกบาลสนใจในสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ การเมือง เศรษฐศาสตร์ ลัทธิชาตินิยม การฟื้นฟูชีวิตของมุสลิมและภราดรภาพสากลของมนุษย์ เขามิได้มีแต่ความสามารถที่จะเขียนบทกวีในภาษาของเขาเองเท่านั้น แต่สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย

อิกบาลกลับมาประเทศปากีสถานเมื่อ ค.ศ.1903 (ฮ.ศ.1327) พร้อมกับทัศนคติใหม่ซึ่งไม่ใช่แบบตะวันออกหรือตะวันตก
เขาสรุปว่าเมื่อความก้าวหน้าทางวัตถุของตะวันตกซึ่งเอียงข้างเดียวเป็นไปอย่างไม่มีจริยธรรมและไม่เป็นไปในเชิงจิตวิญญาณ
ดังนั้น ความเคร่งศาสนา (Religiosity) ของตะวันออกจึงถูกตะวันตกมองว่าเป็นพลังที่กลวงโบ๋และทำลายชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ขอบเขตของจิตใจจึงจะต้องถูกค้นพบอีกโดยทั้งตะวันออกและตะวันตก
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนมากของตะวันตกมีคุณค่าและตะวันออกต้องเรียนรู้และรับมันมาใช้เพื่อจะกำจัดความยากจน ความเสื่อมโทรมและโรคร้าย แต่ตะวันออกต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก ในการบูชาอำนาจทางวัตถุว่าเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง
พลังต่างๆ ที่ตะวันออกปล่อยออกมาต้องเป็นไปเพื่อจุดหมายทางจริยธรรมและจิตวิญญาณ ทัศนคติทางศาสนาเท่านั้นจะสามารถช่วยมนุษย์แต่ทัศนคตินี้ต้องมีการตรวจตราและสร้างขึ้นใหม่
อิกบาลเข้าใจอิสลามว่าเป็นศาสนาสากลซึ่งหลับตาเห็นมนุษยชาติทั้งหมดเป็นเอกภาพ แต่อิสลามในสมัยของอิกบาลถูกทำให้คับแคบแข็งกร้าวและหยุดนิ่ง
อิกบาลคิดว่าชีวิตต้องเคลื่อนไหวและวิวัฒนาการ โดยสรุปว่าคำสอนด้านศาสนาที่แข็งเป็นหินแล้วย่อมไม่สามารถให้กำเนิดทัศนคติที่จะนำไปสู่การรู้จักตัวเองของปัจเจกชนและชุมชนได้
อิกบาลเข้าใจพระเจ้าหรือตัวตนแห่งสากลจักรวาลว่าเป็นพระผู้สร้างตัวตน (หรือ Self ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น) หรือปรากฏออกมาจากกิจกรรมสร้างสรรค์ชั่วนิรันดร์ของพระองค์ในระดับความสำนึกต่างๆ

อิกบาลเป็นกวีพอๆ กับที่เป็นนักปรัชญา แต่เขาก็เป็นนักการศาสนาซึ่งศาสนาเป็นประสบการณ์สำคัญ อิกบาลถือว่าในชีวิตของมนุษย์ศาสนาย่อมสำคัญและเป็นศูนย์กลางยิ่งกว่าปรัชญาเพราะว่าศาสนาเป็นระบบแห่งความจริงแท้ทั่วๆ ไปซึ่งมีผลในการเปลี่ยนรูปนิสัยใจคอมนุษย์ได้เมื่อเขายึดถือศาสนาอย่างจริงใจและเข้าใจศาสนาอย่างมีชีวิตชีวา
แต่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ย่อมไม่สามารถพึงพอใจกับความศรัทธาได้จนกว่าเขาจะพบเหตุผลที่จะเห็นด้วยกับศรัทธาดังกล่าว ในเรื่องนี้หน้าที่ทางศาสนาจึงต้องการรากฐานทางเหตุผลมากกว่า แม้แต่คำสอนทางวิทยาศาสตร์ การปรองดองกันของประสบการณ์ตรงกันข้ามเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับคนที่มีศาสนาและมีเหตุผล ความคิดและสัญชาตญาณ (หรือความศรัทธา) ต้องการกันและกันเพื่อชุบชีวิตกันและกัน อิสลามสอนถึงความสอดคล้องพื้นฐานระหว่างเหตุผลกับวิวรณ์ (วะฮีย์)
เหตุผลในฐานะที่เป็นเครื่องบอกกล่าวถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติทางกายภาพและจิตใจมนุษย์ได้ถูกแสดงออกโดยอัล-กุรอานให้เป็นการเห็นพ้องกันอย่างสมบูรณ์กับความศรัทธาในพระเจ้า

ความคิดเรื่องพระเจ้าของอิกบาลคือบทพิสูจน์ของทรรศนะของเขาในเรื่องธรรมชาติของความเป็นจริงสูงสุดเพราะว่าเขากล่าวว่าพระเจ้าคือความเป็นจริงสูงสุด แต่เขาเป็นผู้นับถือพระเจ้าไม่ใช่พวกโมนิสท์ (ผู้ถือลัทธิที่ว่าใจกับร่างกายเป็นสิ่งเดียวกัน) หรือพวกที่ถือว่าพระเจ้ามีอยู่ทั่วไป

ไม่ใช่แต่พระเจ้าเท่านั้นที่เป็นจริงแต่ตัวตนที่สร้างโดยพระองค์ก็เป็นจริงด้วย พระเจ้าจะเป็นตัวตนที่สมบูรณ์ อิกบาลได้รับความเข้าใจในพระเจ้ามาจากอัล-กุรอานซึ่งพระเจ้าอยู่เหนือสิ่งอื่นใด
ปัญหาเรื่องเจตนารมณ์อิสระในมนุษย์มิได้ทำให้อิกบาลลำบากใจมากนัก ความลำบากเกิดขึ้นจากการตัดสินด้วยคณิตศาสตร์ ซึ่งเขาปฏิเสธโดยหาการสนับสนุนจากความคิดเรื่องวัตถุและลัทธิพรหมที่เสนอโดยนักปรัชญาอย่างไอน์สไตน์และเอ็ดติงตัน
สมัยใหม่ได้ผลิตทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับลัทธิพรหมลิขิตทางด้านกายภาพและจิตวิทยา ศาสนวิทยาแบบมีพระเจ้าไม่สามารถที่จะทำให้อิสรภาพอันนับไม่ถ้วนของพระเจ้าและความรู้ล่วงหน้าปรองดองกับอิสรภาพของมนุษย์ได้
อิกบาลแก้ปัญหาโดยการปฏิเสธความรู้ล่วงหน้าโดยให้พระเจ้าประทานอิสรภาพให้แก่ตัวตนมนุษย์ เขายอมรับว่าการเกิดขึ้นของตัวตนมีพลังแห่งการกระทำที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ฉะนั้น จึงไม่เห็นล่วงหน้าถึงการจำกัดอิสรภาพของตัวตนทั้งหมด แต่ข้อจำกัดนี้มิได้ถูกบังคับให้มาจากภายนอก มันมาจากอิสรภาพในการสร้างสรรค์ของพระเจ้าเอง
ซึ่งพระองค์ทรงเลือกคนบางคนให้มีส่วนร่วมในชีวิตอำนาจและอิสรภาพของพระองค์

สําหรับอิกบาลแล้วภาพของความทุกข์ทรมานและการกระทำผิดมีอยู่ทั่วโลก ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการกระทำผิดเท่านั้น แม้แต่ความพยายามที่จะทำสิ่งที่ถูกด้วยก็เช่นกัน ความเป็นอยู่หรือชีวิตไม่อาจจะเป็นไปได้ถ้ามันไม่พบกับการต่อต้าน แต่ความดีของพระเจ้าอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่าความเป็นอยู่นั้นบรรจุไว้ ซึ่งพลังซึ่งอาจเอาชนะความชั่วร้ายได้ ไม่มีความชั่วร้ายใดจะสมบูรณ์
สารเคมีแห่งชีวิตจะสามารถเปลี่ยนความชั่วให้เป็นความดีได้ อิกบาลเห็นด้วยกับ Fichitec ว่าชีวิตสร้างแรงต้านทานเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาตัวมันเอง
ผู้ที่ถามว่าทำไมจึงมีความชั่วร้ายอยู่ในชีวิตนั้นเข้าใจผิดว่าอาจะมีชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวดและความชั่ว ถ้าการพัฒนาทางศีลธรรมและจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่ดี ใครจะทำได้สำเร็จ ถ้าไม่มีการต่อต้านจากภายนอก?
ถ้าจะถามอิกบาลว่าเขาเชื่อในชัยชนะของความดีต่อความชั่วในที่สุดหรือไม่ ด้วยความยึดแน่นในทัศนะเรื่องชีวิตของเขาว่าเป็นกิจกรรมแห่งการสร้างสรรค์อยู่ชั่วนิรันดร์
วิสัยทัศน์ของอิกบาลในเรื่องชีวิตหลังความตาย จึงมิใช่สวรรค์ซึ่งความปรารถนาทุกอย่างที่ยังไม่สำเร็จจะต้องได้รับความสำเร็จชั่วนิรันดร์
สำหรับอิกบาลรางวัลของความดีไม่ใช่สวรรค์แสนสำราญ รางวัลของชีวิตก็คือชีวิตที่สูงขึ้นไป แต่กระนั้นตัวตนของเขาก็ยังต้องเผชิญกับการต่อต้านอยู่อีก
สวรรค์ของอิกบาลไม่ใช่สวรรค์ที่อาดัมและอีวา (เฮาวา) เคยอยู่ ทั้งนี้ เขาได้ให้ความหมายเรื่องการตกสวรรค์ของมนุษย์เอาไว้ด้วย
ซึ่งอิกบาลเชื่อว่าเรื่องราวในอัล-กุรอานเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการปรากฏตัวครั้งแรกของมนุษย์บนโลกนี้
อิกบาลนำเสนอว่าอัล-กุรอานมุ่งหมายที่จะชี้ว่ามนุษย์ขึ้นมาจากภาวะเก่าแก่ของการใช้สัญชาตญาณมายังการมีตัวตนอิสระ สามารถสงสัยและไม่เชื่อฟังได้
การตกจากสวรรค์ก็มิได้หมายถึงความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมใดๆ
มันคือการเปลี่ยนรูปของมนุษย์จากความสำนึกแบบต่างๆ ไปสู่แวบแรกของความสำนึกตนเป็นการตื่นจากฝันของธรรมชาตินั่นเอง