การทำนิพพานให้แจ้ง (2) | เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สูตรสำเร็จในชีวิต (46)

การทำนิพพานให้แจ้ง (2)

คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า คำว่า “นิพพาน” ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้นั้น ทรงหมายเอา การดับกิเลสและกองทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
เน้นคำว่า “โดยสิ้นเชิง” คือดับได้หมดไม่มีเหลือแม้นิดเดียว
นิพพาน ที่เป็นจุดหมายสูงสุดจะต้องเป็นการดับกิเลสได้หมดโดยสิ้นเชิงเท่านั้น การดับกิเลสได้บางส่วน ดับได้เป็นบางคราว อาจเรียกโดยอนุโลม (เน้น “อนุโลม”) ได้ว่านิพพาน เหมือนกัน แต่เป็นการยืดหยุ่นผ่อนคลายเท่านั้น อย่าเอาไปปนกับนิพพานที่เป็นจุดหมายสุดท้าย
อย่างเช่น การดับกิเลสของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี นั้นจะอนุโลมเรียกว่านิพพานก็ได้ เป็นนิพพานโดยอนุโลม (ในตำราท่านใช้ศัพท์ว่า “นิโรธ” ในกรณีนี้)
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า มิใช่นิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุด และอย่าเอาไปปนกับ “สอุปาทิเสสนิพพาน” มันคนละเรื่องกัน
ที่แปลกันว่า “สอุปทิเสสนิพพาน” คือ ดับกิเลสไม่หมด นั้นแปลกันผิด
“สอุปาทิเสสนิพพาน” ก็ดี อนุปาทิเสสนิพพาน” ก็ดี ทั้งสองคำนี้เป็นชื่อของนิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุด กิเลสดับหมดไม่มีเหลือทั้งสองอย่างครับ ไม่มีอย่างไหนดับหมดหรือไม่หมด

ที่อาจารย์บางท่าน “อนุโลม” ถึงขนาดว่า ขณะใดจิตใจเราสบาย สงบ ไม่คิดจะเอาจะได้ เรียกตามคำขอท่านว่า ไม่มีตัวกู ของกู ปุถุชนเรานี้แหละ เกิดความสงบสบายอย่างนี้ขณะใด เรียกว่า นิพพาน พูดไม่ผิดดอกครับ เป็นการอนุโลม หรือ “ลดเพดาน” ลงว่า จะเรียกภาวะอย่างนี้ว่านิพพานก็ได้
แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่นิพพานจริงๆ นะเจ้าคะ สมมุติว่าเป็นว่างั้นเถอะ พูดไปพูดมาบ่อยๆ คนพูดก็อย่าเผลอว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็แล้วกัน
เหมือนใครสักคน เอาผมก็ได้ ไม่อยากยกคนอื่น สมมุติว่าผมกำลังรักใครสักคนหนึ่งอย่างสุดสวาทขาดใจ เวลามองสายลมแสงแดดก็รำพึงรำพันด้วยความสุขใจ
“สายลมเอย พัดไปเถิดไปยังนิวาสสถานของสุดที่รักของฉัน พัดเธอแล้วรีบกลับมาพัดฉัน ฉันขออาศัยเจ้าเป็น ‘สื่อ’ สัมผัสนิ่มเนื้อของเธอ และมองความงามของเธอไปที่ดวงจันทร์ เท่านี้ก็มากพอสำหรับคนที่รักกันเท่านี้ก็มีชีวิตอยู่ได้ เธอและฉันสูดอากาศเดียวกันหายใจ และปฐพีที่เราเหยียบย่ำอยู่ก็ผืนเดียวกัน” (วันนี้ขอยกอุปมาวัยรุ่นหน่อยนะขอรับ)
ความสุขที่ผมมีในขณะที่ว่านี้นั้น ผมอาจพูด “หลวมๆ” ว่าผมมีความสุขเท่ากับได้ขึ้นสวรรค์นิพพาน
แต่ไม่ใช่ดอกครับ อนุโลมให้พูดได้ถ้าอยากพูด มันก็เท่านั้นเอง

จึงอยากติงว่า อยากอนุโลม หรือ “ลดเพดาน” ลงอย่างใดในเรื่องอะไรก็ตาม ก็ขออย่าได้ถือเป็นจริงเป็นจังว่า “อย่างนี้แหละเรียกนิพพาน”
ที่บางท่านว่า เอาสัตว์มาฝึกจนมันหายดุร้าย สัตว์นั้นก็ “นิพพาน” ข้าวต้มร้อนๆ มันเย็นลงก็เรียกข้าวต้ม “นิพพาน” หรือจิตใจสงบไม่คิดอยากได้อยากเอาใจขณะนั้นก็เรียกว่า “นิพพาน” อะไรทำนองนั้น ที่จริงมันก็คือ สัตว์ร้ายหายดุ ข้างต้มเย็นจิตสงบ แค่นั้นเองไม่เกี่ยวกับนิพพาน (การหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง) แต่ประการใด
นิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนามิใช่ตื้นๆ ง่ายๆ เช่นนั้นดอกครับ