เปิดคำพยากรณ์ดวงชะตาโลก และดวงประเทศไทย ปี พ.ศ.2564

พยากรณ์ดวงชะตาโลกและดวงประเทศไทยโดยภาพรวมประจำปี พ.ศ.2564 ดวงวันเหมายัน (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 17:02:00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย 105 องศาตะวันออก ดวงอาทิตย์สถิตราศีมกร 00 องศา 00 ลิปดา 00 พิลิปดา

(ภาพจากโปรแกรม Solar Fire)

จับตาดวงชะตาโลก

รอบปี พ.ศ.2564 เป็นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวงรอบการโคจรมาทำมุมกุม (0 องศา) ของดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ในรอบ 20 ปีจะเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง

อิทธิพลของการกุมของดาวพฤหัสฯ กับดาวเสาร์ จากบันทึกโบราณกล่าวไว้ว่า

“ความยุ่งยากเกิดขึ้นได้หลายทาง อำนวยความอับโชคให้กับการเงินของเเผ่นดิน ตลาดการค้า การจัดเก็บภาษีลดลง ธุรกิจและการค้าจะตกต่ำ อาจจะมีการเก็บภาษีที่ไม่เป็นที่ชอบของมหาชน เกิดความคับขันและผันแปรทางการเงิน การศาสนาจะตกต่ำ ประเทศจะถูกกระทบกระเทือน รัฐบาลจะถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก” (อ้างอิงจากเฟซบุ๊ก อ.วรเชษฐ์ ตียเกษม)

ในรอบ 20 ปีของดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์กุมกันครานี้ อุบัติภัยครั้งใหญ่ของโลกคือการเกิดโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

การเกิดโรคไวรัสที่ระบาดรุนแรงนี้ คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมหาศาลทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง สังคม รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

และที่สำคัญที่สุด วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกันไม่เว้นชาติใดชาติหนึ่ง

จากปีที่ผ่านมาผลของการเกิดโควิด-19 สร้างความวิบัติอย่างกว้างขวางส่งผลต่อความตายคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปกว่าหลายสิบล้านคน นับว่าเป็นตัวเลขมหาศาล สร้างความหวั่นวิตกและน่าสะพรึงกลัวจากการรายงานข่าวในแต่ละวัน ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสังคมในการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างคาดไม่ถึง การประเมินความเสียหายครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก รุนแรงและเลวร้ายยิ่งกว่าการเกิดสงครามโลก

ตามคำพยากรณ์ในรอบไตรมาสที่ 4 ถึงผลการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ก็ได้เกิดขึ้นแล้วตามคำพยากรณ์ อ่านคำพยากรณ์ดวงชะตาโลกและประเทศไทย ไตรมาส 4 ประจำปี พ.ศ.2563 ตีพิมพ์ลงมติชนสุดสัปดาห์ ตามลิงก์ (https://www.matichonweekly.com) มาตรการการป้องกันและการระงับการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน หลายประเทศจะร่วมมือกันในการนำวัคซีนและหาวิธีการรักษาโควิด-19

การดำเนินชีวิตของคนทั่วโลกภายใต้วิกฤตโควิด-19 จะเห็นผลความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ผลต่อเนื่องของการปรับตัวจากการใช้ชีวิตในปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มเรียนรู้ ปรับตัว หาวิธีการเพื่อให้อยู่รอด

ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวยอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ส่งผลกระทบโดยตรงในด้านรายได้ การศึกษา โอกาสต่างๆ ทางสังคม จะเห็นการเอาเปรียบแก่งแย่งชิงผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อความอยู่รอดมากยิ่งขึ้น

พฤติกรรมทางสังคมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านเลวร้ายลง จิตสำนึก ตลอดจนทัศนคติของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อมใหม่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนบนโลกนี้

จะเห็นความแตกแยกระหว่างชนชั้น ความต่างของวัย ที่ส่งผลต่อการยอมรับเชื่อฟังคำสอนน้อยลงทุกที

สิ่งนี้นำไปสู่ความแตกต่างของความคิดก่อให้เกิดความขัดแย้งราวกับการเกิดสงครามเย็น

วิกฤตความแปรปรวนต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เกิดเหตุไฟไหม้ ลมพายุ แผ่นดินไหว ตลอดจนน้ำท่วมในบางประเทศ มีโอกาสเกิดซ้ำและบ่อยครั้งกับประเทศที่เคยเกิดและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่สำเร็จ มีเพียงการเฝ้าระวังและแก้ไขไปตามสภาวการณ์เท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด

ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว ตราบใดที่ยังไม่สามารถระงับการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้สำเร็จ

ตามแนวโน้มการแก้ไขและป้องกันวิกฤตโควิด-19 ได้สำเร็จในปี พ.ศ.2564 หลายประเทศทั่วโลกจึงชะลอการลงทุน

ผลจากการปิดประเทศกระทบรุนแรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ กว่าจะปรับตัวฟื้นฟูได้คาดว่าในปี พ.ศ.2565 ที่จะเริ่มดีขึ้น

ด้านการเมือง ผลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ระหว่างนานาประเทศ

นโยบายทางการเมืองของผู้นำคนใหม่ จะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน ที่แตกต่างจากผู้นำคนเก่าอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นนี้ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ต่อการเป็นประเทศผู้นำของโลกที่จะนำพาให้นานาชาติร่วมกันฝ่าฟัน ให้พ้นวิกฤตในครั้งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาสงครามทางการค้ากับจีนที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน

จับตาดวงชะตาไทย

ปีพ.ศ.2564 เป็นปีที่สำคัญยิ่งต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ การเมือง รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยังคงอยู่ภายใต้วิกฤตโควิด-19

เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา ฝืดเคือง แม้ว่ารัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ภาพรวมของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นฟูต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น การแก้ไขวิกฤตโควิด-19 การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนกับนานาชาติ อุตสาหกรรมและธุรกิจที่กำลังจะปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าไทย

สภาพเศรษฐกิจยังไม่เติบโต กว่าจะฟื้นฟูได้จริงๆ จนปรับตัวเข้าสู่สภาพเดิมก็ราวกลางปีหน้า (ไตรมาส 2 ปี พ.ศ.2564) รายได้หลักจากการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก ภาคธุรกิจควรหาช่องทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ลดต้นทุน หรือการใช้สื่อโซเชียลมากยิ่งขึ้น

ภาพรวมของเศรษฐกิจถือว่าอยู่ในช่วงที่ต้องอดทน ปรับตัวเพื่อฟื้นฟูให้ดีกลับมาเหมือนเดิม

รัฐบาลพยายามสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้มั่นคง แต่ภาพลักษณ์ยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

การชุมนุมประท้วงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระลอกๆ รัฐบาลจะเพิ่มมาตรการความรุนแรงในการระงับเหตุการชุมนุมของผู้ประท้วงในทุกระดับทั่วประเทศ

การจับกุมแกนนำและใช้กฎหมายจะยิ่งเพิ่มความรุนแรง

ปีนี้มีการเลือกตั้งที่จะเกี่ยวข้องกับด้านการเมืองในหลายๆ ระดับ

พรรคการเมืองต่างๆ จะส่งผู้สมัครของพรรคตนเองเข้าร่วมแข่งขันอย่างดุเดือด ในรอบปีนี้จะขับเคี่ยวกันอย่างสุดขีด เพื่อเป็นฐานทางการเมืองให้กับพรรคตนจากระดับล่างขึ้นมาระดับบน

ด้านการเมืองจะเป็นยุคที่เกิดการเรียกร้องความเสมอภาค อิสรภาพจากการวิวัฒนาการที่จะเกิดทั่วไป

และจะจบลงโดยคำสั่งของรัฐ จากเหตุการณ์ภายในรัฐหรือการรัฐประหาร