ธงทอง จันทรางศุ | ต่างรุ่น-ต่างเชี่ยว (ชาญ) ทักษะคนละแบบ

ธงทอง จันทรางศุ

ต่างรุ่น-ต่างเชี่ยว (ชาญ)

เคยมีใครมีความรู้สึกเหมือนผมไหมครับ

หนังสือเล่มหนึ่งที่เราเคยอ่านเมื่อนานปีมาแล้ว พอหยิบมาอ่านอีกหน เราอาจจะได้พบมุมมองใหม่หรือประเด็นที่เรามองข้ามไปจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นครั้งแรกให้เราได้ตื่นตาตื่นใจกับการอ่านรอบสองนี้ก็เป็นได้

ประสบการณ์นี้เพิ่งเกิดกับตัวผมเองเมื่อได้หยิบหนังสือเรื่อง ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ.118 พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมเคยอ่านครั้งแรกเมื่อนานปีมาแล้วมาย้อนอ่านอีกครั้งหนึ่งเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา

มีประเด็นที่โผล่มากระทบใจและเป็นเรื่องเว้นเสียมิได้ที่จะหยิบยกมาพูดคุยกันวันนี้

นั่นคือเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ท่านทรงเล่าพระราชทานพระธิดาในหนังสือเล่มนั้นว่า

“…เวลานั้นพ่ออายุยังน้อยอยู่ก็จริง แต่พ่อได้รับความอบรมจากทูนหม่อมปู่เป็นพิเศษ ท่านได้สอนให้ใช้ความสังเกตให้มาก ไปไหนให้สอดส่องมองดู ให้เอี้ยหูฟัง และจดจำมาให้แม่นยำ ท่านเคยสอบถามเนืองๆ ว่าได้เห็นอะไรบ้าง ได้ยินอะไรบ้าง ถ้าทูลตอบได้น้อยหรือผิดไปมากๆ ท่านก็กริ้ว แต่การกริ้วของท่านเปนบทเรียนดีทุกที แทนที่จะเสียใจพ่อกลับดีใจ ดีใจที่ท่านเอาพระทัยใส่ในการอบรมพ่อจริงๆ ทรงพระกรุณาอยากได้พ่อได้ดี และท่านทรงเก็งใจและความสามารถของเด็กได้ดีด้วย สิ่งใดที่เด็กขนาดนี้จะยังสังเกตเห็นไม่ได้ หรือไม่สามารถจะเข้าใจหรือหยั่งไม่ถึง ท่านทรงทราบดี ท่านถามเพื่อลองดู ถ้าไม่ทราบท่านก็ไม่กริ้ว ท่านแนะนำและสอนให้ ถ้าทราบและทูลถูกต้องท่านก็ประหลาดพระทัย เราก็ได้ใจ ท่านอบรมลูกของท่านอย่างนี้ พ่อจึงรู้สึกเสมอว่าท่านเปนพ่อและเปนครูดีที่สุด…”

ว่าโดยรวมคือในหลวงรัชกาลที่ห้าพระองค์ท่านทรงสอนให้พระราชโอรสของพระองค์ท่านฝึกสังเกตและจดจำเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่มองผ่านไป แล้วไม่เห็นอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสังเกตสังกาและจดจำได้แล้ว ยังต้องมาเล่าให้คนอื่นฟังได้ถูกต้องด้วย

ความรู้และการอบรมอย่างนี้เห็นจะเป็นเรื่องที่สมัยโบราณท่านใส่ใจกันเป็นอย่างยิ่ง

และไม่น่าจะผิดพลาดถ้าผมจะสันนิษฐานว่า ในหลวงรัชกาลที่ห้าก็ทรงได้รับการอบรมฝึกสอนอย่างนี้มาจากพระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกทอดหนึ่ง

การฝึกหัดให้เป็นผู้มีความช่างสังเกตนี้เป็นวิชาสำคัญไม่เฉพาะแต่ของเจ้านายในพระราชวงศ์เท่านั้น

หากแต่ผมพบหลักฐานว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับผู้เป็นข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกหัดเป็นมหาดเล็ก ซึ่งเป็นบันไดขั้นต้นก่อนจะไปรับราชการในแผนกอื่น ว่าต้องมีการฝึกปรือเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย

ในหนังสือเรื่อง คำอธิบายเรื่องมหาดเล็ก พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์เมื่อ ร.ศ.124 ทรงกล่าวถึงข้อปฏิบัติของผู้เป็นมหาดเล็กไว้ข้อหนึ่งว่า

“ควรเปิดตาไว้เสมอ คือจะนั่งยืนเดินอย่าทำเปล่า ต้องคอยพิจารณาดูสิ่งของและคนซึ่งอยู่ใกล้เคียง ดูแล้วอย่าดูเปล่า จงจำด้วย ไม่ว่าสิ่งดีและสิ่งชั่ว สิ่งไรดีจะได้ประพฤติตาม สิ่งไรชั่วจะได้ละเว้น”

เมื่อสอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถึงเวลาสอบก็ต้องมีการวัดผล ลองมาดูตัวอย่างข้อสอบกันสักข้อหนึ่งไหมครับ

ข้อสอบนักเรียนมหาดเล็กเขาถามกันว่า

“เวลากลับจากโรงเรียน ถ้าเราจะออกทางประตูเทวาพิทักษ์ เราจะต้องเดินเข้าประตูแล้วเดินผ่านพระที่นั่ง แลที่ว่าการอะไรบ้าง”

ถ้าให้ข้าราชการสมัยนี้ไปสอบข้อสอบแบบนี้เห็นจะตกกันระนาว

เพราะขึ้นต้นก็ไม่รู้เสียแล้วว่าประตูเทวาพิทักษ์อยู่ตรงไหน ฮา!

ตัวผมเองอาจจะต้องนิยามว่าเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ อ่านเรื่องที่เขียนมาข้างต้นแล้วเข้าใจซึมซาบทีเดียวว่าผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านสอนกันอย่างไร

เพราะตัวเองก็เคยได้รับการศึกษาอบรมมาแบบนั้นบ้างเหมือนกัน

ประกอบกับผมเป็นคนชอบเขียนหนังสือ เมื่อบังคับให้ตัวเองต้องกลับมาเขียนอะไรไว้เป็นหลักฐาน ก็เท่ากับว่าต้องบังคับตัวเองตั้งแต่ต้นทางให้จดจำอะไรมาไว้ให้แม่นยำเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเขียนหนังสือ

ไปไหนมาไหนก็สังเกตจดจำไปเรื่อยครับ ถนนตรงนี้มีป้ายชื่อว่าอะไร สี่แยกนี้ชื่อสี่แยกอะไรหนอ ริมถนนสายนี้มีอาคารที่ทำการของหน่วยงานอะไรตั้งอยู่บ้าง ฯลฯ

ความสังเกตและจดจำเหล่านี้ทำให้ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยจะหลงทิศหลงทาง

นึกว่าถ้าตกงานขึ้นมาเมื่อไหร่ก็จะไปขับแท็กซี่ เห็นจะพอเอาชีวิตรอดเพราะรู้จักทั้งทางลัดและทางไม่ลัดทั้งหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับการพาผู้โดยสารไปส่งที่หมายปลายทางโดยไม่เสียเวลา และประหยัดสตางค์

เรื่องราวที่พูดมาเยิ่นเย้อนี้ เป็นวิชาความรู้แบบโบราณ อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า มนุษย์สมัยนี้ไม่ต้องจำถนนว่าชื่ออะไร สี่แยกอะไรเสียแล้วครับ

จะไปไหนก็ใช้ Google Maps พาไป

การจราจรจะติดขัดมากน้อยแค่ไหน จากต้นทางไปถึงปลายทางใช้เวลาเท่าไหร่ เจ้าเครื่องมือวิเศษนี้บอกเราครบถ้วนทุกประการ

ทักษะและการเรียนรู้ที่ผมเคยภาคภูมิใจในตัวเองว่า เป็นคนแม่นถนนหนทางเพราะช่างสังเกตจดจำอะไรต่อมิอะไรมาตั้งแต่เด็ก พบกับความท้าทายอย่างใหม่เสียแล้ว

ผู้คนในปัจจุบันคงบอกตัวเองกระมังครับว่า ไม่ต้องไปจดจำอะไรมากมายแบบคุณลุงหรือคุณตาธงทองหรอก ขอให้เรามีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว Google Maps ก็พาเราไปไหนได้ถูกต้องแล้ว

แถมยังไม่เปลืองเมมโมรี่ในสมองที่มีเซลล์ 84,000 เซลล์ด้วย

นี่อาจจะแปลหรือสอนใจผมว่า การเรียนรู้ในแต่ละยุคสมัยไม่จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ชุดเดียวกัน เพราะการใช้ประโยชน์ การนำไปต่อยอด อาจจะเป็นคนละยุคคนละแบบแผนเสียแล้ว

ก่อนมานั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ ผมเพิ่งกินข้าวเย็นกับลูกศิษย์คนหนึ่งเสร็จสรรพเรียบร้อย ลูกศิษย์รายนี้เล่าว่าน้องชายของเขาไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบหรือนอกระบบกับใครก็แล้วแต่

แต่ความรู้ภาษาญี่ปุ่นของน้องชายรายที่ว่าเกิดขึ้นจากการเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ เกมที่ว่านี้เป็นเกมจากเมืองญี่ปุ่น

เล่นไปเล่นมา คนเล่นเกมก็เกิดปัญญาเข้าใจภาษาญี่ปุ่นขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ลูกศิษย์ของผมอีกคนหนึ่ง มีความเชี่ยวชาญในการอ่านการ์ตูนที่เขียนเป็นช่องๆ และตัวละครเจรจากันว่าอย่างโน้นอย่างนี้ เขากวาดตาดูเพียงแค่ไม่ถึงอึดใจ ก็รู้เรื่องราวและซึมทราบอรรถรสได้ครบถ้วนแล้ว

ในขณะที่ผมยังมามะงุมมะงาหราอ่านถึงแค่ช่องที่สามช่องที่สี่เท่านั้น

โน่น! ลูกศิษย์อ่านจบเรื่องไปแล้ว

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามาแข่งกันอ่านรามเกียรติ์หรือขุนช้างขุนแผน รายการนี้พนันกัน 100 บาทกับขี้หมากองเดียว ว่าผมอ่านจบก่อนแน่ และผมยังเล่าเรื่องที่อ่านผ่านตาได้ครบถ้วนไม่ตกหล่นด้วย

เห็นไหมครับว่า คนต่างรุ่นแต่ละรุ่นก็เลยรับการฝึกหัดให้มีทักษะที่แตกต่างกันไป เวลาหลานผมนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้ว ผมรู้สึกได้ทีเดียวว่ามือของเขากลืนเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ เขาจะพิมพ์จะกดปุ่มอะไร ดูมันง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

ขณะที่เรื่องเดียวกันนั้นเองเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับผม

แล้วแบบนี้เราจะบอกได้หรือครับว่า ทักษะหรือประสบการณ์แบบดีหรือด้อยกว่ากัน

ผมไม่กล้าชี้ขาดหรอกครับ

ในระหว่างที่ยังงงงวยอยู่นี้ ผมขอปลีกวิเวกไปให้หลานสอนวิธีใช้คอมพิวเตอร์หน่อยนะครับ

รามเกียรติ์อ่านจบไปหลายรอบแล้ว ฝึกใช้คอมพิวเตอร์บ้างดีกว่า

อิอิ