ข้อหา “เดียรถีย์” อธิบายโดย “พุทธทาส” สวาก “เดียรถีย์” : ดังได้สดับมา

ถาม-เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายอย่างตื้นๆ ไม่เป็นพุทธศาสนา แต่เป็นของเดียรถีย์ เช่น อธิบายว่า นรกเป็นความทุกข์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์เป็นความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นอย่างไรครับ

ท่านพุทธทาสภิกขุตอบว่า

ใจความของคำถามหรือข้อสงสัยนั้นเขาว่า อธิบายนรก-สวรรค์ทางอายตนะนั้นเป็นเรื่องตื้นๆ ไม่เป็นพุทธศาสนา แต่เป็นของเดียรถีย์

อย่างนี้คนนั้นมันโง่

เขาไม่รู้จักคำว่าเดียรถีย์ เขาไม่ได้ระบุลงไปว่า “เดียรถีย์อื่น” คำว่าเดียรถีย์นั้นแปลว่า เจ้าลัทธิ ลัทธิไหนก็ได้ แม้พุทธศาสนาก็เป็นเดียรถีย์หนึ่ง

ที่เขาว่าอย่างนี้ว่าเป็นเดียรถีย์นั้นต้องเติมคำว่า “อื่น” ลงไปด้วย

ในพระบาลีพระไตรปิฎกไปเปิดดูเถอะ ทุกแห่งจะพบคำว่า “อัญญ-เดียรถีย์” คือเดียรถีย์อื่น “อื่น” นั้นก็คือนอกจากพุทธศาสนา

ทีนี้คนเขาไม่รู้จึงใช้คำพูดไม่เป็น ใช้ว่าเป็นของเดียรถีย์ เขาไม่รู้ว่าเดียรถีย์นั้นแปลว่าลัทธิเท่านั้นแหละ ต้องเป็นเจ้าลัทธิด้วยจึงจะเรียกว่าเดียรถีย์

ถ้าเป็นลูกน้องก็เรียกว่า สาวกเดียรถีย์

อาตมานี้เป็นสาวกเดียรถีย์ คือพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นสาวกของเดียรถีย์อื่น มีเรียกอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก นี่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วนะ ขอประกาศตัวนะว่า

“พุทธทาสเป็นสาวกของเดียรถีย์ คือพระพุทธเจ้า”

ทำไมพูดอย่างนี้ เพราะคำว่าเดียรถีย์เป็นคำกลางๆ ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ ถ้าจะให้ผิดต้องเติมคำว่า “อัญญเดียรถีย์” เข้าไป เดียรถีย์อื่นนอกจากพระพุทธศาสนา ไปดูในพระไตรปิฎกเมื่อเอ่ยถึงคำว่าเดียรถีย์จะต้องมีคำว่า “อื่น” ด้วยเสมอไป ไม่มีคำว่าเดียรถีย์เฉยๆ

คำว่า “เดียรถีย์” ถ้าเป็นบาลีมันก็เป็น “ติตถิยะ” คำนี้มาจากคำว่า “ติตถะ” ที่แปลว่าท่าจอดเรือ

ธรรมดาว่าท่าจอดเรือนั้นมันหมายความว่ามีเรือไปจอดมากและก็จอดตามความต้องการของตน เรือฟืนไปจอดท่าฟืน เรือผักไปจอดท่าผัก เรือปลาไปจอดท่าปลา นั่นแหละเขาเรียกว่าท่าจอดเรือ เป็นที่รวมของเรือเรียกว่า “ติตถะ”

ทีนี้ลัทธิศาสนาที่มีพระศาสดาแต่ละองค์บัญญัติแสดงขึ้นๆ นี้มันเหมือนกับท่าจอดเรือ ใครชอบท่าไหนก็ไปที่ท่านั้น มันก็เกิดเป็นหลายท่าเรือขึ้นมา

“ติตถิยะ” นี้แปลว่า “เสมือนดังท่าจอดเรือ” คำว่า “เดียรถีย์” คำเดียวกันนั้นก็แปลว่า “เสมือนดังท่าจอดเรือ”

ใครชอบท่าไหนก็ไปจอดท่านั้น

ท่าในพระพุทธศาสนานี้ก็เป็นท่าหนึ่งซึ่งมีอะไรๆ อย่างนี้ ใครชอบก็มา ใครไม่ชอบก็ไปท่าอื่น ซึ่งท่านเรียกว่าเดียรถีย์อื่น หรืออัญญติตถิยะก็มี อัญญติตถิยปริพพาชกะก็มี

แต่ท่าจอดเรืออื่นนั้นน่ะคือ “มิจฉาทิฏฐิ” ถ้าจะเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ต้องเรียกให้ถูกต้องตามพระบาลีว่า “เดียรถีย์อื่น” ถ้าว่าเป็นท่าจอดนี้ละก็มีคำว่า “อิธะ : อิธภิกขะเว”

อิธะ-ท่านี้ในธรรมวินัยนี้

ธรรมวินัยนี้คือท่าจอดเรือนี้ ในธรรมวินัยนี้เขาถือกันอย่างนี้ๆ ถ้าอัญญติตถิยะ คือ ท่าจอดเรืออื่นนั้นเขาถือกันอย่างโน้นๆ

ฉะนั้น เขาหาว่าอาตมาไปเอาคำสอนของเดียรถีย์มา ก็บอกว่าก็ได้เหมือนกัน ถ้าเดียรถีย์นั้นคือพระพุทธเจ้า

เดียรถีย์ แปลว่าเจ้าลัทธิ มีอยู่มากมาย หลายคณะ พระพุทธเจ้าก็เป็นเจ้าลัทธิองค์หนึ่ง ก็เรียกว่าเดียรถีย์องค์หนึ่ง คือ เดียรถีย์นี้ นอกนั้นก็เรียกว่าเดียรถีย์อื่นมีมากมาย ถ้าใครจะด่าอาตมาว่าเป็นเดียรถีย์นี่มันไม่ถูกดอกเพราะไม่ได้เป็นเจ้าลัทธิ

แต่ถ้าด่าว่าเป็นสาวกเดียรถีย์ก็ถูกต้องที่สุด เพราะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเดียรถีย์หนึ่ง

แต่ถ้าด่าว่าเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์นี้ไม่เป็นไปได้ ไม่ถูกเลย เพราะอาตมาไม่เป็นสาวกของเดียรถีย์อื่น นอกจากเดียรถีย์นี้

นั่นแหละขอให้เข้าใจคำว่าเดียรถีย์กันเสียให้ถูกต้อง

ภาษาไทยมันพูดสั้นๆ กำกวม พูดว่าเดียรถีย์เฉยๆ ละก็หมายถึงพวก “มิจฉาทิฏฐิ” นี้ไม่ถูก คำว่าเดียรถีย์เฉยๆ หมายกลางๆ

เดียรถีย์นี้ก็คือพระพุทธเจ้า เดียรถีย์อื่นก็คือ “มิจฉาทิฏฐิ” ทั้งหลายทั้งปวง

อาตมาเป็นสาวกของเดียรถีย์ คือพระพุทธเจ้า ขอยืนยันอย่างนี้เสมอไป ฉะนั้น ไม่ใช่เดียรถีย์อื่นซึ่งเป็นคำพูดที่มีใช้อยู่เต็มไปทั้งพระไตรปิฎกด้วยเหมือนกัน

ท่านพุทธทาสภิกขุเหมือนกับไม่ตอบโต้โดยตรง แต่เมื่อรับฟัง จากนี้จึงเป็นอันชัดว่าด้วยคำว่า “เดียรถีย์”

ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมรับ

โดยเฉพาะการตีความในเรื่อง “เดียรถีย์” อย่างเลื่อนเปื้อนจากผู้ที่กล่าวหา ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันความหมายที่ถูกของคำว่า “เดียรถีย์”

คงรู้กันแล้วว่า ใครคือผู้กล่าวหาท่านพุทธทาสภิกขุว่าเป็น “เดียรถีย์”