หนุ่มเมืองจันท์ : ทีม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เพิ่งปิดคอร์ส SCB singular ไปเมื่อต้นสัปดาห์ครับ

หลักสูตรนี้เป้าหมายหนึ่งที่ทางผู้ใหญ่ของ SCB ต้องการก็คือ ให้ผู้บริหารระดับสูงได้คุ้นเคยกัน

นอกเหนือจากการเรียนรู้ในสิ่งที่ “ไม่รู้”

กิจกรรมปิดคอร์สของเราคือการทำมิวสิกวิดีโอ

ให้แต่ละกลุ่มไปทำมิวสิกวิดีโอตามเพลงที่จับสลากได้

อาจารย์ที่สอนเรื่องนี้คือปรมาจารย์ของวงการเพลงไทย

“พี่นิค จีนี่” หรือ “วิเชียร์ ฤกษ์ไพศาล”

ศาสตร์การทำมิวสิกวิดีโอ ตรงข้ามและขัดแย้งกับ “ความเคยชิน” ของผู้บริหารแบงก์

ลองคิดดูสิครับว่าผู้บริหารระดับสูงของแบงก์มาเขียนบท แสดง และกำกับฯ เอง

ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

หลายคนคงคิดว่าคงจะดูไม่ได้เลย

…ไม่จริงเลยครับ

ตรงกันข้าม

เป็นมิวสิกวิดีโอที่ดีมาก

“พี่นิค” ถึงขั้นชมเลยว่าเมื่อเทียบกับเวลาถ่ายทำ-ตัดต่อเพียง 2 วัน 1 คืน

และเป็น “มือใหม่” ที่ไม่เคยทำ

ไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาได้ดีขนาดนี้

นอกจากเสียงหัวเราะสนุกสนานในโรงหนังเมื่อเห็นภาพตัวเองและเพื่อนบนจอภาพยนตร์

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ ก็คือ อะไรที่ “ไม่เคยทำ” ไม่ใช่จะ “ทำไม่ได้”

นอกจากนั้น ทุกคนได้รู้จักผู้บริหารแต่ละคนในมุมอื่น

มุมที่นึกไม่ถึงว่าซ่อนอยู่ในคนที่เราเคยรู้จัก

บางคนที่ตำแหน่งสูงส่ง ทำงานจริงจัง

หน้าตาเคร่งเครียด

แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนสนุกและน่ารักมาก

หลังจบหลักสูตร SCB singular “ภาพจำ” ใหม่ของผู้บริหารแต่ละคน คือ ตัวละครที่อยู่ในมิวสิกวิดีโอ

เป็น “ภาพจำ” ที่มีแต่ความน่ารักและสนุกสนาน

ตอนนี้ผมยังจำได้เลยครับ

ใครถูสบู่ให้ใคร

ใครเต้นท่า “เมียงู” ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนได้ทำงานเป็น “ทีม” กับผู้บริหารที่อยู่นอกสายงาน

เพราะเมื่อลงมือทำ “มิวสิกวิดีโอ” ด้วยกัน

ไม่ว่าใครจะตำแหน่งอะไร

ทุกคนเท่าเทียมกัน

คือ “ไม่รู้”

ครับ ความรู้ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์เรา ก็คือ รู้ว่าเราไม่รู้อะไร

ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องในโลก

“ไม่รู้” จึงไม่ผิด

แต่ “ไม่เรียนรู้” ต่างหาก

…ผิด

โลกยุคใหม่เน้นเรื่องการทำงานเป็น “ทีม”

สังเกตไหมครับว่ารางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ในปัจจุบัน

ไม่ค่อยมีใครคนเดียวที่ได้รางวัล

ส่วนใหญ่เป็น “ทีม”

คือ รับพร้อมกัน 2-3 คน

เพราะการทำวิจัยต้องทำงานเป็น “ทีม”

แม้แต่งานความคิดสร้างสรรค์ที่น่าจะเป็นงานเฉพาะตัว

แต่ใครจะไปนึกว่าวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว

การแต่งเพลงที่เคยแต่งคนเดียว

ที่ “แกรมมี่” เขาแต่งเพลงเป็น “ทีม” มานานแล้ว

วงการหนังสือ นิยายดังๆ ของ “สถาพรบุ๊คส์” ที่นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ก็ทำงานเป็นทีม

หรือการเขียนบทภาพยนตร์ของ GDH

เขาก็เขียนกันเป็นทีม

ไม่ใช่คนเดียว

การทำงานเป็น “ทีม” สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักหรือคุ้นเคยกัน

เพราะเมื่อทำงานด้วยกันมีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันสูง

ถ้าเป็น “เพื่อน” ผิดพลาดอะไรเราจะให้อภัย

โกรธก็โกรธไม่มาก

ถ้า “เพื่อน” เหนื่อย เราจะช่วย

แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย

เรื่องเดียวกัน “ความรู้สึก” จะแตกต่างกัน

ที่ “เฟซบุ๊ก” ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

สถาปัตยกรรมของสำนักงาน “เฟซบุ๊ก” จะเอื้ออำนวยให้คนต่างหน่วยงานมาเจอกัน

แบบ “ไม่เป็นทางการ”

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น ให้นั่งคุยงานแบบไม่เป็นทางการ

หรือพื้นที่กิจกรรมต่างๆ

เขาเชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์” จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนที่ปฏิสังสรรค์กัน

นั่งคิดคนเดียว

“ความคิดสร้างสรรค์” ไม่เกิด

การได้คุยกับคนที่รู้เรื่องต่างกัน

คิดไม่เหมือนกัน

จะสร้างโอกาสให้เกิด “ความคิดสร้างสรรค์” ขึ้นมา

แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ เรื่อง “เฟซบุ๊ก” มีร้านอาหารอร่อยๆ ให้พนักงานกินฟรี

ตอนแรกคิดว่าเขาแค่ต้องการให้พนักงานใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานให้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว

แต่จริงๆ แล้ว “เฟซบุ๊ก” มีเป้าหมาย 2 อย่างแฝงอยู่ครับ

เป้าหมายแรก คือ ทำให้คนที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกันมีโอกาสนั่งกินข้าวด้วยกัน

ตามหลักของ “ความคิดสร้างสรรค์”

และเป้าหมายที่สองที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน

ที่ “เฟซบุ๊ก” จะมีอาหาร ขนม และเครื่องดื่มให้กินฟรี 24 ชั่วโมง

และไม่ได้วางอยู่จุดเดียว

เขาจะวางเป็นระยะๆ ทุกจุดในสำนักงาน

เพราะ “เฟซบุ๊ก” เชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์” จะเกิดขึ้นได้

เมื่อพนักงานมีอาหารและเครื่องดื่มอยู่ห่างไม่เกิน 100 เมตร

ไม่ได้พูดเล่นนะครับ

เขาคิดแบบนี้จริงๆ

“เฟซบุ๊ก” เน้นการทำงานเป็นทีม

แต่ “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง”

ครับ… “ทีมที่ดี”

ต้อง “ไม่หิว”