ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ศาสนา การเมือง หรือความเป็นอารยะ ทำไมจึงต้องเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
แผนที่ราชอาณาจักรสยามและประเทศราช ฉบับแมคคาร์ธี พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888)

ศาสนา การเมือง
หรือความเป็นอารยะ
ทำไมจึงต้องเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่?

แต่เดิมสยามประเทศเคยใช้วันแรกของ “เดือนอ้าย” เป็นวันขึ้นปีใหม่

ต่อมาเมื่อรับอิทธิพลศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนมานับเอา “วันมหาสงกรานต์” เป็นจุดเริ่มต้นและการแบ่งปี

จุดดังกล่าวนี้คือจุดตัดระหว่างเส้นโคจรดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า “สุริยวิถี” กับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้า

แต่ว่าเจ้าจุดตัดอะไรบนสุริยวิถีอะไรนี่ ไม่ได้มีอยู่จริงในทางวิทยาศาสตร์หรอกนะครับ

พวกนักปราชญ์ท่านแค่สมมุติขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับคำนวณเลขผานาทีอะไรไปตามเรื่อง

โดยถือเอาวันที่กลางคืนกับกลางวันมีระยะเวลาเท่ากัน เรียกว่าจุดราตรีเสมอภาค หรือวิษุวัต (Equinox) แต่เพราะแกนโลกเอียง แถมยังหมุนรอบตัวเองอีกด้วย

จุดดังกล่าวจึงจะเคลื่อนจากจุดเดิมอย่างช้าๆ ประมาณปีละ 50 วิลิปดา

ดังนั้น วันมหาสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามคติดั้งเดิมในแต่ละปีจึงไม่เคยตรงกันพอดีเป๊ะเลยสักหน

และด้วยความชวนปวดหัว (โดยเฉพาะสำหรับกับมนุษย์ประเภทที่ไม่ถูกจริตกับวิชาคณิตศาสตร์) จึงไม่แปลกอะไรที่ต่อมารัชกาลที่ 5 จะทรงปรับให้นับวันปีใหม่จากเดิมที่นับจากวันสงกรานต์ มาเป็นนับจากวันที่ 1 เมษายนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2432 เพื่อความสะดวกดายในสังคมสยาม ที่เริ่มใช้ปฏิทินแบบสุริยคติ ตามอย่างอารยประเทศในขณะนั้น

เรื่องของเรื่องมีอยู่ในพระบรมราชโองการที่เรียกว่า “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่” เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนสี่ แรมสิบสองค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 ตรงกับวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2431 (ถ้านับวันขึ้นปีใหม่อย่างปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ.2432)

เนื่องจากในพระบรมราชโองการฉบับนี้ มีข้อความระบุตั้งแต่ตอนต้นเลยว่า

“…ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีการนับปีเดือนตามปฏิทินสุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปี…”

ส่วนสาเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับวันที่ 1 เมษายนแทนนั้น คงเป็นไปเพื่อความสะดวก

แต่ก็มีข้อควรพิจารณาอยู่ด้วยว่า ปีเดียวกันกับที่มีการออกพระราชโองการฉบับนี้ (นับตามธรรมเนียมเดิม) ก็เป็นปีที่เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี (Jame Fitzroy McCarthy) ชาวอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นรับราชการเป็น “พระวิภาคภูวดล” ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของสยาม ได้จัดทำ “แผนที่ราชอาณาจักรสยามและประเทศราช ฉบับแมคคาร์ธี พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888)” ออกมา

ในปีพุทธศักราชนั้น สยามยังปักปันเขตแดนกับชาติมหาอำนาจตะวันตกทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่เสร็จสิ้น แต่ในแผนที่ฉบับนี้ ถึงแมคคาร์ธีจะไม่ระบุถึง “พรมแดน” และ “เขตแดน” ของสยามให้ชี้ชัดลงไป

แต่ก็ได้ระบาย “สีเหลืองอ่อน” ที่ถือได้ว่าเป็นพรมแดนของสยาม ที่อยู่ระหว่างการช่วงชิงกันกับสองชาติมหาอำนาจยุโรป (และบางแห่งก็รวมถึงจีน)

ดินแดนล้านนา (ซึ่งนับเดือนอ้าย คือวันขึ้นปีใหม่เร็วกว่าสยามราวสองเดือน) ก็อยู่ระหว่างการถูกช่วงชิงระหว่างสยามกับอังกฤษ ก็ถูกระบายด้วยสีเหลืองอ่อนนี้ด้วย

น่าสังเกตนะครับ เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักร แห่งนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ผนวกรวม “ล้านนา” เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งทางภาคเหนือของสยาม ก็ได้ถวายตัวเป็นสนมในรัชกาลที่ 5 (ต่อมาดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระราชชายา) เมื่อปี พ.ศ. 2429 สองปีก่อนจะมีพระราชโองการ “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่”

ถึงแม้ว่าทั้งสยามที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ และล้านนา ต่างก็เป็นอารยธรรมที่นับถือศาสนาพุทธเป็นสำคัญ แต่ต่างก็เคยนับถือผี (บรรพบุรุษ) คนละตนมาแต่ดั้งเดิมก่อนที่จะหันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยการนับปีเดือนที่แตกต่างกัน ก็แสดงให้เห็นถึงจักรวาลวิทยาที่ไม่ได้ต้องตรงกันทุกกระเบียด

ดังนั้น หากเมื่อสยามผนวกรวมล้านนาเข้ามาได้เมื่อไหร่ พระราชโองการฉบับนี้ก็จะทำให้ล้านนากับสยามไม่ใช่คนอื่นคนไกลกัน อย่างน้อยก็นับวันขึ้นปีใหม่ตรงกัน ไม่ใช่ห่างกันตั้งสองเดือนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแต่เดิม

แต่ไม่ว่าเหตุผลแท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม ต่อมาในช่วงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกรอบ คราวนี้มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบสากลทั่วไปเมื่อเรือน พ.ศ.2483 ตามประกาศที่ชื่อ “ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่”

ควรสังเกตด้วยว่า ช่วงทศวรรษที่มีการประกาศใช้ประกาศฉบับที่ว่านี้คือช่วงทศวรรษ 2480 ประเทศสยามภายหลังผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตรงกับช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (16 ธันวาคม พ.ศ.2481-1 สิงหาคม พ.ศ.2487)

และคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป.ก้าวขึ้นมาพร้อมกับ “ลัทธิชาตินิยม” มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ.2482-2485

“รัฐนิยม” ที่ว่าก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติอันมีอารยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ

ซึ่งก็ครอบคลุมตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย อย่างที่ใช้ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ (ฉบับที่ 1 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482)

การเรียกชื่อชาวไทย ด้วยการไม่ให้เรียกชื่อคนในประเทศไทยตามเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก หรือแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายหมู่เหล่า (ฉบับที่ 3 ประกาศวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2482)

พร้อมกันนั้นยังมีการบังคับให้ภาคภูมิใจในหนังสือและภาษาไทย (ฉบับที่ 9 ประกาศวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483), บังคับเรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย อย่างการห้ามนุ่งแต่เพียงกางเกงชั้นใน หรือไม่ใส่เสื้อ ให้แต่งกายตามแบบสากลนิยม (ฉบับที่ 10 ประกาศวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2484) เป็นต้น

ช่วงเวลาดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างที่จอมพลแปลกท่านกำลังเพียรพยายามเปลี่ยนรัฐ “สยาม” ที่ยังคงมีกลิ่นฟุ้งของธรรมเนียมรัฐจารีตแบบอุษาคเนย์โบราณ ให้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่เรียกว่าประเทศ “ไทย” อย่างเต็มตัว

และข้อความบางส่วนในประกาศที่ว่า ก็มีความระบุชัดเจนว่า

“…นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบูรพทิศนี้ ได้นิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่…”

นี่ยิ่งแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐนิยม คือสร้างความเป็นอารยะ (ตามอย่างมาตรฐานตะวันตก) ให้กับประเทศไทยอย่างชัดเสียยิ่งกว่าชัดเลยนะครับ
น่าสนใจว่าเมื่อครั้งที่สยาม (รวมถึงอีกหลายๆ วัฒนธรรมในอุษาคเนย์) จะปรับวันขึ้นปีใหม่จากเดือนอ้าย ซึ่งแปลว่าเดือนที่ 1 (และไม่ตรงกับในอินเดียแน่) มาเป็นวันสงกรานต์ ก็คงมีเหตุผลอะไรทำนองนี้ไม่ต่างกันนัก

เพียงแต่เรายังไม่มีข้อมูลพอจะสรุปลงไปได้ว่า นี่เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุผลทางด้านความเป็นอารยะ, ความเชื่อทางศาสนา, เหตุผลทางการเมือง หรือทางด้านอื่นๆ?