ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
สถานการณ์โลกปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากโลกขั้วอำนาจเดียวไปสู่หลายขั้วอำนาจ ที่ทุลักทุเล และรุนแรง
มีทั้งการทำลายระบบเดิมและสร้างระบบใหม่ เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในรอบ 200 ปีมานี้
การที่สหรัฐได้ก้าวเข้าสู่ฐานะอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นเหตุการณ์พิเศษที่ดำรงในช่วงเวลาสั้นๆ ราว 20 ปีในสามประธานาธิบดี ได้แก่
ก) บุชผู้พ่อ (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง 1989-1993) ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น อนึ่ง ผลงานของบุชผู้พ่อมักถือกันว่าสืบทอดจากประธานาธิบดีเรแกนที่ทำให้อเมริกันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และได้รับความนิยมอย่างสูง
ข) คลินตัน (1993-2001) ถือได้ว่าขึ้นสู่จุดสูงสุด สหรัฐสามารถปฏิบัติการโดยลำพังอย่างไม่มีใครขัดขวางได้
ค) บุชผู้ลูก (2001-2009) ถือได้ว่าเป็นจุดเสื่อมถอย ถูกก่อการร้ายใหญ่ในประเทศกรณี 9/11 เมื่อตอบโต้ก็ติดหล่มสงครามทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ซ้ำในปี 2008 ยังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ รองจากวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
มาถึงสมัยโอบามา (2009-2017) ก็เข้าสู่ระยะการเปลี่ยนผ่าน
ประธานาธิบดีทรัมป์ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งในต้นปี 2017 ประกาศว่าจะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแรงเฉื่อยของสถานการณ์ทั่วไปได้ และทำให้เหตุการณ์ยิ่งร้อนแรงขึ้นอีกเป็นอันมาก
การก้าวเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวของสหรัฐ แสดงออกสำคัญที่การรุกเข้าไปแทนที่อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสองภูมิภาคสำคัญ คือ
ก) บริเวณยุโรปตะวันออก พื้นที่เป้าหมายสำหรับรัฐที่เคยร่วมในสหภาพโซเวียต ได้แก่ ยูเครน (รวมมอลโดวาซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ อยู่ทางตะวันตกของยูเครน) จอร์เจียและกลุ่ม 3 ประเทศทะเลบอลติก นอกจากนี้ ยังมีประเทศเบลารุส อาร์เมเนีย แต่ทไม่สำเร็จเท่า
ข) บริเวณเอเชียกลางและมหาตะวันออกกลาง ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศมุสลิม พื้นที่เป้าหมายในเอเชียกลางได้แก่คีร์กิซสถานที่สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพ เพื่อส่งกำลังบำรุงในสงครามอัฟกานิสถาน แต่ปิดตัวลงในปี 2014 เป็นสัญญาณว่าสหรัฐไม่มีนโยบายระยะยาวในการจัดการภูมิภาคนี้ และยกเอเชียกลางให้แก่รัสเซียและจีน (ดูบทความของ Akhilesh Pillalamarri ชื่อ The U.S. Just Closed Its Last Base in Central Asia ใน thediplomat 10.06.2014)
สำหรับในมหาตะวันออกกลาง พื้นที่เป้าหมายในการช่วงชิง ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก ซีเรีย ลิเบีย ซึ่งนอกจากอิหร่านแล้วขณะนี้ล้วนตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ และอาจขยายตัวไปยังประเทศอื่นได้อีก
การรุกคืบของสหรัฐดังกล่าวมิใช่ว่าจะปราศจากปัญหาอุปสรรค อุปสรรคใหญ่มาจากการตอบโต้ของรัสเซีย-จีนที่ค่อยๆ กระชับความสัมพันธ์ จนในขณะนี้กล่าวได้ว่าอยู่ในระดับพันธมิตร
การตอบโต้ของรัสเซีย สรุปเป็นเหตุการณ์ใหญ่ดังนี้
ก) ปี 2007 ประธานาธิบดีปูตินปราศรัยที่มิวนิก กล่าวถึงการสร้างโลกหลายขั้วอำนาจ
ข) สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (2008 เดือนสิงหาคม ช่วงงานกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง) รัสเซียส่งกองทัพช่วยเหลือสองรัฐ ที่ต้องการเป็นอิสระจากจอร์เจีย คือเซาธ์ออสเซเตียและอับฮาเซีย จากนั้นยังรุกคืบเข้าไป จนใกล้เมืองหลวงของจอร์เจีย ทำให้ทั้งสองรัฐเป็นอิสระโดยการรับรองของรัสเซีย เป็นการตอบโต้การรุกคืบเข้ามาในจอร์เจียของสหรัฐ-นาโต้ จนถึงขั้นจะนำจอร์เจียไปอยู่ในองค์การนาโต้ และเป็นการเอาคืนที่สหรัฐ-นาโต้ จัดการให้รัฐโคโซโวเป็นอิสระจากเซอร์เบียในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 (ดูบทความของ รศ.ดร.ประภัสสร เทพชาตรี ชื่อ “สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (ตอนที่ 1)” ใน thepchatree.blogspot.com 21.08.2551) เป็นการปฏิบัติการรวดเร็วแบบ “ปากว่ามือถึง”
ค) การผนวกดินแดนไครเมีย (2014) หลังจากประธานาธิบดี วิกเตอร์ คูโนวิช ที่เอียงข้างรัสเซียถูกแผนรัฐประหารของสหรัฐโค่นลงในต้นปี 2014 รัสเซียยังสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดอนเบสก์จากยูเครน ที่ตอนนี้ได้ประกาศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนดอนเบสก์”
ง) การเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย (2015) ที่พลิกสถานการณ์
จ) ระยะหลังมีข่าวจากทางสหรัฐกล่าวว่า รัสเซียให้การสนับสนุนแก่กลุ่มตาลิบันในการต่อสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลัง ความจริงคงปรากฏในไม่ช้า
การตอบโต้ของจีนช้ากว่าของรัสเซียเนื่องจากไม่ได้ถูกท้าทายเท่า
แต่จีนก็จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับตะวันออกกลาง เนื่องจากได้พัฒนาอุตสาหกรรมและต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมาก ทั้งบริเวณนี้ยังเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าและการลงทุนของจีน
การตอบโต้ของจีนปรากฏชัดเมื่อสหรัฐประกาศนโยบายปักหลักเอเชีย หรือถอยไปตั้งหลักที่เอเชีย (ปี 2011)
การตอบโต้ที่สำคัญได้แก่
ก) ปลายปี 2013 จีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนตะวันออก (มักเป็นข่าวว่าเขตห้ามบิน แต่ที่จริงเพียงให้แสดงตนเมื่อบินผ่าน) ซึ่งสหรัฐก็ได้ประกาศเช่นนี้มานานแล้ว สหรัฐควันออกหูส่งเครื่องบินรบของตนเข้าไปแสดงการไม่ยอมรับ จีนส่งสารว่าจีนเป็นมหาอำนาจมีฐานะทัดเทียมกับสหรัฐ และทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้เป็นเขตอิทธิพลของตน
ข) การก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB 2014)
ค) โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง” (OBOR มีแผนปฏิบัติการปี 2015) ได้แก่ แถบเศรษฐกิจเส้นทางแพรไหมทางบก และเส้นทางแพรไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างการเป็นผู้นำทางการค้าการลงทุนของเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
มีการจัดประชุมสุดยอดโครงการนี้ในกลางเดือนพฤษภาคม 2017 ประจวบกับสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เดินนโยบายลัทธิปกป้องการค้า ประกาศคำสั่งฝ่ายบริหารให้ยึดนโยบาย “ซื้อของอเมริกัน จ้างงานอเมริกัน” คิดการเลิกหรือเจรจาใหม่ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
โลกหลายขั้วอำนาจที่มหาตะวันออกกลาง
มหาตะวันออกกลาง (จากปากีสถาน-อัฟกานิสถานถึงโมร็อกโก) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญตั้งแต่โบราณ ที่เชื่อมต่อทวีปยุโรป เอเชียและแอฟริกา
จักรวรรดิออตโตมาน (1299-1922) ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นอิสลามอย่างมั่นคง และเป็นศูนย์อำนาจโลกต่อเนื่องมาหลายร้อยปี
อารยธรรมตะวันตกที่แผ่เข้ามาครอบงำปกครองได้แปลงโฉมภูมิภาคนี้ให้กลายเป็นตะวันตกอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในเขตเมือง
อารยธรรมอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูกจำนวนมาก ยิ่งทำให้ภูมิภาคนี้สำคัญสำหรับโลกตะวันตกมากขึ้น
ความมั่งคั่งจากการค้าน้ำมัน และระบบดอลลาร์น้ำมันทำให้สหรัฐไม่อาจถอนตัวจากดินแดนนี้ไปง่ายๆ
จากเหตุปัจจัยเหล่านี้เป็นต้น ทำให้มหาตะวันออกกลางได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญของการต่อสู้หลายขั้วอำนาจในปัจจุบัน
ขั้วอำนาจหลักได้แก่ การต่อสู้ระหว่างโลกตะวันตก ที่มีสหรัฐ-อังกฤษ-อิสราเอลเป็นแกนกับโลกมุสลิมที่ยิ่งใหญ่และแตกแยก
อีกขั้วอำนาจหนึ่งได้แก่พันธมิตรรัสเซีย-จีน เกิดเป็นศึกสามเส้าที่ซับซ้อน มีทั้งสงครามกลางเมือง สงครามลูกผสม การก่อการร้าย ความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม ที่กลายเป็นสงครามใหญ่ได้หากจัดการไม่ดี
และดูเหมือนว่าพื้นที่ทั่วโลกสามารถเกิดสถานการณ์แบบตะวันออกกลางได้ทั้งนั้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐและโลกอิสลามที่ใหญ่และแตกแยกเป็นลำดับไป
สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ของสหรัฐ
และความล้มเหลว
สหรัฐรุกเข้าสู่ดินแดนมหาตะวันออกกลางจากทั้งด้านโอกาสและการท้าทาย
ด้านโอกาสได้แก่ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ยังไม่ฟื้นตัวดี การตระเตรียมทางนโยบายและการทหารพรักพร้อม
และโอกาสจากเหตุวินาศกรรมเวิลด์เทรดเดือนกันยายน 2001
ในด้านการท้าทายในระดับรัฐได้แก่ อิหร่าน อิรัก และอัฟกานิสถานที่ได้เป็นแหล่งพำนักของกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้า ในระดับต่ำกว่ารัฐได้แก่กลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้า เป็นต้น
กลุ่มนี้เคยร่วมมือกับสหรัฐในการต่อสู้กับกองกำลังโซเวียตในอัฟกานิสถาน เมื่อโซเวียตถอนกำลังไป ก็หันเป้าไปที่สหรัฐแทน
ประธานาธิบดีบุชเลือกการท้าทายในระดับต่ำกว่ารัฐมาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยาวนานเพื่อการเข้าครอบงำภูมิภาคนี้
คำปราศรัยประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุชในปี 2001 ช่วยให้เข้าใจข้ออ้างของสหรัฐได้ดี รวมทั้งปาฐกถาในปี 2005 ด้วย ในคำปราศรัยในปี 2001 กล่าวว่า “ในวันที่ 11 กันยายน เหล่าศัตรูของเสรีภาพได้ปฏิบัติการสงครามต่อประเทศของเรา” โดยกลุ่มก่อการร้ายอัลไคด้าที่โจมตีสหรัฐมาแล้วหลายครั้ง มีแหล่งพำนักใหญ่ที่อัฟกานิสถาน
“สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเริ่มต้นที่กลุ่มอัลไคด้า แต่มันจะไม่ยุติที่นั้น (แต่จะขยายไป ครอบคลุมกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก)”
เหตุใดกลุ่มก่อการร้ายจึงเกลียดและโจมตีสหรัฐ
“พวกนี้เกลียดเรา (เพราะว่า) เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย พวกเขาเกลียดเสรีภาพของเรา เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในการพูด แสดงออก เสรีภาพในการลงคะแนนเสียงและชุมนุม และการเห็นต่างกันและกัน”
บุชกล่าวด้วยว่า “ทุกประชาชาติ ทุกภูมิภาค บัดนี้ถึงเวลาตัดสินใจแล้ว ถ้าไม่อยู่ข้างเรา ก็เท่ากับอยู่กับลัทธิก่อการร้าย”
“นี่คือการต่อสู้ของอารยธรรม นี่คือการต่อสู้ของทุกคนที่เชื่อในความก้าวหน้า ความหลากหลายแตกต่าง (พหุนิยม)” (ดูหัวข้อ Text of George Bush”s speech ใน theguardian.com 21.09.2001)
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเพียงสองปี สถานการณ์สงครามอิรักพลิกผัน สหรัฐมีท่าว่าจะติดหล่มสงครามอีกครั้ง ประธานาธิบดีบุชจำต้องออกมาปราศรัย อธิบายความจำเป็นในการใช้กองทัพยึดครองอิรัก และต่อสู้จนได้รับชัยชนะ
ความบางตอนว่า “พวกถือลัทธิหัวรุนแรง ที่ใช้ศาสนาอิสลามเพื่อวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่รุนแรง ต้องการทำให้ประชาชาติต่างๆ ตกเป็นทาสและทั้งโลกหวาดกลัว เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธเสรีภาพและความก้าวหน้า ดังนั้น จะถูกโดดเดี่ยวและพ่ายแพ้เหมือนลัทธิคอมมิวนิสต์”
และ “กลุ่มก่อการร้ายถือเอาอิรักเป็นแนวหน้าสำคัญในการทำสงครามต่อต้านมนุษยชาติ… ดังนั้น สหรัฐต้องเห็นเช่นนั้น การถอนทหารออกจากอิรักก่อนเวลาอันควร ไม่ช่วยสร้างสันติภาพ สันติภาพในอิรักได้มาด้วยชัยชนะเท่านั้น”
(ดูบทรายงานของ James Phillips ชื่อ Bush Speech Clarifies the War Against Terrorism ใน heritage.org 07.10.2005)
คำปราศรัยของบุชนั้นเห็นกันทั่วไปว่าเป็นการแสดงโวหาร ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงมากนัก เช่น ซัดดัมไม่ได้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย และผู้ที่คัดค้านสงครามอิรักจำนวนหนึ่งอยู่ในชนชั้นนำเอง และมีมวลชนสหรัฐนับล้าน ซึ่งก็ไม่ได้เข้าข้างลัทธิก่อการร้าย เรื่องกลับกลายเป็นว่าสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้ายได้สะท้อนความล้มเหลวทางอุดมการณ์ตะวันตกในเรื่องเสรีภาพ ความก้าวหน้า ความแตกต่างหลากหลายซึ่งเกิดต่อเนื่องกันยาวนานจากปัญหาชาวยิวถึงปัญหามุสลิม
และในปัจจุบันคือปัญหาลัทธิทรัมป์อยู่ในพิมพ์เดียวกัน ได้แก่ การโทษเหตุปัจจัยภายนอก และมองข้ามจุดอ่อนความล้มเหลวของระบบเอง
ระบบอำนาจเดิมอธิบายลัทธิทรัมป์ว่าเกิดจากทรัมป์ที่หลงตนเอง เป็นนักปลุกระดม ใช้นโยบายประชานิยมในการชักจูงให้ประชาชนที่มีการศึกษาน้อยหรืออยู่ห่างไกลจากบริเวณชายทะเลมาลงคะแนนเสียงให้จนกระทั่งได้เป็นประธานาธิบดี โดยที่ไม่ได้บอกอีกด้านหนึ่งว่าเสรีภาพของคนอเมริกันถูกลิดรอนในตัวเอง เนื่องจากเกิดการรวมศูนย์ความมั่งคั่งและอำนาจอยู่ในมือชนชั้นนำและเศรษฐีจำนวนหยิบมือเดียว
เมื่อมีข้ออ้างเรื่องการก่อการร้าย ก็ได้ออกกฎหมายลิดรอนสิทธิประชาชนอเมริกันหนักขึ้น จนถึงสอดส่องระดับบุคคล
มีการแปรกิจการรักษาความมั่นคงภายในของตำรวจให้กลายเป็นแบบทหาร
ในขณะนี้พลเมืองอเมริกันถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมากกว่าตายจากการก่อการร้ายไม่รู้ว่ากี่เท่า
ผู้อพยพในสหรัฐถูกกีดกัน เกิดการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนาขึ้น
กระบวนโลกาภิวัตน์ที่ตนออกแบบมาเองในกระบวนการแปรเศรษฐกิจตั้งบนฐานของภาคบริการ ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
ทำให้รายได้ของคนงานอเมริกันไม่เพิ่มและต่ำลง
มาตรฐานการครองชีพของชนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ลดต่ำ ภายในกลุ่มนักการเมืองและวงการบริหารเกิดความฉ้อฉล อย่างยากที่จะแก้ไข
ความล้มเหลวทางอุดมการณ์และนโยบายนี้เมื่อนำไปปฏิบัติ ก็ไม่สามารถทำภารกิจให้ลุล่วงไปได้ ยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้เกิดการก่อการร้าย การค้นหาและทำลาย การตัดท่อน้ำเลี้ยงและอื่นๆ ล้วนไม่สำเร็จ กลับเกิดกลุ่มก่อการร้ายใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม ได้แก่ กลุ่มรัฐอิสลาม เป็นต้น
แม้กลุ่มอัลไคด้าที่เป็นเป้าทำลายล้าง ก็เกิดมีข่าวรายงานว่า อดีตสายลับของหน่วยเอฟบีไอสหรัฐ นายอาลี ซูฟัน ยืนยันว่ากลุ่มอัลไคด้าในปัจจุบันยิ่งขยายตัวภายใต้การนำของนายฮันซา บุตรชายของ บิน ลาเดน ซึ่งขณะนี้อายุประมาณ 28 ปี ผู้เคยกล่าวทำนองนี้ว่า
“ประชาชนอเมริกันทั้งหลาย เรากำลังมายังพวกท่าน และท่านจะได้รู้สึกมัน และเรามาเพื่อแก้แค้นให้แก่สิ่งที่ท่านกระทำต่อพ่อของผม…อิรัก… อัฟกานิสถาน…เรื่องทั้งหมดคือการแก้แค้น”
กลุ่มอัลไคด้าขณะนี้เคลื่อนไหวอยู่ในกว่าสิบประเทศ และเติบโตขึ้นหลังเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับปี 2011 ในซีเรียประมาณว่ามีนักรบในกลุ่มนี้ถึงราว 20,000 คน (ดูรายงานชื่อ Bin Laden”s Son Wants to Avenge His Father, Ex-FBI Agent Says ใน cbsnews.com 12.05.2017)
การล้มเหลวเสื่อมถอยของสหรัฐนี้ ในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ากังวล เพราะบนเวทีการเมืองโลกสมัยใหม่ ต้องการแกนนำที่กล่าวยืนยันหลักการ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความก้าวหน้า ความไพบูลย์ร่วมกัน แม้จะเป็นเพียงในทางวาจาก็ตาม
แต่เอ่ยเพียงวาจาก็ยังทำไม่ได้ ทั้งโลกตกอยู่ในความไม่แน่นอน ทำนายอะไรไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องลงมือใช้กำลังกันครั้งใหญ่
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโลกอิสลามที่ยิ่งใหญ่และแตกแยกในความขัดแย้งของตะวันออกกลาง