มุกดา สุวรรณชาติ : ผลกระทบจากการเลือกนายก อบจ. และความพร้อมเลือกตั้งใหญ่

มุกดา สุวรรณชาติ

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับประชาชน โดยเฉพาะในยุคหลังที่มีการเลือกนายก อบจ. สมาชิกสภา อบจ.โดยตรงจากประชาชน แต่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

นายก อบจ. ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จึงมีได้เพียงจังหวัดละ 1 คน ส่วนสมาชิก อบจ. ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 24-48 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ

อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

อำนาจหน้าที่นายก อบจ. กับ ส.อบจ. แบ่งบทการเมืองกัน โดยนายก อบจ.รับหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น, จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบฯ ให้สภาท้องถิ่นทราบ

ขณะที่ ส.อบจ.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกข้อบัญญัติที่ใช้ในท้องถิ่น เช่น การจัดการขยะ, ประปา, ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาท้องถิ่น, ให้ความเห็นชอบงบประมาณ และตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น (แต่ตอนเลือกตั้ง ทุกกลุ่มอยากจะให้ประชาชนเลือกทีมเดียวกัน)

ในทางปฏิบัติจริง การบริหาร อบจ.ไม่ได้เป็นอิสระเพราะยังมีการปกครองส่วนภูมิภาคดำรงอยู่ จึงเกิดการทับซ้อนของอํานาจกับการปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกำกับดูแล อบจ.

แสดงว่ากระทรวงมหาดไทยยังคงควบคุมท้องถิ่นอยู่เสมอ โดยมีการจัดตั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขึ้นมาเมื่อปี 2545 ซึ่งทําหน้าที่คล้ายกับกรมการปกครองในอดีต

กล่าวคือ การควบคุมสันนิบาตเทศบาลฯ และสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ อีกทั้งหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะท้องถิ่นอําเภอ ท้องถิ่นจังหวัด นอภ. ผู้ว่าฯ มีอํานาจในการอนุมัติโครงการต่างๆ ของท้องถิ่น

นั่นหมายความว่าท้องถิ่นจะดําเนินโครงการใดๆ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเหล่านี้ก่อน

 

การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. 2563
มีสัญญาณการเมือง และผลกระทบอะไรเกิดขึ้น

1.มีความพยายามยกระดับการเมืองในต่างจังหวัดมาเป็นการเมืองระดับประเทศ

มีการดึงพรรคการเมืองลงไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่น มีผู้สมัครเปิดตัวในนามพรรคการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

เช่น พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 25 จังหวัด

และคณะก้าวหน้า ส่ง 42 จังหวัด

และที่แอบส่ง เช่น พลังประชารัฐ

มีการดึงอุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ

ปรากฏการณ์ที่คณะก้าวหน้า ที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกเดินสายสนับสนุนผู้สมัครนายก อบจ. ในขณะเดียวกันก็มีกระแสต่อต้านแบบขวาจัด และการต่อต้านนั้นมิได้ต่อต้านผู้สมัครที่คณะก้าวหน้าสนับสนุน แต่กลายเป็นการต่อต้านนายธนาธรหัวหน้าคณะก้าวหน้า โดยการอิงกระแสขวาจัด

มีการกระทำเช่นนี้ในหลายจังหวัดที่นายธนาธรเดินทางไปสนับสนุนผู้สมัคร

บางครั้งก็เห็นผู้ต่อต้านเดินทางข้ามจังหวัดไปต่อต้าน และฝ่ายที่ต่อต้านนั้นก็มิได้มีจำนวนมาก บางครั้งไม่ถึง 10 คน

จึงเป็นที่ข้องใจว่าคนเหล่านั้นแอบรับจ้างมาต่อต้านเพื่อทำให้คะแนนเสียงตกหรือไม่

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่เป็นผลดี คือทำให้คนตื่นตัวต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภาจังหวัด หรือต่อไปจะเป็นเทศบาล และ อบต. ทำให้คนสนใจว่าการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวโยงกับการเมืองระดับชาติและจะมีผลให้เกิดการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงถึงบ้านเขา

ตัวอย่างด้านกลับคือ ก่อนการเลือกตั้ง อบจ.ไม่มีใครกล้าบอกว่าอยู่กับพรรค พปชร. ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนเพราะกระแสการเมืองใหญ่รัฐบาลไม่ได้รับการชื่นชม แม้จะสร้างผลโพลบอกว่าประชาชนชอบเกิน 90% แต่คนก็ไม่เชื่อ ประชาชนเชื่อว่าคนรักมีเพียงแค่ผืนหนัง แต่คนชังเท่าผืนเสื่อของวัด

บทเรียนที่นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องสังเกตจากพวกเขี้ยวลากดินในการเลือกตั้งครั้งนี้

1. ในทางยุทธศาสตร์ไม่มีการกระจายกำลังไปทั่วประเทศ แต่เลือกเขตที่มั่นใจ ไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก แบ่งให้เจ้าของถิ่นเป็นคนรับผิดชอบ

2. ในทางยุทธวิธี ยังใช้สงครามภาคพื้นดินเป็นหลัก

3. เพื่อชัยชนะในแต่ละจังหวัด การแตกกันในพรรค หรือร่วมมือข้ามพรรคเกิดได้ทั้งสิ้น

4. ทุกกลุ่มเริ่มมีการเสนอนโยบายเพื่อจังหวัด (คิดเองไม่ทันก็เลียนแบบ)

 

2.การเลือกนายก อบจ. เร่งความขัดแย้งทั้งต่างพรรคกันหรือในพรรคเดียวกัน

สำหรับพรรคเพื่อไทย และ ปชป.เคยผ่านสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว และก็เป็นเช่นเดียวกับพรรคใหญ่เก่าแก่ทั้งหลาย คือจะมีปัญหาที่ผู้สมัครในท้องถิ่นเป็นคนที่เคยสนับสนุนพรรคเดียวกันมาทั้งสิ้น บางแห่งก็ 2 คน บางแห่งก็ 3 คน สุดท้ายก็เลยไม่กล้าสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง ต้องปล่อยให้ผู้สนับสนุนทั้งหลายแข่งกันเอง

ของพรรค ปชป.มักจะเป็นในแถบจังหวัดภาคใต้ ส่วนของเพื่อไทยก็จะเกิดขึ้นในแถบจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ

ตัวอย่างกรณีจังหวัดเชียงใหม่ นายกฯ ทักษิณ เชียร์ผู้สมัครที่ลงในนามพรรคเพื่อไทยด้วยตนเอง แต่มีผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่เป็นอดีตนายก อบจ.เชียงใหม่หลายสมัยและเคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาลงในนามกลุ่มอิสระ

การประเมินกำลังครั้งแรก พบว่าอดีตนายก อบจ.เหนือกว่า แต่เมื่อนายกฯ ทักษิณออกโรงมาสนับสนุนคนจากพรรคเพื่อไทย สถานการณ์ก็พลิกกลับ

ตามกระแสดูเหมือนว่าเพื่อไทยจะเหนือกว่า จึงเกิดการต่อสู้ที่ปลุกความสนใจของผู้คนมากขึ้น กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยต้องยกกำลังขึ้นไปทุ่มกับการเลือกตั้งท้องถิ่นพอๆ กับการเลือกตั้งระดับชาติ

แต่เรื่องเหล่านี้กลับเป็นผลดีต่อระบบการเมือง เป็นผลดีต่อการเลือกตั้ง เพียงแต่สถานการณ์การแข่งขันถูกบีบให้แพ้ไม่ได้ ถ้าเพื่อไทยแพ้ ไม่ใช่ ส.ว.ก๊องแพ้เท่านั้น แต่จะเสียหน้าไปถึงผู้สนับสนุนทั้งหมด

ในขณะเดียวกันที่อดีตนายก อบจ.หมดอำนาจ ตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่เคยยึดครองมานานก็จบลง และฐานเสียงของเพื่อไทยที่เคยเหนียวแน่นในจังหวัดเชียงใหม่จะแตกออกไปอย่างไรก็ไม่รู้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างจังหวัดเดียว อาจมีความขัดแย้งในจังหวัดอื่นๆ ที่มีรายละเอียดต่างกัน เช่น เชียงราย สงขลา ฯลฯ ความขัดแย้งนี้จะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป

 

3.การเลือกนายก อบจ.เป็นทั้งการพัฒนาทางการเมืองและการพัฒนาจังหวัด

มีการชูนโยบายที่จะพัฒนาจังหวัด

แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นถ้าได้ตัวแทนที่ดี ซื่อสัตย์และมีความรู้ก็จะสามารถพัฒนาแต่ละจังหวัดให้ก้าวหน้าได้ จึงมีการเสนอนโยบายทั้งจากส่วนกลางและคิดขึ้นเฉพาะจังหวัด แม้จะมีข้อจำกัดทางกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ อบจ.

ถ้ามองในทางการพัฒนาบ้านเมือง การแข่งขันหาผู้นำท้องถิ่นระดับจังหวัดครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีมาก ไม่ว่านายก อบจ.หน้าใหม่จะมาจากการสนับสนุนของพรรคหรือผู้สมัครอิสระก็ตาม หลังจากได้เป็นนายกครั้งนี้พวกเขาจะต้องมีแนวทางพัฒนาจังหวัด และจะเกิดการเปรียบเทียบในแต่ละจังหวัด

โดยเฉพาะที่จังหวัดใหญ่ ถ้าพรรคการเมืองมีแนวคิดพัฒนาจังหวัดให้เจริญเพียงแค่ 2-3 เรื่อง ก็จะเรียกความนิยมได้แล้ว

ถ้านายก อบจ.มีโครงการที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดได้รับประโยชน์จริงตามที่เคยหาเสียงไว้ต่อเนื่อง ทั้งประชาชนและฝ่ายการเมืองก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ในการพัฒนาแบบนี้ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละกลุ่มแต่ละคน ถึงแม้บางคนจะมองว่าเป็นรูปแบบบรรหารบุรี แต่เมื่อทำในนามของตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาทั้งจังหวัด มันก็เป็นการปูทางประชาธิปไตยพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยทำให้กินดีอยู่ดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น

เมื่อจังหวัดต่างๆ เกิดการแข่งขันกันพัฒนาได้ดีมากขึ้น การเรียกร้องงบประมาณลงมาทำการบริหารเองในแต่ละจังหวัดก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

แม้ฝ่ายที่รวมศูนย์อำนาจจะพยายามต่อต้านอย่างไร แต่ก็จะถูกคนส่วนใหญ่เรียกร้องจนต้องยอมคายงบประมาณออกมา

แต่ในทางปฏิบัติจริงในปัจจุบันอาจไม่ง่าย เพราะยังมีการปกครองส่วนภูมิภาคดำรงอยู่ จึงเกิดการทับซ้อนของอํานาจกับการปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เดียวกัน เช่น ในจังหวัดมีทั้งผู้ว่าฯ กับนายก อบจ. ในอําเภอก็มีนายอําเภอ กับนายกเทศมนตรี ระดับตําบลก็มีนายก อบต. กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน

ซึ่งความทับซ้อนดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนและยังขาดเอกภาพในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นอีกด้วย

วันนี้คนที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางยังมีอำนาจ แต่ต่อไปผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจมากกว่า

ดูได้จากการประท้วงของชาวบ้านในหมู่ที่ 6 ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 849 คน รวมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วย รวมทั้งสิ้น 850 คน ปรากฏว่า หลังจากปิดหีบ มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 1 คน คือตำรวจประจำหน่วย

ส่วนชาวบ้านทั้งหมด 849 คน ไม่มาใช้สิทธิแม้แต่คนเดียว เนื่องจากเคยของบประมาณมาทำถนนภายในหมู่บ้าน ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร จึงอยากให้ อบจ.ได้ทราบบ้าง

แม้นายอำเภอนครไทยใช้เวลาชี้แจงประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ชาวบ้านทั้ง 849 คน ก็ยังนั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน

 

4.การเลือก อบจ. 2563 คือการทดสอบและเตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้งระดับชาติ

หลังการเกิดม็อบประท้วงรัฐบาลนานกว่าครึ่งปี การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้เป็นการวัดฐานเสียงของพรรคการเมืองในต่างจังหวัด เพื่อวางฐานให้ครอบคลุมและแน่นหนามากขึ้น จากนั้นจะสามารถทำให้เกิดตัวแทนเขต และสาขาพรรคที่เป็นจริง ตามกฎหมายพรรคการเมืองบังคับไว้

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีตัวแทนเขตครบ 350 เขต ถ้าไม่มีจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ในเขตนั้นไม่ได้ ปัจจุบันพรรคที่มีถึงครึ่งหนึ่ง น่าจะมีแค่ 1-2 พรรค

ในทางการเมืองแล้วพรรคใหม่ๆ ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการวางฐานเสียงในเขตจังหวัดต่างๆ ของตนเอง

การลงเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการทำกิจกรรมและการต่อสู้ในทางการเมืองที่ได้ผลคุ้มที่สุด ทั้งการวางรากฐานและประชาสัมพันธ์พรรคของตนเอง

สำหรับพรรคการเมืองและนักการเมือง การเลือก อบจ.ครั้งนี้ คือการตรวจสอบฐานเสียงแบบละเอียดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน

หลังจากนี้ทุกพรรคจะสำรวจว่าในขอบเขตทั่วประเทศจะมีจังหวัดไหน เขตใดเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีโอกาสได้ ส.ส. นั่นหมายถึงต้องมีตัวแทนที่มีกำลัง บารมี ชื่อเสียง ที่ลงแข่งได้

ซึ่งการมีโอกาสชนะก็ขึ้นอยู่กับพรรคว่าเป็นที่นิยมมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าได้คนเก่งที่มีกำลังหนุนจากมวลชนและมีในเขตเลือกตั้งก็ยิ่งมั่นใจ

สถานการณ์จริง…รัฐบาลอยากอยู่ยาวที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องเลือกตั้งใหม่ก็ต้องพร้อม

ดังนั้น อาจมีการเลือกเทศบาล และ อบต.ในอีกไม่นานนัก เพื่อจะได้เห็นลายแทงขุมคะแนนได้ชัดเจน และยืดเวลาและความสนใจทางการเมืองไปได้อีกระยะหนึ่ง จากนั้นอาจเป็นการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งเป็นเกมยุทธศาสตร์

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รัฐบาลยังไม่กล้า เพราะรู้ว่าแพ้แน่ ตอนนี้ก็เลยสนับสนุนให้ผู้ว่าฯ กทม.ที่ตนเองแต่งตั้งตั้งแต่สมัย คสช.ปกครองต่อไป

นี่ก็จะเป็นชนวนให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อีกไม่นานนี้ ถ้ายิ่งถ่วงเวลาไปนานก็จะยิ่งแพ้มาก และจะลามไปถึงการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งใหญ่