คุยกับทูต :ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี สหรัฐ-ไทย ชูเศรษฐกิจกู้วิกฤตโควิด-19 ตอน 1 จับมือระยะยาว

หนึ่งปีที่ผ่านมาในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทยคนแรกที่มาจากภาคเอกชน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและไทย โดยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างบริษัทของสหรัฐและรัฐบาลไทย

ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (His Excellency Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาคณะใหม่ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย และยังได้ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐและไทย ด้วยการเข้าพบและหารือกับรัฐบาลเจ้าหน้าที่พลเรือนและทหารบ่อยครั้ง เพื่อแนะนำหนทางที่จะช่วยเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน

ทั้งยังได้กำกับดูแลการสร้าง “Deal Teams” ของสถานทูตที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ภารกิจสำคัญที่ท่านทูตดีซอมบรีมุ่งผลักดันคือการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) การค้า และการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนทั้งในสหรัฐและไทย

โดยเห็นว่าการมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยความสะดวกจะดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงการสร้างโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ จะช่วยเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้

 

เหตุผลในการให้ความสนใจที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐให้เหตุผลว่า

“ในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนแรกที่มาจากภาคเอกชน ผมมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษที่จะสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและไทย ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของผม เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของเราทั้งสองประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในทุกวัน” ท่านทูตชี้แจง

“เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่สหรัฐเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจได้ ก็เพราะจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการของเรา ซึ่งหยั่งรากลึกในวิธีการคิด ตลอดจนความมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมและพัฒนาทางเทคนิคของเรา กรอบด้านกฎระเบียบในสหรัฐที่เลี่ยงการเพิ่มภาระให้ธุรกิจต่างๆ มากเกินไป และสนับสนุนการปรับตัวอย่างรวดเร็วในภาคเศรษฐกิจในช่วงเวลาตึงเครียด ก็มีบทบาทมากต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเราเช่นกัน”

“เราอยากแบ่งปันจุดแข็งเหล่านี้กับบรรดามิตรสหายของเราในไทย ผมหวังว่าจะได้นำการลงทุนจากสหรัฐเข้ามาในไทยมากขึ้น และทำงานร่วมกับภาคีชาวไทยเพื่อช่วยให้ไทยไม่ติดกับดักรายได้ปานกลาง แต่มุ่งหน้าไปยังการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิตอลอย่างที่ประเทศไทยต้องการ”

 

ถามว่า โดยส่วนตัวแล้ว ท่านทูตช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

“ผมใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษช่วยให้บริษัทอเมริกันและบริษัทนานาชาติขยายการดำเนินงานและการลงทุนในเอเชีย ผมเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าบริษัทต่างๆ ตัดสินใจลงทุนอย่างไร และในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผมคุ้นเคยมากกับจุดแข็งของบรรยากาศทางธุรกิจของไทยและประโยชน์ของการจัดตั้งหรือขยายกิจการในไทย ดังนั้น ผมจึงสามารถหารือโดยตรงกับธุรกิจอเมริกันโดยใช้ภาษาแบบที่พวกเขาเข้าใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนในไทย”

“ขณะเดียวกันผมยังประสานงานกับรัฐบาลไทยโดยตรงในฐานะภาคี เพื่อช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการหรือการปฏิรูปเพิ่มเติมซึ่งจะส่งเสริมประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการดึงดูดธุรกิจอเมริกันหรือกิจการระหว่างประเทศอื่นๆ ให้เข้ามา”

“ด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจและกฎหมาย ผมสามารถติดต่อเจรจากับทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานด้านการกำกับดูแลเศรษฐกิจไทยได้อย่างง่ายดาย ใครๆ จะเห็นว่าผมมองประเด็นต่างๆ จากความเป็นนักธุรกิจ ผมเน้นสิ่งที่ทำได้จริงและอยากจะผลักดันการดำเนินงานต่างๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้”

“ผมมองตัวเองว่า เป็นผู้ประสานงานที่สามารถส่งเสริมบริษัทอเมริกันให้เลือกไทยเป็นฐานการผลิตได้ ตัวอย่างเช่น เราสามารถช่วยไทยให้สร้าง Silicon Valley เมืองไทยดังที่หวังไว้ได้ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศการลงทุนที่ดึงดูดใจ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและภาคเทคโนโลยีดิจิตอลจากสหรัฐเข้ามาในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ธุรกิจอเมริกันมีสิ่งที่พร้อมนำเสนอให้ไทยมากมาย ทั้งยังสามารถช่วยให้ธุรกิจไทยพัฒนาบทบาทเป็นประตูสู่อาเซียนและเอเชียได้”

“นอกจากนี้ ธุรกิจอเมริกันยังยึดมั่นในมาตรฐานระดับสูงด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ซึ่งผมทราบมาว่าธุรกิจไทยก็ให้ค่ากับมาตรฐานเหล่านี้เช่นกัน”

 


ท่านทูตดีซอมบรีมีข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทย ดังนี้

“ประเทศไทยมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ก็ยังสามารถดำเนินการเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้นได้ ผมและเอกอัครราชทูตจากประเทศออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น และอังกฤษ ได้ร่วมกันนำเสนอ 10 มาตรการที่ไทยควรมุ่งเน้นเพื่อผลักดันประเทศขึ้นไปสู่ 1 ใน 10 ประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุดตามการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก ข้อแนะนำ 10 ข้อนี้เป็นสิ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งผมเข้าใจว่ารัฐบาลไทยได้รับไปพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว และกำลังดำเนินการในประเด็นเหล่านี้อยู่”

“ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งเมื่อผมหารือกับนักลงทุนต่างชาติทุกระดับคือเรื่องวีซ่าและข้อบังคับอื่นๆ ในการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ บรรดาธุรกิจอยากเห็นไทยเปิดรับแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือมากขึ้น ซึ่งจะช่วยรับมือภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือขั้นสูง และในระยะยาวก็จะช่วยเพิ่มพูนทักษะให้แก่แรงงานไทยด้วย”

“ผมจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่าทำไมไทยถึงไม่ควรกลัวการเปิดรับแรงงานต่างชาติ เมื่อ 30 ปีที่แล้วที่บริษัทดาว เคมิคอล และบริษัทสยามซีเมนต์ กรุ๊ป ร่วมกันก่อตั้งโรงงานร่วมทุนด้านปิโตรเคมีแห่งแรกในไทย กว่าร้อยละ 30 ของพนักงานเป็นชาวต่างชาติ ในปัจจุบันนี้ธุรกิจร่วมทุนดังกล่าวว่าจ้างแรงงานต่างชาติเพียงคนเดียวจากพนักงานทั้งหมด 1,000 คน ซึ่งคล้ายคลึงกับบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ใน EEC นี่เป็นเพราะแรงงานต่างชาติช่วยฝึกอบรมชาวไทยเป็นเวลาหลายปีเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานได้อย่างสมบูรณ์”

“ดังนั้น เราจึงสนับสนุนให้ไทยขยายโอกาสสำหรับแรงงานต่างชาติโดยทั่วไป ไม่ใช่เพียงให้ข้อยกเว้นต่างๆ เท่านั้น เพื่อให้บริษัททั้งหลายจัดตั้งฐานการผลิตและนำบุคลากรจากต่างประเทศเข้ามาเสริมสร้างทักษะให้แรงงานไทยรุ่นต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น”

“นอกจากนี้ เรายังอยากเห็นรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความโปร่งใสต่อไป เพราะนักลงทุนต่างก็อยากเห็นความโปร่งใสและคาดการณ์กฎระเบียบที่จะกำหนดขึ้นได้ ไทยสามารถส่งสัญญาณอย่างชัดเจนไปยังนักลงทุนต่างชาติว่าประเทศเปิดรับการลงทุนใหม่และการลงทุนที่มีแต่เดิม โดยร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติอย่างโปร่งใสเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทด้านการค้าและอื่นๆ ภายใต้กรอบสัญญาและข้อตกลงในปัจจุบัน ด้วยการยึดบรรทัดฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับ”

 

ถามถึงการมองอนาคตธุรกิจอเมริกันในไทย ท่านทูตให้คำตอบว่า

“ไทยและสหรัฐเริ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจครั้งแรกภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ.1833 (พ.ศ. 2376) ปัจจุบันมีบริษัทเกือบ 2,000 แห่งที่จัดตั้งในไทยภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้ และหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยประมาณการว่า บริษัทสหรัฐมีมูลค่าการลงทุนในไทยกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

“ผมเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย มั่นคง และเชื่อถือได้สำหรับการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัท จึงได้ชี้ให้บริษัทสหรัฐที่ต้องการขยายหรือย้ายฐานการดำเนินงานไปยังต่างประเทศเห็นถึงข้อได้เปรียบต่างๆ ของไทย”

“นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างแท้จริงในด้านการสาธารณสุข โดยควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไทยในอนาคต เนื่องจากบริษัททั้งหลายต่างก็จะต้องคำนึงถึงโรคระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายภาคหน้าเมื่อพวกเขาวางแผนเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของตน ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในหลายปีข้างหน้านี้ ท่านจะได้เห็นการลงทุนจากสหรัฐและบริษัทต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

“ในโอกาสเทศกาลแห่งความสุข วันนี้ ผมขอส่งความสุข ความปรารถนาดีมายังรัฐบาลไทยและคนไทยทุกท่าน ขอให้สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ”