“โควิด” รอบใหม่ทุบเศรษฐกิจ ห้าม “เคาต์ดาวน์” กำลังซื้อปีใหม่หายวับ

หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเจ้าของแพปลาที่ตลาดกุ้งมหาชัย สมุทรสาคร ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเร่งขยายผลไปยังต้นตอที่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศเมียนมา ที่ลุกลามไปในหลายๆ จังหวัด และทำให้ตัวเลขผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ทะลุหลักพันไปเรียบร้อย

อีกด้านหนึ่งก็พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายระลอกใหม่นี้ยังส่งผลกระทบกับตลาดค้าสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ “ซีฟู้ด” และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขนส่งสินค้าสัตว์น้ำสะดุดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ทั้งเรือประมง แพปลา โรงงานผลิตอาหารทะเล ผู้ประกอบการห้องเย็น-อาหารทะเลสำเร็จรูป ฯลฯ

รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคในการซื้ออาหารทะเล

เริ่มจากชมรมผู้ขายปลาสมุทรสาครมีความเห็นว่าตลาดทะเลไทยควรแสดงความรับผิดชอบและเสียสละต่อส่วนรวม โดยการหยุดการซื้อ-ขายสินค้าทุกชนิดในตลาดปลาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ถัดมาอีกวันเดียว กลุ่มผู้ประกอบการตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลองจำกัด ที่ได้ชื่อว่าตลาดปลาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากตลาดปลาทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ก็ประกาศปิดตลาดอีก 14 วันเช่นกัน

อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันในสมุทรสาครมีโรงงานอยู่มากกว่า 6,082 โรงงาน ในจำนวนนี้เป็นโรงงานในอุตสาหกรรมอาหาร 731 แห่ง และมีแรงงานต่างด้าวอยู่ประมาณ 233,000 คน (ถูกกฎหมาย) และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและปิดตลาดทะเลไทย 14 วัน (21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะมีความเสียหายวันละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ “สมพร สมุทรโสภากุล” ประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลอง กล่าวภายหลังการประกาศปิดตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลองไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า การปิดตลาดจะก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท/วันเช่นกัน

รวมทั้ง 2 ตลาดที่ปิดไปแล้วน่าจะมีความเสียหายเกือบ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยว่า ในระยะต่อไปต้องมีการปิดสะพานปลาเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเรือประมงไม่สามารถส่งปลาขึ้นที่ท่าเทียบเรือได้ จะก่อให้เกิดความเสียหายในภาพรวมทั้งผู้ประกอบการประมงและโรงงานอาหารทะเลอย่างหนัก

ไม่เพียงเฉพาะธุรกิจประมงเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย แต่พิษร้ายของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นลามไปถึงธุรกิจอีเวนต์ที่เป็นงานรื่นเริงช่วงปลายปี ที่หลายๆ ฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยปลุกให้การจับจ่ายในช่วงโค้งสุดท้ายของปีมีความคึกคักมากขึ้น

“สง่า เรืองวัฒนกุล” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า โควิดระลอกใหม่ส่งผลกระทบกับกลุ่มธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทศกาลแห่งความสุขช่วงปลายปีกระตุ้นยอดขายค่อนข้างมาก รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวในย่านถนนข้าวสาร หลังมีข่าวระบาดรอบใหม่เพียงคืนเดียว ยอดขายของร้าน ผับ บาร์ย่านนี้ลดลงถึง 60-70% จากที่เคยมีรายได้ 7 แสนบาท/คืน ลดทันทีเหลือแค่ 1 หมื่นบาท/คืน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสมาคมได้ตัดสินใจยกเลิกการจัดงานเคาต์ดาวน์ตามนโยบายของทางการแล้ว จะมีเพียงการจัดไฟประดับย่านถนนข้าวสารเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนเดินเที่ยว ถ่ายรูป แต่จะป้องกันอย่างเข้มงวด ทั้งเว้นระยะห่าง, จำกัดจำนวนลูกค้า ไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง

เช่นเดียวกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ได้ประกาศยกเลิกการจัดงาน 7 Days 7 Splendid Wonder Entertainment และ The Grand Christmas Concert 2020 ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-30 ธันวาคม 2563 นี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด (ยกเว้น MotherFunky และ International Jazz Band)

ขณะที่ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดอีเวนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทจะจัดอีเวนต์ตามแผนที่วางไว้ ได้แก่ งาน Amazing Thailand Countdown ซึ่งร่วมมือกับไอคอนสยาม (31 ธันวาคม) และงานเทศกาลประดับไฟฤดูหนาว 2564 ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย (1 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2564) โดยจะเข้มงวดเรื่องคัดกรอง ตามที่ทางการแนะนำอย่างเคร่งครัด

ด้านความเคลื่อนไหวของหลายๆ จังหวัด ล่าสุดหลายๆ จังหวัดได้ทยอยประกาศงดจัดงานรื่นเริง-การเฉลิมฉลองปีใหม่อย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากเมืองพัทยา-ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมาก ได้มีคำสั่งให้ทุกพื้นที่งดการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะมีการรวมตัวของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถจำกัดจำนวนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แม้จะมีมาตรการในการป้องกันอย่างเข้มงวดก็ตาม

เช่นเดียวกับหลายๆ จังหวัด อาทิ กาญจนบุรี ที่ร่อนคำสั่งงดจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่เพื่อหนีโควิด-19 ส่วนจังหวัดนครราชสีมา ทั้งเดอะมอลล์ โคราช และเทอร์มินอล 21 ต่างพร้อมใจกันยกเลิกงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่ ขณะที่พ่อเมืองโคราช “วิเชียร จันทรโณทัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประกาศให้ส่วนราชการในพื้นที่ยกเลิกการจัดกิจกรรมปีใหม่ทั้งหมด รวมทั้งกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี

ส่วนระยอง ก็ได้ประกาศยกเลิกจัดงานปีใหม่-งานกาชาดประจำปี 2563-2564 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2563-3 มกราคม 2564 ขณะที่ขอนแก่น มีคำสั่งยกเลิกจัดงานเคาต์ดาวน์ปีใหม่-สวนเรืองแสง รวมถึงยะลา ที่เตรียมจะจัดงานเคาต์ดาวน์ จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้มีมติเห็นพ้องประกาศเลื่อนการจัดงานยะลา countdown 2021 ชาวยะลาสุขใจต้อนรับปีใหม่ 2564 ออกไปไม่มีกำหนด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศดังกล่าว ล้วนเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับประชาชนเป็นวงกว้างตามมา

“ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในระยะสั้นจะกระทบการจับจ่ายช่วงปลายปี กิจกรรมเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่คงจะเงียบ หากผู้ติดเชื้อพุ่งเป็นหลักร้อยในทุกๆ วันก็น่าห่วง ทางการอาจจะประกาศล็อกดาวน์อีก ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจมาก แต่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดี คาดว่า 2-3 เดือนนี้ ธุรกิจต่างๆ คงกลับมาดำเนินได้ตามปกติ

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย แสดงความเห็นว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ จุดที่เห็นคือการจับจ่ายใช้สอยช่วงปีใหม่ การจับจ่ายของผู้บริโภคจะชะลอตัวลง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่นี้ราวๆ 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน เป็นความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล 13,000 ล้านบาท จากการชะลอบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวอาจกระทบในขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ จากคู่ค้า

นอกจากนี้ ก็จะเป็นความสูญเสียจากที่ประชาชนชะลอทำกิจกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท และความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เม็ดเงินที่หายไป 17,000 ล้านบาท

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างใน 6 จังหวัดที่ใกล้เคียงกับสมุทรสาคร คือ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมประมาณ 5.7 ล้านคน

ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (22 ธันวาคม) มีมติอนุมัติเงินชดเชยการเลิกจ้างดังกล่าว คิดเป็นวงเงินกว่า 5,225 ล้านบาท และยังมีมติเห็นชอบการลดเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน รวมเป็นเงินกว่า 8,248 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้

หากควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นก็จะลดลงเป็นเงาตามตัว

“ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก”…สวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ท่องให้ขึ้นใจ