บทวิเคราะห์ : คดีการเมือง หลังยกฟ้อง “แม่จ่านิว-จาตุรนต์” ไม่ผิดคดี ม.112, ม.116 สะท้อนเครื่องมือรัฐ เล่นงานฝ่ายคนเห็นต่าง

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา เอาผิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ภาพที่ตามมาคือการที่แกนนำกลุ่มราษฎรถูกแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจำนวนมาก

รวมถึงผู้ร่วมชุมนุมและแม่ยกม็อบอย่างทราย เจริญปุระ ก็ไม่รอด

ล่าสุดสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UNOHCHR ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีทางการไทยตั้งข้อหาผู้ชุมนุมอย่างน้อย 35 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นนักเรียนวัยเพียง 16 ปี ด้วยมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาไทย

พร้อมเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิกและยุติการใช้กฎหมายดังกล่าว

จากท่าทีการสั่งเอาผิดกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายสารพัด โดยเฉพาะมาตรา 112 ทำให้ฝ่ายรัฐถูกมองว่ามีวัตถุประสงค์เพียงบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจ สร้างความเหน็ดเหนื่อย หวาดกลัวให้กับแกนนำม็อบ ในสถานการณ์เผชิญกับนิติสงคราม ไม่มีวันจบสิ้น

เช่นเดียวกับก่อนหน้า หลายคนต้องเผชิญชะตากรรมลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว

น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ แม่ของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถูก คสช.แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากมูลเหตุเพียงแค่ตอบแชตข้อความด้วยคำว่า “จ้า” เพียงคำเดียว

หรือนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ฐานขัดคำสั่ง คสช. และความผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีแถลงข่าวต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช.

แต่สุดท้ายทั้ง “แม่จ่านิว” และนายจาตุรนต์ก็ได้รับความเป็นธรรมจากศาล

ความยุติธรรมที่แม่จ่านิวได้รับคืนนั้น

สืบเนื่องจากวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการ เป็นโจทก์ฟ้องแม่จ่านิว เป็นจำเลยในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยคดีโอนมาจากศาลทหาร

คำฟ้องระบุ วันที่ 12 มีนาคม 2559 จำเลยใช้เฟซบุ๊กแชตกับนายบุรินทร์ อินติน มีข้อความหมิ่นประมาทสถาบัน โดยจำเลยโพสต์ข้อความโต้ตอบว่า “จ้า” เท่ากับเป็นการยอมรับและมีส่วนร่วมในการโพสต์ข้อความ

นายบุรินทร์ถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก ส่วนแม่จ่านิวให้การปฏิเสธ ได้รับการประกันตัวต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ระหว่างเวลา 22.00-22.40 น. วันที่ 12 มีนาคม 2559 จำเลยอ่านข้อความเฟซบุ๊กของนายบุรินทร์หลังจากผ่านไป 5 นาที จำเลยถึงตอบว่า “จ้า”

โดยพยานนักวิชาการเบิกความว่า คำว่า “จ้า” เพียงคำเดียว ไม่สื่อความหมายอะไร และการที่จำเลยไม่โพสต์ข้อความอื่น นอกจากคำว่า “จ้า” แสดงว่าจำเลยต้องการสิ้นสุดการอ่านข้อความเท่านั้น จากนั้นไม่มีความเห็นอื่น

จึงฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาทำความผิด พิพากษายกฟ้อง

แม่จ่านิวเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ไม่น่าเป็นคดีตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะตนเองเป็นแม่จ่านิว ถึงถูกดำเนินคดี โดยรู้สึกโล่งใจและขอให้อัยการอย่าอุทธรณ์เลย เดิมคดีนี้อยู่ในศาลทหาร จึงรู้สึกกังวล เพราะไม่ให้คนอื่นเข้าฟังการพิจารณา

ส่วนคดีอื่นก็ได้รับการยกฟ้องหมดแล้ว

สําหรับคดีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ศาลอาญาอ่านพิพากษาในวันเดียวกัน

เป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเอาผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 37/2557

กรณีวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นายจาตุรนต์แถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศต่อต้านการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. ทำให้ประชาชนเห็นว่าการเข้าควบคุมอำนาจเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 368, 91 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า

จำเลยเพียงไปงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ มีผู้เข้าฟัง 80 คน และจำเลยแถลงสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คสช. และเรียกร้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

แม้พยานโจทก์ให้เหตุผลว่า จำเลยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง รมว.ศึกษาธิการ มีประชาชนให้ความเชื่อถือ และการกระทำอาจยุยงปลุกปั่นประชาชนให้หลงเชื่อคล้อยตามออกมาต่อต้านการรัฐประหาร จนเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง

แต่ความผิดตามมาตรา 116 ต้องปรากฏโดยชัดแจ้ง

การที่จำเลยไปแถลงข่าวเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงออกโดยคำพูดที่ทุกคนมีสิทธิได้รับตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นสมาชิก

ที่สำคัญไม่ปรากฏหลังจากแถลงข่าวแล้วมีประชาชนออกมาสร้างความปั่นป่วน และในข้อความที่จำเลยแถลง ไม่มีข้อความใดเจตนาให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.

เช่นเดียวกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เฟซบุ๊ก กลับได้ข้อเท็จจริงว่าหลังจำเลยถูกควบคุมตัว ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ

สอดคล้องกับพยานจำเลยยืนยันหลังทหารเข้าควบคุมตัว จำเลยถูกยึดโทรศัพท์มือถือและไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่สามารถติดต่อเครือญาติได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีมูลเพียงพอ พิพากษายกฟ้อง

นายจาตุรนต์เผยว่า ระหว่างถูกดำเนินคดีนาน 6 ปี เห็นว่ามีเรื่องที่ควรจะจัดการต่อ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีในลักษณะกลั่นแกล้งคนคิดเห็นต่างจากรัฐ

คดีนี้มีความไม่ชอบมาพากลมากมายหลายอย่าง ตั้งใจตั้งข้อหามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เพื่อให้นำตัวไปส่งศาลทหารทั้งที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ

 

นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ผู้ถูกแจ้งความคดีมาตรา 112 มาแล้วหลายคดี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การแจ้งข้อหา ม.112 กับผู้เห็นต่าง เพียงเพื่อการกลั่นแกล้ง และเป็นใบเสร็จชัดเจน โดยผู้มาแจ้งความดำเนินคดีมีวัตถุประสงค์บางอย่าง เพื่อหวังสกัดกั้นการชุมนุมเท่านั้น

จากคดีมาตรา 112 ของแม่จ่านิว มาถึงเอาผิดนายจาตุรนต์ ตามมาตรา 116 สะท้อนถึงการลุแก่อำนาจ พยายามใช้กฎหมายไล่บดขยี้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน พยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดๆ

เช่นเดียวกับชะตากรรมที่บรรดาแกนนำกลุ่มราษฎรและแนวร่วมผู้ชุมนุมที่ต้องตกเป็นเหยื่อกฎหมายมาตรา 112 และ 116 จำนวนหลายสิบคน ถูกเหวี่ยงแหดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายรัฐ

ซึ่งน่าเป็นห่วงผลที่ตามมาจากนี้ หากรัฐบาลยังใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายผู้เห็นต่าง อย่างหนึ่งก็คือจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายค่อยๆ หมดลง กระทั่งไม่มีใครเกรงกลัวอีกต่อไป

เมื่อนั้นบูมเมอแรงก็จะหมุนวนกลับมาทำร้ายผู้ที่ขว้างมันออกไปนั่นเอง