อนุช อาภาภิรม : ธรรมชาติโลกในยุคจักรวรรดิของมนุษย์

วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (3)
นิเวศวิทยาเชิงจักรววรดิ
: ฟรานซิส เบคอน กับความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์

นิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิ เริ่มขึ้นจากการแตกแขนงของระบอบฟิวดัลสู่ระบอบทุนนิยมเสรีในยุโรป (ต่อมาขยายไปยังอเมริกาและทั่วโลก) มีความก้าวหน้าทางความรู้ และระเบียบวิธีใหม่ในการสร้างความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและกฎของมันอย่างลึกซึ้งขึ้น เกิดความคิดว่ามนุษย์เป็นเจ้าของ ผู้ควบคุม จัดการ และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลและสังคม

การก่อตัวของนิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิประกอบด้วยกิจกรรมนำทางหลายด้าน ได้แก่

ก) การค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัสระหว่างปี 1492 ถึง 1502 เปิดทางแก่การพัฒนาการและการค้าแบบใหม่ ก่อแรงบันดาลใจอย่างสูงในการใช้วิทยาการทั้งหลายเพื่อสร้างโลกในอุดมคติ หรือดินแดนที่บริสุทธิ์สำหรับตะวันตก

ข) การพัฒนาการพิมพ์ของกูเทนเบิร์ก (ราวปี 1450) เป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารครั้งแรกของยุโรป ทำให้การสร้างและการเผยแพร่ความรู้สะดวกและมีราคาถูกลง

ค) การปฏิรูปคริสต์ศาสนา นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ในปี 1517 โยกคลอนสถาบันศาสนา เปิดทางแก่วิทยาศาสตร์ และการสร้างความรู้ของมนุษย์ และความสำคัญทางกิจกรรมการผลิตและการค้า อังกฤษเปลี่ยนเป็นนิกายอังกฤษในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (ระหว่างปี 1529-1537) และยังเกิดกลุ่มพิวริตัน ทำการปฏิรูปศาสนาให้ “บริสุทธิ์” ขึ้นอีก เข้าร่วมกับกลุ่มพ่อค้าที่มีบทบาทมากขึ้น

ง) การเผยแพร่ผลงานของโคเปอร์นิคัสในปี 1543 โคเปอร์นิคัส (1473-1543) นักคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ พระนิกายคาทอลิก ชาวโปแลนด์ ได้เสนอว่าการโคจรของดาวเคราะห์ทั้งหลายนั่น มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง และโลกหมุนรอบตนเอง ตลอดชีวิตไม่มีใครสนใจงานของเขา

แต่ภายหลังถือว่าเขาเป็นผู้นำการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุโรป

 

ในอังกฤษยังมีกิจกรรมที่สำคัญมากคือการปฏิวัติการเกษตร ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นพื้นฐานของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1750 การปฏิวัติการเกษตรในอังกฤษ ที่สำคัญได้แก่

ก) กระบวนการล้อมที่ดิน ทำให้ที่ดินสาธารณะสำหรับชาวนาขนาดเล็กค่อยๆ หมดไป เกิดการทำฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้น กระบวนนี้ยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน

ข) การปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อรักษาดินให้สมบูรณ์ด้วยไนโตรเจน

ค) การบำรุงพันธุ์สัตว์ เช่น แกะ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

ง) การพัฒนาหัวคันไถที่เป็นเหล็ก

จ) ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่ การพัฒนาตลาดการค้าสินค้าเกษตรในระดับชาติขึ้น ความมั่งคั่งสมบูรณ์จากการปฏิวัติการเกษตร ทำให้อังกฤษสามารถตั้งธนาคารแห่งประเทศอังกฤษในปี 1694 เป็นต้นแบบของธนาคารกลางทั่วโลก

ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวดังกล่าว อังกฤษได้สร้างนักปรัชญาธรรมชาติที่โดดเด่นคนหนึ่ง คือ ฟรานซิส เบคอน (1561-1626) เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ในรัชสมัยพระนางอลิซาเบธที่ 1 (ครองราชย์ระหว่างปี 1558-1603) ที่ถือว่าเป็นยุคทองอังกฤษในการยึดครองจับจองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม ได้แก่ ในอเมริกาเหนือ เช่น เวอร์จิเนีย และแอฟริกาตะวันตก เป็นต้น เป็นผู้วางรากฐานของจักรวรรดิอังกฤษอันใหญ่โต

เบคอนเป็นผู้บุกเบิกความก้าวหน้าใหม่ของการเรียนรู้

เขาได้เน้นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นอันตราย หากเป็นคุณแก่มนุษย์ เป็นเครื่องมือในการพิชิตและควบคุมธรรมชาติ เป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์สามารถกลับมาควบคุมสัตว์ทั้งหลายได้อีกครั้ง หลังจากถูกขับออกจากสวรรค์เนื่องจากไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าไปกินผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้

หนทางเดินของมนุษย์ก็คือ กินผลไม้แห่งความรู้ต่อไป และสร้างสวนสวรรค์ขึ้นด้วยตนเอง แม้มีความยากลำบากและต้องเจ็บปวด

เบคอนเห็นว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์และมีข้อบกพร่องมาก บุคคลผู้เป็นคนดีทั้งหลายควรจะได้แสวงหา “ชัยชนะเหนือธรรมชาติ” เข้า “เปลี่ยนแปลงและข่มธรรมชาติ”

เบคอนยังกล่าวว่า “มนุษย์เมื่อพิจารณาในด้านเหตุปัจจัยสุดท้าย ควรถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ดังนั้น ถ้าเรายกเอามนุษย์ออกจากโลกนี้ โลกที่เหลือก็จะตกอยู่ในความปั่นป่วน ไร้เป้าหมายและความมุ่งประสงค์… และนำไปสู่ความไม่มีอะไร เนื่องจากทั้งโลกนี้ทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการแก่มนุษย์ เพราะว่าไม่มีอะไรเลยที่จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือเก็บเกี่ยวผลจากมัน…ดังนั้น สรรพสิ่งดูเหมือนจะดำเนินไปเพื่อธุรกิจของมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อธุรกิจของตนเอง”

(ดูบทความชื่อ Imperial tradition Francis Bacon ใน calturalecology.info)

 

เบคอนเป็นที่จดจำทุกวันนี้ในฐานะเป็นบุคคลแรก ที่เสนอทฤษฎีการศึกษาวิจัยอยู่บนพื้นฐานของการทดลอง ไม่ใช่ด้วยการใช้ตรรกะอย่างวิธีของอริสโตเติล ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปโดยเฉพาะในศาสนจักรซึ่งยังคงเป็นศูนย์กลางความรู้ในสมัยนั้น

การทดลองนั้นเกิดจากการสัมผัส การสังเกต การสร้างเครื่องมือวัดและการคำนวณ มีบทบาททั้งในการพิสูจน์ทฤษฎีและการสร้างข้อเท็จจริง เขาประกาศว่า “ความรู้แท้จริงคืออำนาจ” ในด้านดัดแปรโลก รวมทั้งการสร้างอาณานิคมและจักรวรรดิ แต่ก็เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไปได้ดีกับศาสนา

ในช่วงสมัยเดียวกับเบคอน ได้มีนักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่ง คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี (1564-1642) นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญาธรรมชาติชาวอิตาลี ศึกษาดาวเคราะห์หลายดวงจากกล้องดูดาวที่เขาประดิษฐ์ขึ้น

การศึกษาของเขาถูกขัดขวางโดยศาลศาสนาในนิกายคาทอลิก ในปี 1616 และ 1633 เนื่องจากเสนอว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลกอย่างที่เชื่อในวงการศาสนา เขาถูกตัดสินกักบริเวณ แต่ในบ้านจนสิ้นชีวิต ความยิ่งใหญ่ของเขาได้ลดทอนอิทธิพลของศาสนาลงไปอีกมาก

สำหรับนักปราชญ์และนักวิชาการที่มีส่วนสนับสนุนแนวคิดของเขา ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

ก) เรอเน เดการ์ต (1596-1650) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ถือว่าสรรพสิ่งเป็นเพียงวัตถุที่เคลื่อนที่

ดังนั้น จึงถือได้ว่าจักรวาลนี้และร่างกายมนุษย์เป็นเพียงเครื่องจักร ที่เป็นไปตามหลักการแห่งกลไกในหนังสือ ชื่อ “วาทกรรมว่าด้วยระเบียบวิธี” (1637)

เดการ์ตเสนอว่าเป้าประสงค์ของวิทยาศาสตร์คือการค้นพบกฎเหล่านี้ อันเป็นธาตุแท้ของสิ่งในรายละเอียดเพียงพอที่ “เราจะได้นำมันมาใช้ประโยชน์ทั้งหลายตามที่มันถูกเป็นเจ้าของ จากนั้นทำให้เราเป็นนายและผู้ครอบครองธรรมชาติ” เขาได้รับสมญาว่าเป็น “บิดาแห่งปรัชญาสมัยใหม่”

ข) โทมัส ฮอบส์ (1588-1679) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ งานเขียนใหญ่ของเขาชื่อ ลิเวียธัน (Leviathan, เผยแพร่ปี 1651) ฮอบส์เห็นว่า ในสภาพธรรมชาติที่ไร้กฎหมาย ชีวิตของคนเรา “จะเดียวดาย ยากจน สกปรก โหดเหี้ยม และสั้น”

เช่น คนป่าเถื่อนเผ่าต่างๆ ในอเมริกา ที่ทำสงครามระหว่างกันอย่างไม่สิ้นสุด เหมือนว่า “ทุกคนต่อสู้กับทุกคน” มนุษย์มีสิทธิโดยธรรมชาติในการใช้อำนาจเพื่อความอยู่ดีและความอยู่รอดของเขา แต่ในสภาพธรรมชาติจึงไม่อาจเกิดอุตสาหกรรมขึ้นได้ ไม่มีการเกษตรกรรม การเดินเรือ การใช้สินค้าอุปโภค เพื่อการก้าวพ้นสถานะนี้ ผู้มีเหตุผลจะไม่ใช้สิทธินี้ทุกอย่าง แต่จำกัดเสรีภาพของตน โดยการทำสัญญาประชาคม มอบอำนาจให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลในการพิทักษ์สัญญานี้ เป็นอำนาจรัฐในอุดมคติ

วิเคราะห์ถึงที่สุด ฮอบส์เป็นผู้เชื่อในลัทธิอุตสาหกรรม อำนาจบริสุทธิ์ของรัฐ เขาเห็นว่าธรรมชาติเป็นเพียงการรวมของทรัพยากรทั้งหลายหรือถูกวิเคราะห์ในแง่ของความสามารถในการดูดซับมลพิษ

ค) คาร์ล ลินเนียส (1707-1778) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนผู้บุกเบิกการจำแนกหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต เขากล่าวว่า “พระเจ้าเป็นผู้สร้าง ลินเนียสเป็นผู้จัดระบบ”

เขาต้องการจำแนกและวิเคราะห์สรรพสิ่ง เพื่อค้นพบหัตถ์ของพระเจ้าในธรรมชาติ เพื่อการควบคุมธรรมชาติให้ดีขึ้น

เขาเห็นว่า “ขุมทรัพย์ทั้งหมดของธรรมชาติ… ดูเหมือนว่าพระผู้สร้างต้องการให้ไว้แก่มนุษย์ ทุกอย่างเป็นเพื่อรับใช้ประโยชน์ของเขา เป็นอำนาจพิเศษของมนุษย์ที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่เศรษฐกิจของมนุษย์ โดยขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและเพิ่มพูนสิ่งที่เป็นประโยชน์” จากอิทธิพลของลินเนียส

ถือได้ว่าความคิดนิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิแบบเบคอนได้ตั้งมั่นแล้ว

 

สงครามโลกสองครั้งในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมและจักรวรรดิต่างๆ ได้ทำลายความใฝ่ฝันถึงสังคมอุดมคติ หรือยูโทเปียจนหมด

แต่แนวคิดนิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิยังคงอยู่รอดจนถึงปัจจุบัน ในรูปของ “การจัดการสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ระบบนิเวศสามารถให้ผลผลิตมากขึ้น

ที่หยาบไปกว่านั้นนำเสนอโดยผู้นำในหลายประเทศที่ต้องการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกมาตรฐานการครองชีพของผู้คน สรุปอย่างสั้นคือ “เศรษฐกิจอยู่เหนือสิ่งแวดล้อม”

ตัวอย่างที่ชัดเช่น ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐ ที่เดินนโยบายชาตินิยมผิวขาว ประสานกับความคิดประชานิยม ไม่ให้ใครหรือสิ่งใดขัดขวางการกลับมายิ่งใหญ่ของสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีที่ควรกล่าวถึงคือ นายชาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของบราซิล (ดำรงตำแหน่ง 2019 ถึงปัจจุบัน) เขาไม่ยอมรับคุณค่าการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเห็นว่าควรผ่อนคลายกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เมื่อเยอรมนีประกาศงดเงินช่วยเหลือด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่บราซิล จากกรณีเกิดไฟป่าใหญ่ที่แอมะซอน เขาตอบโต้ว่า “(ให้นางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี) เก็บเงินก้อนนี้ไว้ และใช้มันในการปลูกป่าในเยอรมนี ตกลงไหม คุณต้องการเช่นนั้นในเยอรมนี มากกว่าที่เราทำที่นี่”

โบลโซนาโรประกาศว่าควรจะยกเลิกฐานะแหล่งสงวนพันธุ์สัตว์ในบริเวณชายฝั่งเมืองรีโอเดอจาเนโร ซึ่งเป็นแดนเกิดของเขา และพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอันสวยงามเหมือนกังกุง (แคนคูน) ในเม็กซิโก แต่เป็น “กังกุงแห่งบราซิล” เมื่อถูกถามถึงผลกระทบ เขาตอบว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่สำหรับ “พวกมังสวิรัติที่กินแต่ผักเท่านั้น”

ในด้านดินแดนของชนพื้นเมือง ที่ได้รับการประกันในรัฐธรรมนูญฉบับปี 1988 หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง ได้ประกาศว่า เขาจะไม่ลงนามในกฎหมายมอบที่ดินให้แก่ชนพื้นเมืองอีก ให้เหตุผลว่า “พวกเขา (ชนพื้นเมือง) ไม่ต้องการมีชีวิตเหมือนถูกจำขัง เหมือนกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์…พวกเขาต้องการกลมกลืนสู่สังคม พวกเขาต้องการไฟฟ้า พวกเขาต้องการเป็นอย่างที่เราเป็น”

แต่เหตุผลที่แท้จริง อาจเป็นที่เขากล่าวว่า “ชนพื้นเมืองไม่ได้ล็อบบี้ ไม่พูดภาษาเรา และทุกวันนี้พวกเขาได้ครอบครองดินแดนของชาติเราถึงร้อยละ 14…ความต้องการอย่างหนึ่งของพวกเขาคือหยุดการก้าวหน้าของเรา”

(ดูบทความของ Mariana Somoes ชื่อ Brazil”s Bolsonaro on the environment, in his own words ใน nytimes.com 28/08/2019)

เขา เช่นเดียวกับทรัมป์ ดูหมิ่นว่าโควิด-19 เหมือนไข้หวัดธรรมดา ประกาศว่าเขาจะไม่มีวันติดเชื้อนี้

แต่ปรากฏว่า เขากับลูกชายติดเชื้อ ในท่ามกลางปรากฏการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่าชาวบราซิลจำนวนมากไม่ถือโทษว่าเขาเป็นตัวการให้เชื้อนี้ระบาดไปอย่างใหญ่หลวง

ผลการสำรวจประชามติชาวบราซิลในปลายเดือนกันยายน 2020 พบว่า ความนิยมเขาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สูงยิ่งกว่าในเดือนธันวาคม 2019 ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เป็นอันมาก

โดยประชากรร้อยละ 40 เห็นว่าการบริหารของนายโบลโซนาโร “ดี/ดีเยี่ยม”

จากตัวอย่างนี้แสดงว่าแนวคิดว่า “เศรษฐกิจอยู่เหนือสิ่งแวดล้อม” ยังเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปตราบเท่าที่สามารถทำได้ เพียงแต่ว่ากรณีโควิด-19 และวิกฤติโลกร้อนทำให้มันทำได้ยากขึ้นทุกที

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน