เทศมองไทย : ระเบิด “พระมงกุฎฯ” ในมุมมองการท่องเที่ยว

ทุกครั้งที่เกิดระเบิดขึ้นในไทย ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นตามมาไม่มากก็น้อย

ในยามที่การท่องเที่ยวสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากมายถึง 32 ล้านคน ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

การตรวจสอบติดตามเหตุอะไรก็ตามที่กระทบถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวยิ่งเข้มข้นตามไปด้วย

ในวันที่เกิดระเบิดขึ้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงให้หลัง เว็บไซต์ “ซีเอ็นทราเวลเลอร์” ของแม็กกาซีนท่องเที่ยวระดับ “ลักชัวรี่ทัวร์” ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง “ก็องเด นาสต์ ทราเวลเลอร์” ก็ตั้งคำถามขึ้นมาโดยพลัน “การเดินทางเยือนไทยในยามนี้ปลอดภัยหรือไม่?”

ไรอัน แครกส์ ผู้เขียนบทความที่ใช้คำถามดังกล่าวเป็นชื่อ ใช้มุมมองของ “คนนอก” มองเหตุระเบิดดังกล่าวที่ถือว่าเป็นเหตุระเบิดรุนแรง ในที่ชุมชน มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 24 รายว่า เป็นเหตุระเบิด “ใหญ่” ครั้งที่สองในรอบไม่ถึงเดือน ถัดจากเหตุ “คาร์บอมบ์” ที่หน้าห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานีเมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชนิด “ช่วยไม่ได้”

และช่วยไม่ได้อีกเช่นเดียวกันที่ทั้ง 2 เหตุการณ์จะถูกผูกโยงเข้ากับวาระ “ครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร” ที่ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ

เพราะระดับความเข้าใจต่อข้อมูลแต่ละชิ้น แต่ละอย่างผิดแผกแตกต่างกัน

นี่ไม่นับถึงทัศนคติหรือการ “สวมแว่นสี” ที่สร้างความแตกต่างได้มากมายอย่างยิ่งอีกด้วย

 

กลับมาสู่รายงานของ ไรอัน แครกส์ ที่ระบุว่า “บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอนของไทย ทำให้คนภายนอกอาจกังขาว่าการเดินทางไปท่องเที่ยวไทยในยามนี้ปลอดภัยหรือไม่ แต่บรรดาคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองและสังคมที่นั่นดี ยังคงชี้ให้เห็นว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดดๆ และไม่ควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางใดๆ ทั้งสิ้น”

“คนที่รู้เรื่อง” ซึ่งไรอันอ้างถึงนั้น รายหนึ่งคือคนอย่าง แซนดี เฟอร์กุสัน ผู้อำนวยการบริหารของ “เอเชียเดสก์” บริษัทที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ

แซนดีชี้ว่า เหตุที่เกิดแม้จะรุนแรง แต่ก็ไม่ถึงกับมีผู้เสียชีวิต และไม่ได้ถูกระบุว่าเป็น “การก่อการร้าย” เป้าหมายเป็นโรงพยาบาล “ทหาร” ไม่ใช่แหล่งชุมชนที่เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

เขาใช้คำว่า เป็นเพียงเรื่องของ “บางคน” ต้องการ “โจมตีรัฐบาล” เท่านั้น มาใช้เพื่ออธิบายเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ

และย้ำว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ยังไม่ออกคำเตือนนักท่องเที่ยวเลย

“(ในเมืองไทย) มีอะไรอีกมากมายให้คนอเมริกันทำมากกว่าที่จะมานั่งกังวลกับเรื่องนั้น” แซนดีย้ำ

จากจุดนั้น ไรอันนำผู้อ่านไปหา “เจ้าหน้าที่รายหนึ่ง” ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อของกระทรวงต่างประเทศอเมริกัน ช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “ในการออกคำแนะนำ, คำเตือนนักท่องเที่ยว หรือประกาศข้อความด้านความปลอดภัย หรือประกาศฉุกเฉินนั้น จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมทั้งหมด ทั้งในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง”

ในทางหนึ่งนั้น เจ้าหน้าที่รายเดียวกันยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยพร้อมให้คำแนะนำที่จำเป็นและให้ความช่วยเหลือที่ต้องการอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ในอีกทางหนึ่งก็คือการยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เข้าข่ายที่ “จำเป็น” ต้องออกประกาศ แนะนำ, เตือน, หรือใช้มาตรการฉุกเฉินแต่อย่างใด

 

“คนที่รู้เรื่อง” อีกคนที่บอกกับไรอัน คล้ายคลึงกันก็คือ แอนเดรีย รอสส์ ซีอีโอสุภาพสตรีของ เจอร์นียส์ วิธธิน บริษัทจัดการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ ที่บอกว่าบรรยากาศในไทยตึงเครียดมาตั้งแต่รัฐประหารก็จริง แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต ทั่วไทยก็ตกอยู่ในสภาวะไว้อาลัยเสียมากกว่า

รอสส์บอกว่า ทางบริษัทไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ กับกำหนดทัวร์ไทย และยังคงใส่กรุงเทพฯ ไว้ในตารางท่องเที่ยวเป็นปกติ

ปัญหาชวนปวดหัวที่น่าจะเกิดขึ้นและกระทบกับกำหนดการท่องเที่ยวอยู่บ้าง เห็นจะเป็นเรื่องของการแออัด หนาแน่นของการเดินทางในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเสียมากกว่า กระนั้น แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อย่างเชียงใหม่ หรือภูเก็ต ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

เธอเองเตรียมหอบลูกๆ เดินทางมาเที่ยวไทยในต้นเดือนมิถุนายนนี้ด้วยซ้ำไป

 

อ่านแล้ว ผมบอกตัวเองว่า ไทยกับการท่องเที่ยวไทยยังโชคดี ที่แม็กกาซีนท่องเที่ยวระดับกวาดรางวัลมาแล้ว 25 รางวัลเล่มนี้เสนอความเห็นออกมาทางที่ดี และได้ทัศนะจากคนที่รู้จริง จริงๆ ไป

แต่โชคไม่ได้มีมาให้เสมอไปนะครับ

ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุแห่งปัญหา พระท่านว่าไว้อย่างนั้นครับ