มุกดา สุวรรณชาติ : มาตรา 112 และ 116 ปกป้องอำนาจรัฐ แต่ประชาชน…สูญเสียสิทธิเสรีภาพ

มุกดา สุวรรณชาติ

ข่าวในประเทศ

กลุ่มภาคีนักกฎหมาย กล่าวว่า ได้รวบรวมสถิติและช่วยเหลือกลุ่มราษฎรที่ถูกดำเนินคดีจากรัฐมานับจากการชุมนุมครั้งแรก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม จนถึง 7 ธันวาคม พบว่า มีทั้งสิ้น 119 คดี ผู้ต้องหา 220 คน ในจำนวนนี้มีการดำเนินคดีกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี 7 คดี จำนวน 5 ราย คือ กลุ่มนักเรียนเลว ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ต้องหาอายุต่ำสุด คือ 16 ปี นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนอายุ 17 ปี ถูกข้อหา ม.116 ด้วย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเป็นกรณีที่ผิดปกติ เพราะนอกจากผู้ต้องหาจะเป็นเด็กแล้วยังเป็นการดำเนินคดีย้อนหลังคือหลังจากที่นายกฯ แถลงการณ์ว่าใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม

ข้อหา ม.116 ยุยงปลุกปั่น 17 คดี 53 คน และ ม.112 จำนวน 11 คดี 24 คน ข้อหา ม.110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี จำนวน 5 ราย

“ใน 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีการออกหมายจับ 83 คดี ที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน รวมทั้งสิ้น 21 คดี ในจำนวนนี้เป็น ม.112 รวม 7 คดี แต่ถ้านับรวมคดีทั้งหมดของเพนกวิน ที่ทางศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่คดีแขวนพริกเกลือหน้าทำเนียบฯ จะมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 29 คดี ถือเป็นบุคคลที่ถูกดำเนินคดีสูงสุด ขณะที่นายอานนท์ นำภา มี 14 คดี ม.112 จำนวน 3 คดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 10 คดี ม.112 จำนวน 4 คดี นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 12 คดี ม.112 จำนวน 2 คดี

จากการติดตามข่าวพบว่า 8 ธันวาคม มายด์ ภัสราวลี พร้อมพวกรวม 7 คน ก็โดน ม.112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

แทบทุกคนที่เป็นแกนนำโดนข้อหาตาม ม.116 ด้วย แถมมีบางคนโดน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

ข่าวต่างประเทศ

คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศที่ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 รับรองกลไกใหม่ซึ่งจะทำให้สามารถลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ทั่วโลก

เช่น การใช้อำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์

และสั่งห้ามการเดินทางกับบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ความเป็นมาของ ม.112
กฎหมายโบราณ มีมาก่อน 2475

นับแต่สมัยโบราณ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เป็นทั้งประมุข เป็นทั้งรัฐบาล การละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ทั้งด้วยวาจาและการกระทำถือเป็นความผิดร้ายแรง ถือว่าเป็นการทำลายความมั่นคงของรัฐ มีโทษถึงประหารชีวิตและยึดทรัพย์ มีมานานมากแล้ว สมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ 4 เริ่มมีการเขียนและการพิมพ์เผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย ร.ศ.118 สมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการเพิ่มกำหนดโทษผู้ที่ทำการหมิ่นประมาทด้วยการเขียนและโฆษณา

ร.ศ.127 มีการเพิ่มโทษและขยายขอบเขตให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่หมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด มีโทษถึงจำคุกไม่เกินสามปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วย

ต่อมาใน พ.ศ.2470 ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคอมมิวนิสต์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมใน ว่าการสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ตามหลักของระบอบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของอำนาจรัฐผู้อยู่เหนือกฎหมายไปสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แต่ยังมีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ซึ่งรวมถึงสมเด็จพระมเหสี มกุฎราชกุมาร และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย ส่งผลต่อการขยายขอบเขตความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเวลาต่อมา

ปี พ.ศ.2478 มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ลดโทษและกำหนดบทยกเว้นความผิด

รัฐสภายกเลิกมาตรา 100 ของกฎหมายลักษณะอาญา ที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตามหลักความเสมอภาคของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ 2475 ในขณะนั้นซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย”

ต่อมาในปี พ.ศ.2477 มีการแก้ไขในมาตรา 104(1) ของประมวลกฎหมายลักษณะอาญา เป็นว่า “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี… ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาท ด้วยอีกโสตหนึ่ง

แต่ถ้าวาจา หรือได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ปรากฏบทบัญญัติยกเว้นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

พ.ศ.2499 เปลี่ยนมาเป็นมาตรา 112

ในช่วงทศวรรษ 2490 คณะราษฎรเริ่มหมดอำนาจทางการเมือง และการเมืองของโลกอยู่ในช่วงสงครามเย็นที่มีการโจมตีระบอบกษัตริย์โดยแนวคิดคอมมิวนิสต์ จึงมีการตราประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 ขึ้นใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญาฉบับเดิม โดยย้ายไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายใหม่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

พร้อมแก้ไขเนื้อความเป็นว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงทศวรรษ 2500 การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกนำไปผูกเข้ากับความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น การเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ดำเนินการกำจัดและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง คำว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถูกนำมาผูกติดกันไว้ตั้งแต่ยุคนั้น

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อเผด็จการพ่ายแพ้ บทบาทของพระมหากษัตริย์เชื่อมเข้ากับประชาธิปไตย แต่ถูกยกว่าเป็นประมุขและอยู่เหนือการเมือง ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์

ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่จุดที่รุนแรงที่สุดในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนักศึกษา-ประชาชนถูกเข่นฆ่าปราบปรามจากอำนาจรัฐ ทำให้เกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธเกือบทั่วทุกภาค และความกลัวต่อการคุกคามสถาบันกษัตริย์จากสงครามในช่วงเวลานั้นทำให้มีการแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 เป็น

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

 

ความเป็นมา มาตรา 116

เดิมมีกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ในสมัยรัชกาลที่ 5 หมวด 2 ว่าด้วยความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักรมาตรา 104 ไว้ด้วย ความว่า

“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย ด้วยประการใดใด โดยเจตนาต่อผลอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ว่าต่อไปในมาตรานี้ คือ (1) เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดีหรือดูหมิ่น ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ต่อรัฐบาลก็ดี หรือต่อราชการแผ่นดินก็ดี…ท่านให้เอามันผู้กระทำการอย่างใดใดโดยเจตนาเช่นว่ามานี้ ลงอาญาจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง”

ต่อมามีการแก้ไขและย้ายไปอยู่หมวดความมั่นคง

– มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

1. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

2. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

3. เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

ไอลอว์ให้รายละเอียดกับกฎหมายมาตรานี้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น”

หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือสำหรับยุคที่มีรัฐธรรมนูญ

หากเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116

และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด “ความมั่นคง” การกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย

ภายใต้รัฐบาล คสช. มาตรา 116 ได้ถูกใช้ในการเอาผิดกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. พบว่ามีมากมายจากหลายอาชีพ ตั้งแต่ประชาชน นักศึกษา ทนายความ นักเคลื่อนไหว จนมาถึงนักการเมืองและสื่อมวลชน ที่โดนข้อหานี้ ทั้งถูกตั้งข้อกล่าวหาและอยู่ในชั้นพิจารณาคดี

อาทิ

 

ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ “ตูน” อายุ 30 ปี เป็นคนจังหวัดอุทัยธานี เคยประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถูกจับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ติดคุกราว 1 ปีเศษ แต่ก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของ คสช.

7 ธันวาคม 2558 ถูกจับข้อหา ชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขณะร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2559 พอถึงวันที่ 25 มกราคม 2560 ศาลตัดสิน ธเนตรให้การรับสารภาพ ตุลาการศาลทหารพิพากษาให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษ เคยติดคุกในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน แต่ถูกคุมขังเกินโทษแล้ว ศาลจึงสั่งให้ปล่อยตัวในคดีนี้ (ภายหลัง คสช.มายกเลิกคำสั่งที่ห้ามชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ทำให้พวกจำเลยอีก 7 คนที่สู้คดีไม่มีความผิดอีกต่อไป ยกเว้นธเนตรติดคุกฟรี)

แต่วิบากกรรมของธเนตรยังไม่หมด เขาถูกขังต่อในอีกคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ตาม ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องติดคุกต่ออีก 3 ปี 5 เดือน

จนวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลจึงนัดตัดสินคดี “ยุยงปลุกปั่น” ฝ่ายโจทก์มีพยานปาก เจษฎ์ โทณวณิก ที่เบิกความเห็นว่าข้อความของจำเลยมีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ ปลุกปั่นให้คนมารวมตัวขับไล่ คสช. ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

แต่ศาลเห็นว่าการที่จำเลยโพสต์เฟซบุ๊กไม่ร้ายแรง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต จึงพิพากษายกฟ้อง รวมติดคุกฟรี 3 ปี 10 เดือน

การถูกคุมขังอย่างยาวนาน ยังทำให้ธเนตรสูญเสียพ่อไป โดยเขาไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับพ่อในช่วงสุดท้ายของชีวิต

คดี ม.116 ที่น่าติดตามอีกคดีคือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกจับเพราะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างชาติ ต่อต้านการรัฐประหาร 2557 ของ คสช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 น่าจะเป็นคนแรกที่ถูกจับ นำตัวไปขังคุกที่เรือนจำคลองเปรมครึ่งเดือน จึงได้ประกันตัวออกมา จากนั้นพยายามต่อสู้เพื่อให้คดีมาสู่ศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร

คดีนี้จะตัดสินคดีในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ใช้เวลา 6 ปี 7 เดือน

ส่วนคดีของนักสู้เยาวชนทั้งหลาย เป็นคดีการเมือง กฎหมายที่ใช้บังคับก็มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เป็นไปตามปกติของการรักษาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ม.112 ม.116 ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับกระแสการเมืองว่าประชาธิปไตยแรงแค่ไหน แรงกดดันทางสากลแรงแค่ไหน