คุยกับทูต : ยอน ธอร์กอร์ด สายสัมพันธ์ 400 ปี ไทย-เดนมาร์ก ตอน 2 “ชีวิตแบบชาวเดนิช”

เดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำโลกในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยี เทรนด์การออกแบบ ดีไซน์ และผู้นำการปลุกกระแสรักษ์สังคมและสิ่งแวดล้อม มีกรุงโคเปนเฮเกนเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Capital of Scandinavia)

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index – CPI) ประจำปี 2019/2562 จัดอันดับให้เดนมาร์กอยู่อันดับที่ 1 ของโลกในด้านความโปร่งใสอีกด้วย

เดนมาร์กดูเหมือนจะติดอันดับต้นๆ ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ช่างน่าอิจฉาพลเมืองเดนมาร์กยิ่งนัก

พูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวบ้าง

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

ชาวเดนมาร์กชอบท่องเที่ยวและสนุกกับกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า ตั้งเต็นท์ ตกปลา พายเรือคายัค หรือนอนอาบแดดบนชายหาดก็ทำได้หมด

พนักงานบริษัทมักจะได้พักร้อนประจำปีประมาณหนึ่งเดือน

ส่วนวัยรุ่นที่จบมัธยมปลาย มักจะเดินทางเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า sabbat?r เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับชีวิต ก่อนจะมาโลดแล่นในโลกแห่งการทำงาน

นายยอน ธอร์กอร์ด (His Excellency Mr. Jon Thorgaard) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา เปิดเผยว่า

“เรามีนักท่องเที่ยวจากเดนมาร์กมาเยือนประเทศไทยในแต่ละปีประมาณ 170,000 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากทีเดียวเมื่อเทียบกับประชากรเดนมาร์ก 5.82 ล้านคนในขณะนี้”

 

สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกนรายงาน (มีนาคม 2020) ว่า มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2050 เดนมาร์กจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านคน เพราะในปัจจุบันประชากรเดนมาร์กเกษียณที่อายุ 67 ปี มีแนวโน้มการรักษาสุขภาพมากขึ้น อัตราการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

“ชาวเดนมาร์กรู้จักเมืองไทยว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม (The Land of Smile) และชื่นชอบอาหารไทย เดนมาร์กเป็นประเทศที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบด้วยทะเล ส่งผลให้อากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ช่วงฤดูร้อนสั้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทำให้ต้องไปหาสถานที่พักผ่อนชายทะเลที่มีอากาศอันอบอุ่นกว่า ส่วนใหญ่จะมุ่งหนีหนาวไปยุโรปตอนใต้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนได้พบว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง”

“เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนงานหลายอย่างต้องหยุดชะงักหรือขับเคลื่อนได้ช้ากว่าปกติ สถานทูตทุกแห่งมีภารกิจคล้ายคลึงกันในการปฏิบัติงาน เราไม่มีการปิดสถานทูต นอกจากมีความเปลี่ยนแปลงในการทำงาน เช่น เราไม่มีนักการเมือง คนจากกระทรวง หรือบริษัทจากเดนมาร์กมาเยือน แผนกวีซ่าก็ทำงานน้อยลง เรายังคงให้ความช่วยเหลือชาวเดนมาร์ก ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ที่อาศัยในประเทศไทยตามปกติ สายการปฏิบัติงานของเราจึงเปลี่ยนไปมากตั้งแต่ผมมาถึงที่นี่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดังนั้น พลวัตของสถานทูตจึงแตกต่างจากช่วงปกติโดยสิ้นเชิง ก็ได้แต่หวังว่า โลกจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในไม่ช้า ซึ่งก็มีสัญญาณที่ดีบางอย่างจากบริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีนเหล่านี้”

“แม้หลายประเทศในยุโรปมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูง เราก็ต้องหาทางรับมือกันทั้งสองเรื่องคือ การจัดการกับโควิด-19 และทำให้เศรษฐกิจมีความสมดุลในเวลาเดียวกัน จึงต้องวางนโยบายทั้งมิติของการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

 


เดนมาร์กเป็นประเทศที่ 2 ในยุโรปที่ประกาศปิดประเทศรับมือโรคโควิด-19 ตามหลังอิตาลีเพียงไม่กี่วัน ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศ (เท่าที่ตรวจเจอ) มีเพียงไม่กี่ร้อยคนจากประชากร 5.82 ล้านคน

“อย่างไรก็ตาม สังคมของเดนมาร์กค่อนข้างเปิดกว้าง แม้ว่าเกิดการระบาดรอบสอง แต่เรามีมาตรการควบคุมครั้งใหม่เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19”

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการเดนมาร์กสั่งฆ่ามิงค์กว่า 17 ล้านตัวในประเทศ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะกังวลว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ซึ่งพบในมิงค์ อาจทำให้วัคซีนที่กำลังคิดค้นกันอยู่ไร้ประสิทธิภาพ

โควิด-19 เป็นสัญญาณแสดงจุดจบของการค้าขนมิงค์ในเนเธอร์แลนด์แล้ว เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และนอร์เวย์ ก็ทยอยลดการทำฟาร์มมิงค์แล้วเช่นกัน ส่วนสหราชอาณาจักรและออสเตรียสั่งห้ามผลิตขนสัตว์นี้หลายปีแล้ว

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ เปิดเผยว่า เดนมาร์กมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมาจากเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเป็นที่รู้จักในเรื่องของฟาร์มโคนม และโด่งดังในเรื่องตำนานของชาวไวกิ้งหรือเหล่านักรบที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือ ก่อนจะอพยพมาสร้างถิ่นฐานบนภาคพื้นทวีปแถบสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน

แม้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่มีความก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ เทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตร การแพทย์ และดิจิตอล และมีข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม ระบบการเงินการธนาคาร ตลาดทุน

อีกทั้งรัฐบาลไม่มีข้อกีดกันการลงทุนต่างชาติ บริษัทต่างชาติได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันกับบริษัทเดนมาร์ก และเดนมาร์กยังมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงอีกด้วย

 

สําหรับการลงทุนของเดนมาร์กในไทย ท่านทูตเล่าว่า

“มีบริษัทของเดนมาร์กเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากมายกว่า 100 บริษัท เช่น LEGO, ECCO, Pandora, George Jensen, Royal Copenhagen, Maersk Line, Novo Nordisk และ Danfoss เป็นต้น ซึ่งศูนย์ผลิตเหล่านี้ได้ส่งออกสินค้าและบริการไปยังทั่วโลก”

“แพนโดร่า (Pandora) เป็นแบรนด์เครื่องประดับระดับโลก จ้างพนักงานในประเทศไทยกว่า 13,000 คนในปี ค.ศ.2020 และเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องที่ผมพยายามพูดถึงเกี่ยวกับ green footprints โดย Pandora ได้ตัดสินใจที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งสู่โลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral world) ในปี ค.ศ.2025 และเนื่องจากการผลิตเกิดขึ้นที่นี่ ดังนั้น แพนโดร่าจึงต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานของไทยเพื่อให้สามารถดำเนินงานตามเป้าหมายนั้นได้จริง เนื่องจากทราบดีว่า ในขณะที่กำลังผลิตเครื่องประดับในหลายๆ ประเทศผู้บริโภคจะมองว่า บริษัทเป็นบุคคลที่ควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

“ส่วน Novo Nordisk นั้นเป็นบริษัททางด้านสุขภาพ และ กรุนด์ฟอส-Grundfos ผลิตเครื่องปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่”

 

ประวัติ

เอกอัครราชทูตยอน ธอร์กอร์ด
ประสบการณ์ในการทำงาน

2020- : เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยและกัมพูชา

2015-2020 : หัวหน้าแผนกสภาการค้า กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

2011-2015 : รองกงสุลใหญ่เดนมาร์กในนครนิวยอร์ก (New York) และผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนในเดนมาร์กและอเมริกาเหนือ

2006-2011 : รองหัวหน้าแผนกการลงทุนในเดนมาร์ก กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

2003-2006 : หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ สถานทูตเดนมาร์กประจำกรุงปราก (Prague) สาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)

2000-2003 : หัวหน้าแผนกสภาการค้า กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก

1997-2000 : หัวหน้าแผนกหน่วยงานเดนมาร์กเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม

1994 : ฝึกงาน ณ สถานทูตเดนมาร์กประจำกรุงริกา (Riga) ประเทศลัตเวีย (Latvia)

การศึกษา

2002 : Global Executive MBA- Copenhagen Business School and CALT-INSEAD

1996 : Cand. Scient. Pol. (Political Science), University of Aarhus, Denmark

1987 : Grenaa High School, Denmark

1985 : Blue valley High School, Kansas, USA

เครื่องอิสริยาภรณ์ : Knight of the Order of the Dannebrog (Denmark)

เกิด : วันที่ 30 เมษายน 1967 เมืองเอเบลทอฟต์ (Ebeltoft) ในเดนมาร์ก

สถานภาพ : สมรสกับนางคามิลลา (Camilla Haddad Thorgaard) บุตร Rasmus (เกิดปี 1998) และธิดา Alberte (เกิดปี 2001)