ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สาธารณรัฐและสาธารณรัฐนิยม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สมัยผมไปเรียนต่างประเทศใหม่ๆ หนึ่งในเป้าหมายที่ผมมีในใจคือการศึกษาปรัชญาการเมืองตะวันตกเพื่อต่อยอดเป็นมุมมองที่จะช่วยให้เข้าใจสังคมไทย

หลักง่ายๆ ของแนวคิดนี้คือสังคมไทยไม่ได้วิเศษกว่าสังคมอื่น และถ้าเรายอมรับว่าปรัชญาคือกระแสธารทางปัญญาของโลก ปรัชญาการเมืองก็คือศาสตร์ที่เกิดจากการคิดเรื่องการเมืองของคนทั้งโลกจนเป็นประโยชน์กับทุกสังคม

เมืองไทยเรียนปรัชญาการเมืองโดยเน้นที่กรีกและโรมัน และในประเทศซึ่งมีคนเขียนและสอนเรื่องนี้จริงๆ แค่หยิบมือเดียว อะไรที่เกี่ยวกับกรีกและโรมันก็วนเวียนอยู่ที่เพลโต, โสกราตีส และมาคิอาเวลลี จากนั้นก็คือการข้ามไปเรียนเรื่องฮอบส์, ล็อก, รุสโซ, เฮเกล, นิตเช่, มาร์กซ์ ฯลฯ ซึ่งไม่น้อยเป็นการเรียนที่เน้นเรื่องความคิด (Thought) มากกว่าจะเน้นทฤษฎี (Theory) หรือปรัชญา (Philosophy)

ด้วยความที่มีทักษะในการอ่านหนังสือและวารสารวิชาการภาษาต่างประเทศพอสมควร ผมพอทราบอยู่แล้วว่าการเรียนปรัชญาการเมืองในไทยมีเขตแดนจำกัด

ผู้เรียนไม่ได้เรียนเรื่องที่ควรเรียนเท่ากับได้เรียนเรื่องที่ผู้สอนอยากสอน

หรือเท่ากับว่าเราเป็นสังคมที่ความเข้าใจทางการเมืองถูกสร้างขึ้นบนฐานที่เรียวแคบเหลือเกิน

“สาธารณรัฐ” เป็นคำที่ผมจำได้ว่าแทบไม่มีการเรียนการสอนในสังคมไทย

และถึงแม้ผมพอจะเข้าใจว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยทำให้ “สาธารณรัฐ” มีความหมายเพียงแค่ “ล้มเจ้า”

การไม่พูดเรื่องนี้และไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยก็ทำให้คนไทยขาดเข็มทิศที่จะเข้าใจการเมืองไทยเช่นเดียวกับเข้าใจการเมืองโลก

หรืออีกนัยคือไม่มีวิสัยทัศน์จะเห็นการเมืองไทยและการเมืองโลกมากอย่างที่ควรเป็น

“เยาวชนปลดแอก” เป็นคนกลุ่มล่าสุดที่พูดถึง “สาธารณรัฐ” ในสังคมไทย และภายใต้การโจมตีทางการเมืองที่รัฐบาลทหารทำให้เรื่องไม่เอารัฐบาลเท่ากับไม่เอาสถาบัน

ประเด็นที่ “เยาวชนปลดแอก” พูดสั้นๆ โดยอ้างข้อความจากหนังสือสำคัญของโธมัส เพน นักปรัชญาผู้เขียนหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติอเมริกาอย่าง Common Sense ก็ทำให้ “เยาวชนปลดแอก” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

นักการเมืองบางคนประกาศว่าสนับสนุน “เสรีประชาธิปไตย” จนไม่เห็นด้วยกับเยาวชนปลดแอกที่พูดเรื่อง “สาธารณรัฐ” ขึ้นมา และนักวิชาการเก๊ที่ถูกปลุกปั้นโดยสถาบันวิชาการเก๊ซึ่งได้เงินจากสื่อที่รับเงินทหารก็ประโคมว่า “สาธารณรัฐ” เป็นเรื่องเดียวกับ “คอมมิวนิสต์”

จนแสดงความเห็นเรื่อยเปื่อยไปว่า “เยาวชนปลดแอก” จะทำให้สังคมเป็นคอมมิวนิสต์ไปเลย

โธมัส เพน เป็นนักปรัชญาที่สำคัญต่อการปฏิวัติอเมริกา

แต่คำว่า “ปฏิวัติอเมริกา” แตกต่างจากทหารรัฐประหารอย่างที่เกิดในสังคมไทย

แต่คือการทำสงครามประกาศเอกราชของผู้อพยพบนทวีปอเมริกาต่อรัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองอเมริกาในฐานะอาณานิคม

โดยเฉพาะหลังจากอังกฤษสั่งให้คนอเมริกาต้องซื้ออากรแสตมป์ติดสิ่งพิมพ์ทุกอย่างในเขตอาณานิคม

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่ “ปฏิวัติอเมริกา” ก็ห่างไกลจากการ “ล้มเจ้า” อย่างที่เข้าใจในสังคมไทย

อเมริกาปฏิวัติตรงกับไทยใน พ.ศ.2308-2326 หรือสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ถึงปีแรกของรัชกาลที่ 1 เพราะเห็นว่ากษัตริย์อังกฤษเก็บภาษีอย่างโหดเหี้ยม ไม่มีตัวแทนอเมริกันในสภาอังกฤษ รวมทั้งการใช้กองทัพปราบประชาชนที่ไม่ต้องการเสียภาษีอย่างรุนแรง

การปฏิวัติอเมริกาอาจมีด้านที่คล้ายกับ “ล้มเจ้า” ถ้าคิดแบบสังคมไทย แต่ที่จริงความสัมพันธ์ของอเมริกากับอังกฤษไม่ได้มีปัญหามากจนเกิดเรื่องเก็บภาษี

กล่าวอีกนัยคือ อเมริกาไม่ได้ “ล้มเจ้า” เพราะมองกษัตริย์เป็นปัญหาโดยตัวเองอย่างฝรั่งเศส

แต่เพราะไม่พอใจการถูกรัฐบาลอังกฤษเอาเปรียบ และบังเอิญอังกฤษในยุคนั้นอยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เท่านั้นเอง

ตรงข้ามกับคำพูดของนักการเมืองและนักวิชาการเก๊ซึ่งปั่นโดยสื่อเฟกนิวส์ของไทย ปฏิวัติอเมริกาคือหลักฐานว่า “สาธารณรัฐ” ต่างจาก “คอมมิวนิสต์” และเป็นไปได้ที่จะเป็น “เสรีประชาธิปไตย” เพราะประเทศที่เป็นสาธารณรัฐมีตั้งแต่สหรัฐ, ฝรั่งเศส และจีน หรืออีกนัยคือ “สาธารณรัฐ” เป็นเรื่องของ “ความคิด” ไม่ใช่ “รูปของรัฐ” หรือ “ระบบเศรษฐกิจ” อย่างที่มั่วประเด็นเพื่อด่าเยาวชนฟรีๆ

คำพูดของ “เยาวชนปลดแอก” ว่า “เราไม่มีเลือดสีอื่นใด นอกจากสีแดง” อาจฟังดูตื่นเต้นในสังคมไทย

แต่ความเป็นจริงทางชีววิทยาของคนไทยคือเรามีเลือดสีแดงเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแทบทุกชนิดบนโลก

เพียงแต่คำว่า “สีแดง” ในสังคมไทยถูกโยงกับคนเสื้อแดงหรือคอมมิวนิสต์จนคนที่ขาดสติอาจคิดไปว่าประโยค “เรามีเลือดสีแดง” คือข้อเท็จจริงทางชีววิทยา

ตรงข้ามกับความคิดว่า “สาธารณรัฐ” เท่ากับ “ล้มเจ้า” หรือ “คอมมิวนิสต์” อย่างที่พูดส่งเดชในกลุ่มการเมืองฝ่ายหนุนรัฐบาล

“สาธารณรัฐ” คือแนวคิดทางการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อสำนึกพลเมือง (Civic Virtue), ความเป็นพลเมืองที่ใส่ใจส่วนรวม (Active Citizen) หรือการปกป้องเสรีภาพทางการเมือง (Political Liberty) อย่างแรงกล้า

ไม่ใช่เรื่องอื่นที่พูดมั่วจนเหมือนคนอวดรู้ที่ไม่มีความรู้อะไร

แนวคิดสาธารณรัฐสมัยใหม่ที่มีผู้พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ Civic Republicanism ซึ่งเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก่อนเป็นรัฐมนตรีเคยแปลว่า “การสร้างสาธารณนิยมที่เน้นการสร้างพลเมือง” ซึ่งแย่จนไม่ช่วยให้ใครเข้าใจอะไร แต่เราอาจสรุปได้ว่าแนวคิดนี้เน้นความสัมพันธ์ของ “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” และ “การมีส่วนร่วมของพลเมือง” เพื่อสร้าง “ประโยชน์สาธารณะ” ตลอดเวลา

คนไทยสมัยรัชกาลที่ 6 เคยถูกหลอกลวงว่ารัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเท่ากับการปกครองแบบสาธารณรัฐ

ผลก็คือการปลุกปั่นว่าใครต้องการรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเท่ากับพวก “ล้มเจ้า” จนอาจถูกจับขังหรือตัดหัวได้ทุกคน

ปัญหาคือรัชกาลที่ 6 ทรงสวรรคตในปี 2468 หรือเกือบหนึ่งร้อยปีแล้ว แต่ความเข้าใจเรื่องสาธารณรัฐกับประชาธิปไตยของคนบางกลุ่มยังไม่ไปไหนเลย

ในบริบทของตะวันตก “สาธารณรัฐ” หรือ Res Publica หมายถึงการเป็นของประชาชน แต่คำว่า “ประชาชน” ไม่ได้มีความหมายกว้างๆ หากยังหมายถึงสังคมซึ่งวางอยู่บนหลักความยุติธรรมและประโยชน์สาธารณะอย่างยิ่งยวด รัฐในคติแบบ Civic Republican จึงจัดองค์กรทางการเมืองหรือรัฐธรรมนูญที่มุ่งประโยชน์สาธารณะของพลเมืองทุกคนตลอดเวลา

พอสังคมไทยถูกปิดหูปิดตาให้ “สาธารณรัฐ” เท่ากับ “ล้มเจ้า” ก็เข้าใจต่อไปว่า “สาธารณรัฐ” เท่ากับ “คอมมิวนิสต์” และไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย

แต่ที่จริงแกนของสาธารณรัฐคือเรื่องความเป็นพลเมือง, ความรักชาติ (Patriotism) ที่ไม่ใช่คลั่งชาติ (Nationalism) รวมทั้งการควบคุมสถาบันต่างๆ ภายใต้หลักการอย่างการแบ่งแยกอำนาจ รวมทั้งการตรวจสอบและถ่วงดุล

พูดแบบกว้างที่สุด “สาธารณรัฐ” คือแนวคิดที่ว่าปัจเจกบุคคลจะบรรลุคุณภาพขั้นสูงสุดของตัวเองได้ก็แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันทางการเมือง

ความรักชาติกับความเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจของสาธารณรัฐ

เพราะการรักชาติโดยมีสำนึกประชาธิปไตยย่อมนำไปสู่การทุ่มเทมีส่วนร่วมในชาติโดยรับฟังคนทุกฝ่ายตลอดเวลา

ความคิดทางการเมืองแนวสาธารณรัฐมีขอบเขตมากกว่ากะลาใบเล็กของหมอวรงค์และทิศทางไทยเข้าใจ หนึ่งในนั้นการตอกย้ำว่าประชาชนคือ “พลเมือง” ไม่ใช่ “คนใต้ปกครอง”

โดยแก่นของความเป็นพลเมืองคือประชาชนสามารถสบตากับทุกคนในสังคมได้เสมอกัน

ขณะที่สังคมซึ่งประชาชนเป็นแค่ “คนใต้ปกครอง” คือสังคมที่ประชาชนต้องทำอะไรตามผู้มีอำนาจหรือ “ผู้ใหญ่” ตลอดเวลา

รัฐบาลประยุทธ์พยายามจรรโลงอำนาจด้วยวิธีบีบให้สังคมหลงเชื่อว่าการ “ไม่เอาประยุทธ์” เท่ากับ “ล้มเจ้า” จนสังคมไทยตระหนกกับปัญหานี้เกินความจริง

การเปิดประเด็น “สาธารณรัฐ” ของกลุ่มปลดแอกอาจดูล่อแหลมในสังคมที่ถูกหลอกลวงว่าเรื่องนี้เท่ากับ “ล้มเจ้า” ทั้งที่การกระทำจริงๆ ในเรื่องนี้มีแค่การโพสต์เฟซ 10 บรรทัด ซึ่งไม่มีข้อความไหนพูดถึงประเทศไทยหรือ “ล้มเจ้า” เลย

หมอวรงค์อ้างว่าเมื่อกลุ่มปลดแอกเสนอ “สาธารณรัฐ” ซึ่งเท่ากับ “ล้มเจ้า” ไทยภักดีก็จะเสนอ “คืนพระราชอำนาจ” ซึ่งไม่รู้ว่าหมายถึงรัฐประหารหรือสถาปนาระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นมา

แต่ปัญหาคือโพสต์ของกลุ่มปลดแอกยาวไม่เกิน 10 บรรทัด โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเลย การขยายประเด็น “ล้มเจ้า” จึงเป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมในการชงรัฐประหารแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมา

สังคมไทยกำลังเผชิญการปะทุของความคิดที่ต่างกันอย่างไม่เคยมีในสมัยไหน รัฐและประชาชนไม่มีบุญเก่าในการอยู่ร่วมกับความแตกต่างจนเป็นสังคมที่เสี่ยงต่อการมีเรื่องสูง ทางออกของปัญหาในสังคมแบบนี้ได้แก่การฟังคนอื่นด้วยหูที่หาเรื่องให้น้อย ทำความเข้าใจเหตุแห่งความคิดและการกระทำของฝ่ายต่างๆ ให้มาก ไม่ใช่เป็นสังคมที่จ้องจับผิดเพื่อสร้างความขัดแย้งตลอดเวลา

ไม่มีคนกลุ่มไหนในสังคมไทยที่มีศักยภาพจะกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามตัวเองให้สิ้นซากได้ในปัจจุบัน รัฐอาจมีอำนาจและอิทธิพลเหนือกลไกรัฐทั้งหมด แต่รัฐไทยในเวลานี้เอาชนะใจประชาชนไม่ได้ พ่ายแพ้ทางวัฒนธรรมอย่างหมดรูป ขณะที่ประชาชนไม่อยู่ในฐานะจะยึดรัฐเป็นของตัวเอง การแตกหักในเวลานี้ไม่มีใครชนะ มีแค่นำไปสู่จลาจลและความวุ่นวาย

ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน สังคมไทยวันนี้คือสังคมที่ต้องอัพเกรดความสามารถอย่างสูงในการฟังกัน