คุยกับ วิรัช รัตนเศรษฐ ผู้คุมเสียงใน-นอกสภา จับสัญญาณ (ศาล) รัฐธรรมนูญเตือนภัย ไม่อยากลิ้มรส คดีล้มล้างการปกครอง

วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ-รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “ผู้ควบคุมเสียง” ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เขาเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) คุมเกมพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ให้แตกคอ-แตกแถว

นอกจากเป็น “คนคุมเสียง” พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เขายังต้องรับ “เผือกร้อน” เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นก่อนรับหลักการ-เบรกเกมสุมไฟ “ม็อบราษฎร”

ใน “ยามคับขัน” ต้องการคนใจถึง-ไว้ใจได้ “วิรัช” ต้องเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณปี 2564 “ขัดตาทัพ” แทน “อุตตม สาวนายน” อดีตหัวหน้าพรรค

ล่าสุด เขาถูกเชิด-ชูขึ้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดเกมการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)-วางแปลนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เขาจึงเปรียบเสมือนมือประสาน ฝ่ายนิติบัญญัติ-บริหาร

“วิรัช” เล่าเบื้องลึก-เบื้องหลังที่ทำให้ 84 ส.ว. “รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.-ไม่ตีตกทั้งฉบับ ซึ่งเขายอมรับว่า เป็นช่วง “ยากลำบากที่สุด”

“ยังมีดาบสุดท้าย (วาระสาม) เขา (ส.ว.) จะดูซิว่า ทำแล้วจะเป็นยังไง ซึ่งในวาระที่สอง-ขั้นกรรมาธิการ มี ส.ว. 15 คนในชั้น กมธ. แต่ถ้า ส.ว. 15 คนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ ส.ว.ที่เหลืออีก 200 กว่าคนได้ เขาก็จะไม่ให้ (ผ่าน)”

ดังนั้น สุดท้ายแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องกลับเข้ามาให้ ส.ว.เห็นชอบด้วย ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่ให้ 83 เสียง การทำงานต้องประสานทุกฝ่ายให้อยู่ในจุดที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องท้าทาย

แม้ 5 ญัตติของพรรคฝ่ายค้าน-ไอลอว์จะถูกตีตก แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องถูกกำกับจากผู้ควบคุมเสียง ทุกบรรทัด ทุกวรรค ทุกตอน

“มาตรา 256 เราขอแก้ 20 วรรค แต่ละวรรคเขา (ส.ว.) เห็นชอบด้วยไหม สมมุติเขาเห็นชอบ 18 วรรค แต่ไม่เห็นชอบ 2 วรรค มีโอกาสตกหมดเลย”

“ให้ว่ากันจนจบเลย กำลังจะบอกว่า ผมไม่ได้ประวิงเวลา พิจารณาให้เสร็จและรอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดว่า สิ่งที่ทำไปทั้งหมดถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการแก้ทั้งฉบับ หรือแก้บางส่วน”

แสดงว่าไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ส.ส.ร.จะเกิดขึ้น?

“วันนี้คำพูดผมไม่สามารถผูกพันทุกองค์กรได้ สิ่งที่ผูกพันทุกองค์กรได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ”

“ทุกคนพูดกันหมด บางคนบอกแก้ทั้งฉบับ บางคนบอกไม่แก้ทั้งฉบับ เพราะเราเว้นหมวด 1 หมวด 2 แต่เขาบอก หมวด 1 หมวด 2 ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ”

“เรื่องเหล่านี้ เราต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้น จะต้องถูกตีความเป็นระยะๆ แต่อย่าไปคิดว่าเป็นกับดักระเบิด เป็นสัญญาณเตือนดีกว่า เป็นสัญญาณเตือนที่เราต้องเหลียวมามองดูว่า มีอะไรข้างหน้า”

“เป็นสัญญาณเตือน มีอะไรหรือเปล่าที่เราต้องระมัดระวัง เรามีอะไรที่เซฟตี้ได้ ช่วงไหนสะดุดเราก็ต้องหาเซฟตี้ป้องกันตัวไว้ ไม่ได้หมายความว่ามาทำเรื่องนี้ (แก้รัฐธรรมนูญ) แล้วต้องเซฟตี้ตลอด ไม่ใช่มาทำตรงนี้แล้วต้องป้องกันตลอด”

“วิรัช” เปิดใจหลังจาก ชิง (ดำ) เก้าอี้ประธานวิปรัฐบาล มาจาก “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภา ว่า ช่วงที่ “บีบหัวใจที่สุด” ในการรับบท “ผู้คุมเสียง” คือ ช่วงที่ต้องโหวต-นับคะแนน “เสียงสูสี” กับฝ่ายค้าน

“ตั้งแต่ผมรับหน้าที่เป็นประธานวิปรัฐบาล หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม จนถึงวันนี้ 1 ปีก็ผ่านไป นี่ผ่านไปปีครึ่ง ปีหน้าก็ 2 ปีแล้ว มีเหตุการณ์ตลอดที่ทำให้การทำงานระทึกตลอด หัวใจก็สูบฉีดตลอด ช่วงที่บีบหัวใจที่สุดคือ เสียงสูสีกับฝ่ายค้าน”

ถึงแม้ว่า เสียงรัฐบาลขณะนี้จะ “เหนือน้ำ” (276 ต่อ 212 เสียง) แต่เขา “เบาใจได้เพียงบางส่วน แต่ประมาทไม่ได้ เพราะใน 276 เสียง เป็นเสียงของประธานและรองประธานสภา 3 เสียง รัฐมนตรีอีก 10 กว่าเสียง ทั้งหมดประมาณ 15 เสียง ทำให้บางทีต้องตัดออกไปเป็นศูนย์เสียก่อน

“ไม่หนักใจ (เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล) เพราะเราอยู่ด้วยกัน หนักนิดเบาหน่อย พี่เอยน้องเอย บางทีอยากพูดอะไรก็พูดมา ต้องอด (ทน) ไว้ ให้งานมันผ่าน ผ่านมาถึงวันนี้ และก็จะไปอย่างนี้”

“วันนี้นะ ถ้าเผื่อมาถึงในวันนั้นแล้ว อะไรที่เป็นกังวลก็ต้อง…ผมไม่มีนะ ฟรีสไตล์ เป็นไปไม่ได้ บางอันเราก็ต้องให้เอกสิทธิ์ ok มตินี้ฟรีโหวต ด้วยเหตุผล 1 2 3 4 ถ้าอะไรที่ผมแสดงไว้ตรงนี้ ถ้าผิดไปจากนี้ในวันข้างหน้าผมก็จะเอาไปใช้ได้”

“วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนเห็นตรงกันว่าควรแก้ แต่ประเด็นที่แก้ เป็นประเด็นอยู่ที่ว่า เป็นการตีความกฎหมายว่า แก้ทั้งฉบับ หรือแก้เฉพาะบางส่วน”

“ถ้าเขา (ศาลรัฐธรรมนูญ) บอกว่า ไม่ได้ เป็นการแก้ทั้งฉบับก็หยุด แต่ถ้าบอกว่าเป็นการแก้เพียงบางส่วนก็เดินต่อ ไม่มีอะไรเสีย”

“วิรัช” ยอมรับว่า ยังมี “เสียงส่วนน้อย” คุมไม่ได้

“บางครั้งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัว ถามว่าดีไหม น้องไม่เป็นพวกพี่คงไม่เคยลิ้มรสหรอก อย่างเมื่อคราวที่แล้วเซ็นไป 306 เสียง สมัยอยู่พรรคเพื่อไทย เซ็นเสร็จ แก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาว่า การกระทำล้มล้างระบอบประชาธิปไตย 2 ปีเต็มๆ”

“วันนี้สงสัย ถาม ผิดเหรอ ผิดไหม ความคิด หรือนักกฎหมายคนโน้น คนนี้ มันไม่ได้ผูกพันองค์กรไหน คนที่ผูกพันทุกองค์กรคือ ศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องฟัง สงสัยก็ถาม ถามไว้ไม่ดีกว่าเหรอ”

เขาไม่อยากให้มองว่า ประธานวิปรัฐบาล “คุมไม่อยู่”

“ทำไมไม่คิดว่า ประธานวิปยุไปให้เซ็นด้วย”

ในฐานะ “ผู้ควบคุมเสียง” เขามองข้ามช็อต ส.ส.ร.-อ่านเกมล่วงหน้าว่า จุดที่จะทำให้รัฐธรรมนูญตกหรือไม่ตก คือ การแตะ-ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 พระราชอำนาจ 38 มาตรา และบทเฉพาะกาล

“ถ้าถึงจุด ถึงประเด็นที่ต้องรอมชอมก็ต้องหยุดพักการประชุมเพื่อให้มาพูดคุยกัน คุยนอกรอบ คุยในรอบ จุดเริ่ม จุดที่เขาคิด เรามาประมวลคิด เราจะมาดำเนินการวางอย่างไร ที่ถูกใจคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่”

ดังนั้น ด่านสุดท้ายที่จะเป็น “ตัวชี้ขาด” ว่า ส.ส.ร.จะ “คลอด” หรือจะ “แท้ง” และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีโอกาสลืมตามาดูโลกหรือไม่ ฝากไว้ที่ ส.ว. 82 เสียง

“ถึงบอกว่าการทำงานต้องประสานทุกฝ่ายในจุดที่เพียงพอ เป็นเรื่องท้าทาย ก็เหมือนกับเด็กทำการบ้าน ให้เด็กลองทำมาก่อน อย่าเพิ่งไปลงโทษ ถ้าเด็กทำการบ้านมาดีแล้วก็ส่งครูใหม่”

“วิรัช” กาง “ไทม์ไลน์” การแก้รัฐธรรมนูญ ว่าการพิจารณาจะเสร็จในชั้นกรรมาธิการกลางเดือนมกราคม 2564

“ช่วงจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนมกราคมปีหน้า วันหยุดมากจริงๆ (หัวเราะ) อาจจะเลยกลางเดือนไปอีกนิดหน่อย แต่คงไม่มาก แต่จะพยายามสรุปให้เสร็จ ที่เหลือเป็นเรื่องของขั้นตอน เทคนิค”

ดังนั้น กว่าจะ “ตีพิมพ์” และส่งถึงประธานสภาอาจเป็นวันที่ 21 มกราคม 2564 ก่อนบรรจุวาระ 15 วัน คาดว่าจะจบในสมัยประชุมนี้ หรือกุมภาพันธ์ 2564

“หลังจากเสร็จตรงนี้ ไม่ใช่หน้าที่ผมแล้ว หมดภาระ ผมจะไปเก็บอะไรไว้กับตัวนานนักล่ะ 75 ผมก็ไปที่อื่นแล้ว นี่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกส่งไปอยู่คณะไหนอีก”

“วิรัช” ในฐานะผู้คุมเสียง ไม่ประเมินว่า นับจากนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงวาระที่สาม จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง-สิ่งที่ไม่คาดฝันกับรัฐบาลหรือไม่

“ไม่รู้…วันนี้ยังไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรในอนาคต” แต่ให้เขาตอบในฐานะนักการเมืองบ้านใหญ่-สัญชาตญาณแรกของนักการเมือง คือ “ถ้าอยู่เขตเลือกตั้ง ลงพื้นที่บ่อยๆ”