โอวาท “ปธ.ศาลฎีกา” ถึง “ต้นกล้า” เที่ยงตรงทั้งใน-นอกบัลลังก์ ตุลาการห้ามละเมิด กม.เอง

เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา คนที่ 46 เป็นประมุขตุลาการหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ

รับตำเเหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ต่อจากไสลเกษ วัฒนพันธุ์

ได้ประกาศนโยบายสำคัญ คือ 5 ส. ประกอบด้วย เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนรวม

รวมถึงการออกข้อแนะนำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้เข้าถึงสิทธิแม้อยู่ในเรือนจำโดยที่ลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญาไปในตัวด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ได้ให้โอวาทโครงการค่ายต้นกล้าตุลาการ รุ่น 10 ที่เป็นนักเรียน ม.ปลาย ชาย-หญิง 132 คน

ต้นกล้าคือเมล็ดพันธุ์แล้วค่อยโตเป็นต้นกล้า เปรียบกับเยาวชนที่ได้เติบโตเป็นกำลังสำคัญชาติต่อไป

“ต้นกล้าจะแข็งแรงเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อไปได้ก็ต้องได้รับการดูแล รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้ถูกต้อง ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย อยู่กับธรรมชาติและความจริง ต้นไม้ที่เติบโตจากต้นกล้าที่ได้รับการบ่มเพาะอย่างใกล้ชิดจะเติบโตเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง การบ่มเพาะคนให้เติบโตจากต้นกล้ามาเป็นต้นไม้ใหญ่ไม่ใช่แค่รดน้ำพรวนดินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลให้มีทัศนคติ ความรู้ คุณธรรมจริยธรรมเพื่อให้ต้นกล้าเหล่านั้นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถให้ร่มเงาแก่คนอื่นได้ในรุ่นถัดๆ ไป” ประธานศาลฎีกาเกริ่นให้เยาวชนร่วมโครงการฟัง

“เมทินี” ได้บอกถึงที่มาศาลยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องโครงการนี้ว่า “ถ้าเยาวชนพร้อมที่จะรับและกลั่นกรองเฉพาะสิ่งที่ดี เราก็จะเป็นต้นไม้ที่ได้รับการดูแล ได้รับการตกแต่งกิ่งก้านช่อใบในรูปทรงที่งดงาม ไม่ใช่แผ่ออกไปอย่างไม่มีระเบียบ ดั่งจะเห็นต้นไม้ไม่ว่าในประเทศหรือในโลกนี้ที่เติบโตไปตามธรรมชาติ แต่กิ่งก้านช่อใบบางต้นก็เหี่ยวเฉา ทั้งที่ลําต้นยังอยู่ แต่กลับไม่ออกดอกออกใบ”

“กลับกันต้นไม้บางต้นจะมีรูปแบบ มีรูปทรง ดอกและใบที่สวยงาม เขียวขจี นั่นเป็นเพราะการดูแล การให้สิ่งดีๆ กับต้นไม้ที่กําลังเติบโต”

“นี่คือสิ่งที่ศาลยุติธรรมกําลังทําอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้มุ่งหวังว่าทุกคนจะต้องมีอาชีพเป็นผู้พิพากษา เพราะการประกอบอาชีพขึ้นอยู่กับความชอบ ความพอดี ถูกที่ถูกเวลา แต่การบ่มเพาะต้นกล้าตุลาการที่เติบโตมา เราต้องการให้เติบโตมาเป็นประชาชนพลเมืองไทยที่อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักว่าการทําสิ่งที่ดีงามจะได้รับผลตอบแทนที่ดี รู้จักเคารพกฎหมาย”

“การทําผิดกฎหมายต้องได้รับผลที่ไม่ดีตามมา เพราะการละเมิดต่อกฎหมายจะกระทบกระเทือนต่อคนอื่นและสังคม จะทําให้สังคมอยู่ไม่เป็นสุขและเป็นภัยอันตราย นี่คือสิ่งที่เราทำ เราอยากให้ได้รู้จักกฎหมาย รู้วิธีคิดของคนใช้กฎหมาย ผู้พิพากษาเป็นผู้ใช้กฎหมาย แต่เราคงใช้กฎหมายเท่าที่จําเป็น กับคนที่จําเป็นเพื่อให้คนที่ทำผิดกลับมาเป็นคนดี”

ประธานศาลฎีการะบุ

พร้อมกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีคนอยู่ในเรือนจํามาก แม้แต่เด็กเยาวชนมีการถูกดำเนินคดี ไม่ได้หมายความว่าจะกลับตัวเป็นคนดีไม่ได้ ทุกคนกลับตัวเป็นคนดีได้ รากฐานจิตใจทุกคนไม่มีใครอยากทําสิ่งไม่ดี ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย แต่จะมีเหตุปัจจัยกระทําความผิดที่แตกต่างกันไป สิ่งที่ศาลจะทําคือ ทําอย่างไรที่จะไม่ให้คนกระทําความผิด และหากกระทําความผิดไปแล้ว ทําอย่างไรจะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับมาเป็นคนดี

เสมือนเป็นต้นไม้ที่งดงามในประเทศนี้ และอยู่ได้ด้วยตนเอง

จากนั้นได้ให้ความรู้การทํางานของศาล บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจุดต่างๆ ของศาลยุติธรรมว่า

ลักษณะการทํางานจะคล้ายกับยอดพีระมิด ศาลชั้นต้นจะเป็นฐานที่มีความกว้าง

ถัดมาเป็นศาลชั้นอุทธรณ์และขึ้นมาถึงศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุด มีประธานศาลฎีกาเป็นบุคคลที่กําหนดนโยบายการทํางานภายใต้กรอบแห่งอํานาจหน้าที่ของศาลยุติธรรม

ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

ฉะนั้น เวลาที่ศาลพิจารณาพิพากษาคดี คำพิพากษาจะมีครุฑตรงกลางและถัดลงมาเขียนไว้ว่า ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นสิ่งสําคัญยิ่งต่อผู้พิพากษาทุกคน

“จะเห็นว่าจริงๆ แล้วผู้พิพากษาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถพูดคุยด้วยได้ แต่ขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วยการทํางานที่ต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์ หากพูดเล่นจะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะหลักของผู้พิพากษาคือ ต้องวางตัวเป็นกลางในการพิจารณาคดี แต่หากลงจากบัลลังก์ผู้พิพากษามีบทบาทอื่นได้ เช่น เป็นอาจารย์ไปสอนหนังสือ หรือเมื่อพบกันข้างนอก น้องๆ ในโครงการก็สามารถพูดคุยทักทายได้” ประธานศาลฎีกาบอก

พร้อมระบุว่า “แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้พิพากษาจะเป็นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะทําในหน้าที่หรือไม่ก็ตามคือ ผู้พิพากษาจะต้องรักษาความซื่อสัตย์สุจริต มีความเที่ยงตรง เป็นกลาง พร้อมให้ความยุติธรรม และที่สําคัญผู้พิพากษาจะต้องไม่กระทําผิดกฎหมายเอง กฎหมายมีไว้เพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ถ้าคนที่ใช้กฎหมายละเมิดกฎหมายเสียเองแล้วก็ไม่สามารถไปบอกคนอื่นๆ ได้ว่าคุณต้องทําตามกฎหมาย”

ทั้งหมดนี้คือโอวาทที่สะท้อนตัวตนของประมุขตุลาการหญิงคนแรกได้อย่างดี