เจาะสงคราม “ศึกเครื่องแบบ-ยูนิฟอร์ม” ไดโนเสาร์ VS อุกกาบาต จาก ทรงผมบังเพื่อน ถึง แฟชั่นเหลื่อมล้ำ?

ความเห็นต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่

จากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายวงลุกลามเข้าสู่โรงเรียนมัธยมต่อกรณีชุดนักเรียนและทรงผม ภายใต้ข้อถกเถียงโต้แย้งในสังคมที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักเรียน หรือไม่

ข้อโต้แย้งกลายเป็นสงครามยูนิฟอร์มระหว่างคนสองรุ่น

ฝ่ายหนึ่งถูกเปรียบเป็น “ไดโนเสาร์” ฝ่ายหนึ่งเป็น “อุกกาบาต” พุ่งถล่ม

ความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเปิดใจรับรู้รับฟังปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมและสถานศึกษา

กลุ่มนักเรียนเลวและภาคีนักเรียน KKC เป็นศูนย์กลางนำเคลื่อนไหว จัดกิจกรรมกดดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ พร้อมชู 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง และปฏิรูปการศึกษา

แม้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ จะออกมาพบปะรับฟังปัญหาจากกลุ่มนักเรียนที่ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ แต่สุดท้ายข้อเรียกร้องทั้งหมดกลับไม่ได้รับการตอบรับหรือนำมาแก้ไข

นำมาสู่การเคลื่อนไหวยกระดับขับไล่ รมว.ศึกษาธิการ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้แต่งตั้งรัฐมนตรี

กิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลวและภาคีนักเรียน ที่สะท้อนภาพช่องว่างทางความคิดของคนสองรุ่นอย่างเห็นได้ชัด คือการชุมนุม “บ๊ายบายไดโนเสาร์” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยเยาวชนผู้ชุมนุมเปรียบสภาผู้แทนราษฎรเป็นไดโนเสาร์ ไม่รับ ไม่รู้ ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนักเรียนคืออุกกาบาต พร้อมพุ่งชนความล้าหลังนั้นให้สูญพันธุ์

กิจกรรมจัดขึ้นใจกลางสยาม สะท้อนความคิดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาของสังคมและในโรงเรียน รวมถึงปัญหาการศึกษาและยกเลิกกฎระเบียบล้าหลังที่เป็นการลิดรอนสิทธิเยาวชนเด็กนักเรียน

โดยเฉพาะประเด็นชุดนักเรียนและทรงผม

เพราะหากย้อนกลับไปจะพบว่ากฎระเบียบการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482

แม้ทุกยุคทุกสมัยจะมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบนี้แล้วก็ตาม

แต่โครงสร้างกฎข้อบังคับยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์การลิดรอนสิทธิ

ที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนัก

กรณีการแสดงความเห็นของนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไปออกรายการโทรทัศน์ดีเบตกับเยาวชนตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ในประเด็นทรงผม

ตอนหนึ่งนายวีระกล่าวว่า “ประเด็นที่อยากให้ดูคือในรัฐธรรมนูญน่าจะไม่กำหนดเรื่องสิทธิอย่างเดียว แต่พูดถึงหน้าที่ด้วย รัฐธรรมนูญเองเหมือนศีลที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หลายเรื่องที่ทำแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน”

“ยกตัวอย่างเรื่องทรงผม สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อ-แม่ ต้องซื้อยาสระผมมาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียน ผมเราที่ยาวเป็นศอกก็บังเพื่อนอยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม”

ฉับพลันในโลกออนไลน์ก็เกิดแฮชแท็ก #ทรงผมบังเพื่อน ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์

ตามมาด้วยความเห็นจากบุคคลหลากหลาย ทั้งดารา นักร้อง นางงาม ที่ออกมาโพสต์แซะ “ทรงผมบังเพื่อน” กันอย่างดุเดือดปนครื้นเครง

เขย่าคนรุ่นเก่าที่ถูกเปรียบเปรยเป็นไดโนเสาร์ให้สั่นสะเทือน

เช่นเดียวกับกรณีชุดนักเรียน ถูกนำมาขยายเป็นกระแสทางสังคมอีกครั้ง

เมื่อกลุ่มนักเรียนเลวและภาคีนักเรียน KKC ออกประกาศทางโซเชียลมีเดียเชิญชวนนักเรียนทั่วประเทศ

แต่งชุดไปรเวตไปโรงเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรก เพื่อต่อต้านกฎระเบียบการบังคับใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน

ภายใต้กิจกรรมนี้เป็นการตอกย้ำหัวข้อคำถามที่ว่า การสวมชุดนักเรียนมีประโยชน์อย่างไร ผลการเรียนขึ้นอยู่กับเครื่องแบบ เสื้อผ้า หน้าผมหรือไม่อย่างไร หากผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อชุด จะทำให้นักเรียนไม่มีสิทธิเข้าเรียนหรือไม่

ทั้งยังมองว่าการสวมใส่ชุดนักเรียนคือสัญลักษณ์ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวนักเรียน เนื่องจากเป็นชุดเครื่องแบบที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหา และมูลค่าสูงถึงกว่าหลักพันบาท

ถึงวันนัดหมายทำกิจกรรม นักเรียนหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หลายคนได้ใส่ชุดไปรเวตมาเรียนหนังสือ

แต่ผลที่ตามมายิ่งตอกย้ำถึงการปฏิเสธเสียงเรียกร้องหาเสรีภาพในการแต่งกายจากเด็กนักเรียนเยาวชน ครูบางโรงเรียน โรงเรียนบางแห่งปฏิเสธการให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวตเข้าเรียน

โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม นักเรียนชุดไปรเวตถูกครูกักตัวห้ามเข้าห้องเรียน ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนนักเรียนที่กดดันให้อาจารย์ปล่อยเพื่อนออกมา

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ออกประกาศถ้านักเรียนไม่แต่งเครื่องแบบจะเชิญผู้ปกครองมาชี้แจง พร้อมพากลุ่มนักเรียนชุดไปรเวตไปกักยังเรือนเจ้าพระยา ไม่อนุญาตให้เข้าเรียน 3 ชั่วโมง

โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา บางรัก ไม่อนุญาตให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวตเข้าโรงเรียน เจ้าหน้าที่ถึงขั้นล็อกประตู

โรงเรียนหอวัง ห้ามนักเรียนไม่ใส่เครื่องแบบเข้าห้องเรียน ก่อนเรื่องจะลุกลามเมื่อผู้ปกครองแจ้งความเอาผิดผู้อำนวยการโรงเรียน ฐานละเมิดสิทธิทำโทษนักเรียนเกินขอบเขต

ช่วงเย็นวันนั้น กลุ่มนักเรียนเลวก็ได้จัดกิจกรรม 1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบขึ้นที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ นำเครื่องแบบนักเรียนมาแขวนไว้ที่ประตูกระทรวง ติดป้ายข้อความ “ชุดนักเรียนไม่ปลอดภัย”

พร้อมนำผ้าสีรุ้งมาติดรอบกำแพงกระทรวง แสดงออกถึงความหลากหลาย โดยหวังว่าผู้ใหญ่จะยอมรับความหลากหลายของนักเรียน

สําหรับความเห็นในประเด็นชุดนักเรียนของผู้บริหารประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เครื่องแบบนักเรียนมีวัตถุประสงค์หลายประการ ส่วนหนึ่งคือช่วยนักเรียน ทำให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุอันตรายในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าการแต่งชุดไปรเวตที่อาจจะต้องมีหลายชุด

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เตรียมดำเนินคดีและสั่งปิดเว็บไซต์กลุ่มนักเรียนเลว ที่ให้แจ้งข้อมูลครูและโรงเรียนที่ลงโทษเด็กแต่งชุดไปรเวต เพราะกระทบกับกระทรวงศึกษาธิการ และละเมิดเสรีภาพส่วนตัว

นายณัฏฐพลยังอ้างว่านักเรียนมัธยมต้น-มัธยมปลายทั่วประเทศมี 2.5 ล้านคน แต่มีนักเรียนแต่งชุดไปรเวตมาโรงเรียนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม เพียงแค่ 638 คน

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า เป็นเรื่องไร้สาระทางการเมืองการศึกษาไทย แทนที่เยาวชนผู้มีปัญญาจะเรียกร้องอย่างจริงจังในการเสนอให้ยกเครื่องปฏิรูปการศึกษาไทยให้ถึงแก่นทั้งระบบอย่างจริงจัง สะท้อนปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม

กลับเสียเวลาต่อสู้เพื่อเอาชนะในกระพี้ไม่เอาแก่นในเรื่องจะไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียน

จึงอยากให้ม็อบมุ้งมิ้งนักเรียนเลวทั้งๆ ที่ยังไม่เลว

ไปแสวงหาข้อเท็จจริงตามโรงเรียนนานาชาติในประเทศที่ราคาเรียนแสนแพงที่นักเรียนเขาภาคภูมิใจในเครื่องแบบ กับโรงเรียนยากจนในชนบทถิ่นทุรกันดาร หรือนักเรียนชายขอบที่ฝันอยากภาคภูมิใจใส่เครื่องแบบนักเรียนกับเขา แต่ไม่มีปัญญาเพราะยากจนยากไร้บ้าง

สงครามยูนิฟอร์มยังคงดำเนินต่อไป ระหว่างไดโนเสาร์กับคนรุ่นใหม่ที่เสมือนอุกกาบาต ต้องการให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบล้าหลัง วางอนาคตของตัวเอง และทวงคืนสิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนไป

แต่เมื่อดูจากความคิดและความเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง จากเรื่องทรงผมบังเพื่อน มาถึงเรื่องชุดไปรเวตที่ผู้ใหญ่มองเป็นเพียงการประกวดแฟชั่นการแต่งตัวของเด็ก

ระยะห่างทางความคิดจึงยังไม่ใกล้เคียงจุดกึ่งกลางที่คนสองรุ่นจะจูนกันติด หาทางออกจากปัญหาร่วมกันได้

ไดโนเสาร์ก็ยังเป็นไดโนเสาร์ มีชีวิตอยู่เพื่อรอให้อุกกาบาตพุ่งชนสูญพันธุ์ไปในที่สุด