ต่างประเทศ : ระเบิดเวลาในมือทรัมป์!

เป็นอีกสัปดาห์ที่วงการเมืองสหรัฐอเมริการ้อนฉ่า

โดยต้นตอชนวนร้อนไม่ใช่ใครที่ไหน นอกเสียจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ จอมทัพแห่งทำเนียบขาว ที่นับจากก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐจนฉลองครบ 100 วันไปเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน ก็เห็นมีแต่เรื่อง เรื่อง และเรื่องใหญ่มากขึ้น ที่ทำให้หลายฝ่ายต้องกุมขมับกับแนวทางการทำงานและการแสดงออกของนายทรัมป์ที่ดูจะหลุดกรอบออกนอกเกณฑ์ปฏิบัติที่ควรจะเป็นอยู่หลายครั้ง

จนทำให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจในรัฐบาลนายทรัมป์ที่ก็ไม่ได้มั่นคงแข็งแรงนักถูกสั่นคลอนไป

ประเด็นร้อนล่าสุดที่โดนวิจารณ์หนักคือการที่ทรัมป์สั่งปลดฟ้าผ่า นายเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางแห่งรัฐ (เอฟบีไอ) พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

ทำเอาช็อกไปทั่ววงการเมือง

 

กระแสวิพากษ์หนึ่งที่มีต่อคำสั่งเด้งฟ้าผ่านายโคมีย์ มีการผูกโยงไปถึงกรณีที่เอฟบีไอกำลังดำเนินการสอบสวนคู่ขนานไปกับคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาคองเกรสหรัฐในประเด็นที่มีการกล่าวหารัสเซีย ว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่เป็นผลให้ทรัมป์คว้าเก้าอี้ในทำเนียบขาวไปได้

และประเด็นกล่าวหาทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ว่าสมคบกับรัสเซีย

เสียงวิพากษ์หนักข้อไปถึงขั้นมีการตั้งคำถามว่า การสั่งปลดนายโคมีย์ของทรัมป์เป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมหรือไม่!

เพราะมีขึ้นในขณะที่เอฟบีไอกำลังสอบสวนในกรณีรัสเซียกับทีมงานหาเสียงของทรัมป์อยู่

นิวยอร์กไทม์ส สื่อหัวแถวของสหรัฐยังเปิดข้อมูลว่า ในการดินเนอร์ด้วยกันที่ทำเนียบขาวซึ่งมีขึ้น 7 วันหลังจากรับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ร้องขอความภักดีจากนายโคมีย์

ทว่าโคมีย์ตอบกลับเพียงว่าตัวเขามีความซื่อสัตย์ให้

แต่เรื่องนี้ถูกหักมุมจากข้อมูลทางฝั่งทรัมป์ที่เขาให้สัมภาษณ์กับเอ็นบีซีนิวส์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่า โคมีย์เป็นฝ่ายต้องการจะกินข้าวเย็นกับเขาเองเพราะต้องการจะรักษาเก้าอี้ ผอ.เอฟบีไอเอาไว้

และในการพูดคุยกันถึง 3 ครั้ง เป็นทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง และในช่วงดินเนอร์ครั้งนั้น โคมีย์ยังให้หลักประกันกับทรัมป์ว่าเขาไม่ได้ถูกเอฟบีไอสอบสวนในกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย

ในขณะที่อีก 2 วันถัดมา ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ โดยยืนกรานปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ร้องขอความภักดีจากนายโคมีย์ หากเพียงแต่ต้องการให้นายโคมีย์ซื่อสัตย์ก็เท่านั้น

การให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์นิวส์ของทรัมป์ยังมีขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ทวีตข้อความที่เกี่ยวข้องกับนายโคมีย์โดยตรงว่า “เจมส์ โคมีย์ คงหวังว่าจะไม่มีเทปเสียงบันทึกการสนทนาของเรา ก่อนที่เขาจะปล่อยข่าวให้สื่อ!”

การทวีตข้อความนี้ของทรัมป์ถูกคนวงนอกการสนทนาตีความว่าเป็นการข่มขู่นายโคมีย์ของทรัมป์

นอกเหนือจากประเด็นที่วิพากษ์ว่าการทวงขอความจงรักภักดีจากนายโคมีย์ของทรัมป์เป็นการล้ำเส้นขอบเขตอำนาจของการเป็นประธานาธิบดี!

 

ในส่วนประเด็น “เทปบันทึกเสียงการสนทนา” ที่ทรัมป์กล่าวถึง ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่

แต่ก็จุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยเฉพาะจากสมาชิกในฟากฝั่งพรรคเดโมแครต ที่ต้องการให้ตั้งคณะทำงานอิสระขึ้นมาสอบสวนเรื่องเทปเสียงนี้ ซึ่งมีการหยิบยกไปเทียบเคียงกับคดีวอเตอร์เกต คดีอื้อฉาวครั้งประวัติศาสตร์ในวงการเมืองสหรัฐที่ทำให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ศูนย์กลางของคดีอื้อฉาวนี้ถูกสอบสวนตามกระบวนการอิมพีชเมนต์ ก่อนที่นิกสันจะชิงลาออกจากตำแหน่งไป

อีกประเด็นร้อนที่ก็ทำให้ทีมงานคนใกล้ชิดของทรัมป์ในทำเนียบขาวกระอักกระอ่วนใจไม่แพ้กัน และจะยิ่งทำให้พวกเขาทำงานได้ยากยิ่งขึ้นในการเรียกความเชื่อมั่น

เป็นประเด็นที่ทรัมป์ออกมาพูดสวนทางกับคำชี้แจงของทีมงานฝ่ายสื่อของทรัมป์เอง ซึ่งรวมถึง นายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ในกรณีการสั่งปลดนายโคมีย์

โดยในขณะที่ทีมงานฝ่ายสื่อชี้แจงว่าการปลดนายโคมีย์พ้น ผอ.เอฟบีไอของนายทรัมป์ เป็นไปตามคำชี้แนะของ นายเจฟฟ์ เซสชั่นส์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และ นายร็อด รอสเซนสไตน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงยุติธรรม

และการตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสอบสวนเรื่องรัสเซีย

ทว่าทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับเอ็นบีซีว่าเขาตัดสินใจที่จะปลดนายโคมีย์เอง

และการตัดสินใจนี้ก็เกี่ยวข้องกับการสอบสวนของเอฟบีไอที่มีต่อประเด็นกล่าวหาทีมหาเสียงของเขาว่าสมคบกับรัสเซีย

 

ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่วอชิงตันโพสต์ตีแผ่ออกมาว่าทรัมป์ได้เปิดเผยข้อมูลในชั้นความลับสุดยอดด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับภัยคุกคามจากกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) ให้กับ นายเซรเก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และเซรเก คิสเลียก ทูตรัสเซียประจำสหรัฐ ได้รับรู้ในการพบปะกันเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ใกล้กับห้วงเวลาที่ทรัมป์ปลดนายโคมีย์

ทั้งๆ ที่ข้อมูลนี้ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐได้มาจากชาติพันธมิตร ยังไม่ได้รับอนุญาตจากแหล่งข่าวต้นทางให้แบ่งปันข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูงนี้ให้แก่รัฐบาลชาติใดก็ตาม

ประเด็นนี้ในทางกฎหมายของสหรัฐถูกระบุว่า ไม่ผิด เนื่องจากประธานาธิบดีมีอำนาจในการปลดล็อกชั้นความลับของข้อมูลใดๆ ได้ หากเห็นสมควร

ซึ่งทรัมป์ก็ยืนยันว่าเขามี “สิทธิเด็ดขาด” ที่จะหารือในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและมนุษยธรรม

และที่สำคัญเขาต้องการให้รัสเซียสนับสนุนการต่อสู้กับไอเอสและการก่อการร้ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวของทรัมป์ถูกมองว่าขัดต่อ “หลักปฏิบัติ” ในวงการจารกรรมที่ว่า หากรัฐบาลหนึ่งแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองให้กับรัฐบาลใด รัฐบาลนั้นจะต้องไม่แบ่งปันข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแหล่งข่าวต้นธาร

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ การบอกต่อนั้นอาจทำให้แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องตกอยู่ในอันตราย

อดัม สคิฟฟ์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต วิพากษ์ทรัมป์ในเรื่องนี้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่อง “สิทธิ” ของประธานาธิบดีที่มี แต่เป็นเรื่องของ “ความรับผิดชอบ” ที่อาจทำให้แหล่งข่าว ความสัมพันธ์และความมั่นคงของสหรัฐที่มีต่อชาติพันธมิตรตกอยู่ในอันตรายได้

 

และสดๆ ร้อนๆ ในวันที่นั่งเขียนต้นฉบับนี้ เป็นประเด็นที่นิวยอร์กไทม์สรายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่าโคมีย์เขียนบันทึกช่วยจำว่าเขาถูกทรัมป์ร้องขอให้ยุติการสอบสวนกรณีความเกี่ยวพันระหว่าง นายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์กับรัสเซีย

ส่วนบันทึกช่วยจำที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ และทรัมป์ร้องขอให้นายโคมีย์ทำอย่างที่แหล่งข่าวกล่าวอ้างหรือไม่ กลายเป็นอีกเรื่องที่หลายคนในวงการเมืองสหรัฐส่งเสียงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบขาว สภาคองเกรส และโดยเฉพาะตัวนายทรัมป์เอง ทำให้ความจริงปรากฏอย่างกระจ่างชัด เพื่อที่ว่าความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อสถาบันอันเป็นเสาหลักในระบอบประชาธิปไตยโลกอย่างสหรัฐ จะไม่เสื่อมถอยลงไปมากกว่านี้!!