เทศมองไทย : “อาร์เซป” ชัยชนะของจีน บนการตัดสินใจของอาเซียน

การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) หรือ “อาร์เซป” ที่ประกอบด้วยชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ชาติ คือ ไทย, เมียนมา, เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา, สิงคโปร์, บรูไน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บวกกับอีก 5 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และจีน ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกมากเหลือเกิน

ความสนใจที่ว่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า หลังจากระบบการค้าเสรี และการรวมกลุ่มพหุภาคี ตกเป็นฝ่ายตั้งรับมาตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มกันเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอาร์เซป กลายเป็นความตกลงพหุภาคีเดียวที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อาร์เซปไม่เพียงมีจีนเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งแต่เริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริการ่วมสังฆกรรมอยู่ด้วย

ภายใต้ภูมิหลังของความขัดแย้งทางการค้าอย่างหนักระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา การผลักดันให้เกิดกลุ่มการค้าใหม่ขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จของจีนจึงเรียกความสนใจได้สูงยิ่ง

โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมของการสร้างและสั่งสมอิทธิพลแข่งขันกันระหว่างประเทศทั้งสองในภูมิภาคที่ได้ชื่อว่า เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลกแห่งนี้

ขนาดของการรวมตัวครั้งนี้ ที่ครอบคลุมการค้าไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของการค้าทั้งโลก ครอบคลุมประชากรที่จะเป็นผู้บริโภคในอนาคตถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลก คิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านคน

 

เยิน นีลี ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นบีซี เว็บไซต์ข่าวด้านการเมือง เศรษฐกิจและธุรกิจ เมื่อ 15 พฤศจิกายนนี้ สอบถามความเห็นต่ออาร์เซป จากบรรดานักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคน

ส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันเรื่องที่ว่า อาร์เซปคือชัยชนะครั้งสำคัญของจีน แต่ยังคงเห็นต่างกันอยู่บ้างว่าด้วยเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับทางเศรษฐกิจ

“ความตกลงนี้ ถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำหรับจีน ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาดูเหมือนกำลังจะล่าถอยออกจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อันเนื่องมาจากนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

“ทั้งยังไม่เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า สหรัฐอเมริกาจะหวนกลับมาเจรจาความตกลงทางการค้าขนาดใหญ่กับประเทศในภูมิภาคนี้หรือไม่ ในยุคของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน”

นักวิเคราะห์ของซิตี้รีเสิร์ช บอกเพิ่มเติมเอาไว้ว่า “บางทีการส่งสัญญาณในเชิงการทูตของอาร์เซปอาจมีนัยสำคัญมากพอๆ กับสารในทางด้านเศรษฐกิจ” แล้วอธิบายเพิ่มเติมว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน อาร์เซปประสบความสำเร็จในหลายด้านมาก

อย่างแรกสุด อาร์เซปเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเปิดกว้างสำหรับโลกธุรกิจ และยังคงตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการรวมตัวกันลึกซึ้งกว่าปกติ

ถัดมาเป็นตัวลดความเข้าใจที่ว่า จีนกำลังหมดความคาดหวังต่อโลก แล้วหันกลับไปพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

ที่สำคัญก็คือ อาร์เซป คือการส่งสัญญาณให้เห็นว่า เมื่อมาถึงประเด็นว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่ต้องการ “เลือก” ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา กรณีที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ตัดสินใจเข้าร่วมในอาร์เซป สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

ทำนองเดียวกันกับที่อาเซียนซึ่งเป็นตัวหลักในการดำเนินการเจรจาเพื่อความตกลงนี้มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจไปในท่วงทำนองเดียวกัน

 

แกเร็ต เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแคปตอล อีโคโนมิกส์ ชี้ให้เห็นว่า ผลประโยชน์ฉับพลันด้านเศรษฐกิจ อาจเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ สมาชิกของอาร์เซปส่วนใหญ่มีความตกลงการค้าระหว่างกัน ที่ทำให้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันและกันเป็นศูนย์ หรือต่ำมากอยู่แล้ว ผลประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจจากความตกลงนี้จึงจำกัด

ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น ระหว่างอาเซียน 10 ชาติด้วยกันนั้น การซื้อ-ขายสินค้ามากถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นไปโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี

นอกจากนั้น การลดภาษีภายใต้กรอบอาร์เซป ยังดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่ข้อบังคับในความตกลงนี้จะถูกบังคับใช้เต็มที่

แต่ไซมอน แบพทิสต์ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทที่ปรึกษาอย่างอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต เชื่อว่า อาร์เซป คือรากฐานสำคัญของการดำเนินความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกในอนาคตระยะยาว โดยเฉพาะในส่วนของประเทศที่ไม่เคยมีความตกลงทางการค้ากันมาก่อน

ที่น่าสนใจก็คือ การจับคู่ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หรือแม้แต่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ที่แต่เดิมมีปัญหาในการทำความตกลงระดับทวิภาคีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

สำหรับอาเซียนและไทยนั้น ในสภาพที่ถูกกระหน่ำจากวิกฤตโควิด อาร์เซป คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อีกครั้งครับ