ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงระลอกล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน จุดจับจ้องของสังคมคือม็อบจะทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร
ทว่าในมุมเล็กๆ ของมวลชนที่หลั่งไหลมานั้น ปรากฏภาพของพระภิกษุสงฆ์หลายรูปเข้าร่วมการชุมนุม
ทั้งถือป้ายบ่งบอกข้อเรียกร้อง
ขึ้นเวทีปราศรัย
กระทั่งเป็นแนวหน้าในการเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 16 ตุลาคม
จากมุมเล็ก เริ่มถูกขยายเป็นมุมใหญ่มากขึ้น พร้อมคำถามจากหลายฝ่ายว่า พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับรหัสเรียกขานจากมวลชนในม็อบว่า “แครอท” สามารถเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองได้หรือไม่
รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ทั้งการปฏิรูปสงฆ์ การเรียกร้องสิทธิไม่ต้องโกนคิ้ว มีความเหมาะสมหรือไม่
ส่วนหนึ่งเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เดินหน้าเรียกร้องให้สึกพระกลุ่มนี้และดำเนินคดี ด้วยระบุว่าเป็นอลัชชี
รวมถึงกรณีสำนักพระพุทธศาสนาทำหนังสือแจ้งห้ามพระภิกษุร่วมชุมนุม
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางคำถามและการถกเถียงจากสังคมต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ มีบุคคลหนึ่งที่ยืนหยัดลุกขึ้นมาพยายามอธิบายให้สังคมทราบจุดประสงค์การเคลื่อนไหวของพระภิกษุสงฆ์
แม้บุคคลผู้นี้จะไม่ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ห่มเหลือง แต่เขาระบุตัวตนว่าเป็นเลขาธิการแก๊งแครอท ซึ่งสังคมรู้จักเขาในภาพลักษณ์นักปราศรัย ที่มีอารมณ์ขัน แต่เปี่ยมด้วยวาทศิลป์
นั่นคือครูใหญ่อรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่มขอนแก่นพอกันที
ครูใหญ่ให้สัมภาษณ์กับ The Politics ในเครือมติชน ระบุความต้องการอยากพูดเรื่องศาสนา มากกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่พูดมาเยอะแล้ว โดยเฉพาะในบทบาทเลขาธิการแก๊งแครอท ทำหน้าที่ช่วยหาพื้นที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้แสดงออกทางความคิด
รวมถึงเป็นคนช่วยอธิบายขยายความข้อเรียกร้องต่างๆ ให้สังคมได้รับทราบ
กับคำถามใหญ่ที่ว่า พระภิกษุสงฆ์สามารถเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองได้หรือไม่
ครูใหญ่เริ่มต้นอธิบายด้วยการย้อนถามว่า แล้วการเมืองไม่ยุ่งกับสงฆ์ได้หรือไม่ เพราะนอกจากพระธรรมวินัย พระสงฆ์ไทยยังมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 ที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คอยกำกับ ส่งผลให้พระสงฆ์อยู่ภายใต้กฎหมายที่มาจากฝ่ายการเมือง
ดังนั้น การออกมาเรียกร้องกฎหมายที่ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ไม่ผิด
ครูใหญ่อธิบายต่อว่า ปัญหาที่ไปยุ่มย่ามกับศาสนาคือปัญหาการเมือง
ดังนั้น กฎหมายสงฆ์ที่ไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย แก้ด้วยการสวดมนต์อยู่วัดไม่ได้ แก้ด้วยการนั่งสมาธิไม่ได้ เพราะปัญหามาจากฝ่ายการเมือง
พระสงฆ์ก็ต้องออกมาเรียกร้องกับการเมือง เรียกร้องกับพระพุทธรูปไม่ได้ การเมืองต้องเลิกยุ่งกับศาสนา
ทางเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบยกมานำเสนออยู่ตลอด ในการแยกการเมืองกับศาสนาออกจากกัน คือการปฏิรูปศาสนา
ซึ่งครูใหญ่ระบุว่า เรื่องนี้มีคนพูดทั้งต้องแก้ไขและร่างใหม่
แต่เรื่องการแยกศาสนาออกจากการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องของพุทธศาสนา แต่หมายถึงทุกศาสนา เรากำลังหมายถึงรัฐฆราวาส รัฐโลกวิสัย หรือ secular state ที่ไม่มีศาสนาใดศาสนาหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่น โดยไม่เกี่ยวกับว่าจะมีประชากรนับถือจำนวนมากหรือนับถือจำนวนน้อย
เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการยกย่องเชิดชู และใช้ศาสนานำรัฐ หรือรัฐเชิดชูศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากกว่าศาสนาอื่น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นแน่
ดังนั้น เพื่อความสมานฉันท์ของคนทุกศาสนา รวมถึงคนที่ไม่มีศาสนาด้วย เราจึงมุ่งหวังและวาดฝันไปถึงรัฐฆราวาส ที่แยกรัฐออกจากศาสนาชัดเจน
เราอาจจะพูดถึงการรับรองสิทธิ์ตามศาสนา พูดถึงการคุ้มครองศาสนา
แต่เราจะไม่พูดถึงการสนับสนุนศาสนาโดยรัฐ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสนับสนุนศาสนาโดยรัฐ มีความเสี่ยงมากที่รัฐจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
ซึ่งเคยมีหลักฐานปรากฎชัดเจน โดยมี ส.ส.นำเข้าไปอภิปรายในสภาว่า มีการใช้งบประมาณของรัฐทำเว็บไซต์ให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อให้เกิดความเกลียดชัง และใช้จุดนั้นดึงงบประมาณลงไปจัดการกับความแตกแยก
หรือแม้แต่ศาสนาเองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ ในความนิยมบางอย่างที่รัฐต้องการก็ถูกถ่ายทอดผ่านศาสนา ดังนั้น ในทุกๆ ศาสนาจึงต้องแยกออกจากรัฐอย่างชัดเจน
ส่วนในประเด็นข้อเรียกร้องที่กลายเป็นจุดสนใจ และถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ว่า ทำไมพระต้องโกนคิ้ว เรื่องนี้ครูใหญ่อธิบายว่า หากดูในพระธรรมวินัยไม่ได้ระบุว่าพระต้องโกนคิ้ว การโกนคิ้วเป็นแค่ประเพณีนิยม ประเพณีปฏิบัติ
การโกนคิ้วคือ “โซตัสพระ” ดังนั้น การปฏิเสธโกนคิ้ว คือการยืนยันกระทำตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ยืนยันกระทำตามโซตัสพระ
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ได้บอกว่าพระสงฆ์ต้องโกนคิ้ว
พระธรรมวินัยไม่ได้บอกว่าพระสงฆ์ต้องโกนคิ้ว
ดังนั้น การโกนคิ้วคือการยอมรับอำนาจบางอำนาจที่ไม่ได้รับรองแม้แต่กระทั่งในพระธรรมวินัย หรือใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่เราต่อต้านกันอยู่ด้วย
ที่สำคัญ ที่มาของเรื่องก็ไม่ชัดเจน บางคนบอกมาจากอยุธยา เพื่อป้องกันพระสายลับจากพม่า
ซึ่งที่จริงเหตุการณ์จบไป ณ วันนั้นแล้ว จับสายลับได้คือจบ พระกลับมามีคิ้วได้เหมือนเดิม
หรือบางคนบอกมาจากมีพระไปยักคิ้วใส่พระสนม ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครให้ยักคิ้วแล้ว รวมถึงการยักคิ้วไม่ได้เกิดที่ขน แต่เกิดที่กล้ามเนื้อบริเวณคิ้ว
ท้ายที่สุดไม่มีความชัดเจนว่าการโกนคิ้วมาจากไหน
นอกจากประเด็นที่กล่าวมา ครูใหญ่ยังพูดคุยถึงประเด็นอื่นๆ ในศาสนา ที่ต้องพูดคุยและทำความเข้าใจ เช่น กรณีพระตุ๊ดเณรแต๋วสามารถบวชได้หรือไม่
ซึ่งครูใหญ่ระบุว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องพระตุ๊ดเณรแต๋ว แต่รวมถึงสิทธิของผู้หญิงในการบวชเป็นภิกษุณีด้วย เพราะตามพระธรรมวินัย รับรองการบวชของภิกษุณี พุทธบริษัท 4 ต่างเป็นหุ้นส่วนด้วยกัน ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
แต่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ผู้หญิงบวช สิ่งนี้คือเรื่องของเพศกับศาสนา
ละเอียดไปกว่านั้นคือ พระตุ๊ดเณรแต๋ว ในพระธรรมวินัยไม่ได้พูดคำว่าตุ๊ดกับแต๋ว พูดถึงคำว่า “บัณเฑาะก์” ซึ่งครูใหญ่อธิบายว่า เราต้องไปดูจริงๆ ว่าบัณเฑาะก์นั้นแปลว่าอะไร มีกี่ประเภท ตุ๊ดแต๋วไม่ได้เป็นบัณเฑาะก์ทั้งหมด
คนที่มีพฤติกรรมตุ้งติ้ง มีจริตอ่อนช้อย ไม่ได้เป็นบัณเฑาะก์ทั้งหมด
บัณเฑาะก์โดยร่างกายอาจจะเป็นอวัยวะเพศไม่ครบ มีทั้งเพศชาย เพศหญิง ไม่แน่ใจว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือชายที่พอใจทางเพศในการทำให้ชายด้วยกันหลั่งน้ำอสุจิ
ถ้าเขามีพฤติกรรมตุ้งติ้ง แต่ไม่ได้พอใจที่จะสังวาสกับชาย ก็บวชได้
ดังนั้น จะไม่ได้ดูแค่ว่าตุ๊ดหรือแต๋ว จะต้องดูว่าเป็นบัณเฑาะก์ตามพระธรรมวินัยไหม ซึ่งหมายความว่า ก็ต้องมาตรวจสอบตัวเองว่า เราอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ผู้ที่เราศรัทธาคือศาสดาวางแนวทางไว้ไหม ถ้าอยู่ในกฎเกณฑ์ บวชได้ ถ้าไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ บวชไม่ได้
ดังนั้น ต้องไปดูความหมายจริงๆ ของคำว่าบัณเฑาะก์ เพราะบัณเฑาะก์ไม่ได้หมายความว่าคนตุ้งติ้งเป็นบัณเฑาะก์ทั้งหมด
ในประเด็นท้าย ครูใหญ่พูดถึง “แก๊งแครอท” ซึ่งกลายสภาพจากรหัสเรียกขานพระในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีพื้นที่ในการแสดงออกเรื่องศาสนา ว่า แก๊งแครอทไม่ใช่ตัวเองคนเดียว แต่อาจสถาปนาตัวเองเป็นเลขาธิการแก๊งแครอท คอยสนับสนุนพระภิกษุทั้งหลายที่เป็นแก๊งแครอท เพราะท่านอาจจะไม่มีพื้นที่ ประกอบกับเป็นคนที่สนใจเรื่องนี้ก็สร้างพื้นที่ร่วมกัน โดยยืมเวทีม็อบมาเป็นเวทีในการเปิดตัว
หน้าที่ของแก๊งแครอทต่อไปก็คือ เปิดเผยพระธรรมวินัยให้มากที่สุด แล้วชี้ให้ได้ว่าพระธรรมวินัยกับ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ขัดแย้งกันตรงไหน ปัญหาโครงสร้างอำนาจสงฆ์ไปบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าตรงไหน ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตรงไหน
ดังนั้น การแก้ไขศาสนาต้องมาพร้อมๆ กับการแก้ไขการเมือง ตราบใดที่อำนาจเผด็จการ หรืออำนาจนิยมยังอยู่ เขาต้องการที่จะแช่แข็งระบบศาสนาไว้แน่นอน
ถ้าเราไม่สามารถจำกัดอำนาจนิยมไปได้ ปัญหาเรื่องศาสนาจะไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง