Breast Stupa Cookery : the world turns upside down พื้นที่พบปะสังสรรค์และใช้เวลาร่วมกันผ่านอาหารและงานศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
นิทรรศการ Breast Stupa Cookery: the world turns upside down

นอกจากนิทรรศการ HOUSE CALLS ที่กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว

พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ยังมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเธออีกนิทรรศการ ที่จัดแสดงควบคู่กันไปในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Breast Stupa Cookery : the world turns upside down

ผลงานศิลปะเชิงสถานการณ์ที่ผู้ชมไม่ได้เสพแค่เพียงสายตา แต่ยังสามารถลิ้มรสและรับประทานได้ด้วย

ผลงานชุดนี้เป็นโครงการศิลปะที่พินรีพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันที่เคยจัดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

แต่นี่เป็นครั้งแรกที่โครงการนี้ถูกนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะเต็มรูปแบบ

โดยในคราวนี้ พินรีสร้างพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางสังคมในการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับโลกของอาหารการกินและศิลปะ ผ่านการเปลี่ยนให้พื้นที่แสดงงานศิลปะกลายเป็นคาเฟ่/ห้องอาหาร เพื่อเปิดให้ผู้คนเข้ามาปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการรับประทานอาหารและการพูดคุย ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ที่การใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่เดียวกันของผู้คนกลายเป็นข้อจำกัด ราวกับโลกหมุนกลับตาลปัตร

นิทรรศการนี้ชี้ชวนให้เห็นถึงมิติอันลึกซึ้งของอาหาร ทั้งในฐานะสื่อศิลปะและเครื่องมือเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน

“การร่วมมือกัน” คือหัวใจสำคัญของ Breast Stupa Cookery ผ่านการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และเรียนรู้ รวมถึงการตีความของผู้มีส่วนร่วมที่ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ปลายทางได้

ในโครงการนี้การร่วมมือกันได้สะท้อนผ่านการทำงานร่วมกันของเหล่าบุคคลหลากสาขาอาชีพ ทั้งคนทำอาหาร, คนทำขนม, คนทำไอศกรีม, บาร์เทนเดอร์, ศิลปินเซรามิก และศิลปินเป่าแก้ว ซึ่งต่างนำเสนอความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละคน เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับผู้ชมหรือผู้ร่วมรับประทานอาหาร ในช่วงเวลาที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และผู้คนต่างต้องพบปะกันผ่านโลกเสมือนจริง

ศิลปินเชื้อเชิญให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์ ใช้เวลาร่วมกันผ่านมื้ออาหาร แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างที่อิ่มอร่อยกับขนมและเครื่องดื่ม พร้อมกับเพลิดเพลินในการชมผลงานศิลปะของเธอ

สิ่งนี้นอกจากจะเป็นการท้าทายชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ของสังคมปัจจุบันแล้ว

ยังเป็นการท้าทายต่อธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ด้วย

โดยตลอดช่วงนิทรรศการ โถงห้องแสดงงานจะถูกเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ โดยจัดจำหน่ายขนม ของว่างที่ได้รับการสร้างสรรค์เป็นพิเศษโดยเชฟทำขนมชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ประกอบด้วย คุกกี้ที่จัดเป็นเซ็ตเข้าคู่กันราวกับงานจิตรกรรมของพินรี จากร้าน Katayama Chiffon

ไอศกรีมรสชาติพิเศษทั้งมะม่วงหาว มะนาวโห่ น้ำปลาคาราเมล และอื่นๆ จากร้าน Yora

ไอศกรีมแท่งทรงสถูปนมที่มีสีดำหลากเฉดหลายรสจากร้าน Chimp Tim

ไอศกรีมแท่งทรงสถูปนมจากร้านChimp Tim

ขนมหวานสไตล์ฝรั่งเศส 3 รสชาติจากร้าน Mad Sugar

และขนม Financier หอมเนยจาก SOI SA:M ไปจนถึงขนมที่ออกแบบโดย Tokyo Hot กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่สนใจในการทำอาหารและการทดลอง

ขนมที่ออกแบบโดย Tokyo Hot

ทั้งหมดนี้เสิร์ฟพร้อมเครื่องดื่มที่ออกแบบมาให้เข้าคู่อย่างลงตัวจากคาเฟ่เจ้าดัง One Ounce For Onion

ยิ่งไปกว่านั้น ขนมและเครื่องดื่มเหล่านี้ยังถูกเสิร์ฟบนจานและชามเซรามิกที่ได้รับการออกแบบและผลิตขึ้นโดยเหล่าบรรดาศิลปินเซรามิกอย่างอ้อ สุทธิประภา, ดอนหมูดิน, InClay, พิม สุทธิคำ และโม จิรชัยสกุล เพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ

ศิลปินเหล่านี้หลายคนยังร่วมสร้างผลงานพิเศษที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Breast Stupa Cookery เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการอีกด้วย

“พอดีช่วงที่เรากำลังเตรียมนิทรรศการ HOUSE CALLS ที่ 100 ต้นสน ทางโนวา คอนเทมโพรารี ก็ติดต่อมาชวนให้เราแสดงงานด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าจัดนิทรรศการได้พร้อมๆ กันน่าจะลงตัวดี ก่อนหน้านี้เราเคยทำโครงการ Breast Stupa Cookery ที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม มา ซึ่งอันที่จริงเราก็ทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมา 15 ปีแล้ว แต่ก็ทำแค่เป็นกิจกรรมสั้นๆ ไม่เคยทำเป็นนิทรรศการศิลปะยาวๆ ในหอศิลป์ ก็เป็นความท้ายของหอศิลป์แห่งนี้ที่ไม่เคยทำงานนิทรรศการที่มีลักษณะของกิจกรรมแบบนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่มากกว่าการเอางานประติมากรรมหรือจิตรกรรมมาแสดงเฉยๆ แต่เปลี่ยนห้องแสดงงานทั้งห้องให้กลายเป็น Breast Stupa Cookery ไปเลย”

พินรีกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ของเธอ

นอกจากงานศิลปะเชิงสถานการณ์ที่เปลี่ยนห้องแสดงงานศิลปะให้กลายเป็นคาเฟ่และห้องอาหารโดยมีงานศิลปะเป็นภาชนะแล้ว ในนิทรรศการนี้ก็ยังมีผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบให้ดูชมไปพร้อมกับการดื่มกินอาหาร ขนม และเครื่องดื่มอีกด้วย

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรมสื่อผสมรูปเต้านมอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพินรี หรือประติมากรรมรูปเต้านมกลับหัวที่มีฟังก์ชั่นเป็นโต๊ะวางภาชนะและที่นั่งรับประทานอาหาร หรือผลงาน Breast Stupa Topiary ประติมากรรมโครงสร้างเต้านมขนาดใหญ่สองชิ้น จัดวางหงายตั้งบนพื้น และแขวนคว่ำกลับหัวลงมาจากเพดาน ราวกับจะเป็นภาพสะท้อนของกันและกันก็ไม่ปาน

“ตอนที่เราแสดงงานในเทศกาลศิลปะเซโทอุชิ เทรียนนาเล่ บนเกาะฮอนจิมะ เราได้พื้นที่แสดงในบ้านไม้หลังหนึ่งในชุมชนโบราณบนเกาะ พอสืบค้นประวัติก็พบว่าบ้านหลังนี้เดิมเคยเป็นบ้านของช่างไม้สกุลชิวาคุ (Shiwaku) ที่เคยเป็นช่างต่อเรือ/สร้างวัดมาก่อน พอช่างรุ่นเก่าล้มหายตายจากไปและไม่มีใครสืบทอดกิจการ วิชาช่างเหล่านั้นก็สูญหายไป เราก็ทำเป็นประติมากรรม Breast Stupa Topiary วางไว้หน้าบ้านนั้น และทำกิจกรรม Breast Stupa Cookery กับเชฟที่นั่น”

“พอกลับมาที่บ้านก็เลยอยากจะกลับมาทำประติมากรรมนี้อีกครั้งด้วยไม้ที่หาได้ในเมืองไทย และทำกิจกรรมนี้กับเชฟในเมืองไทย ประจวบกับช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 พอดี เราเลยเอามันกลับหัวกลับหางจนกลายเป็นชื่อนิทรรศการ the world turns upside down อย่างที่เห็น”

คุกกี้ TRIO โดย Katayama Chiffon ภาพถ่ายโดย Mali Chaturachinda

กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์ของทั้งสองนิทรรศการนี้เสริมว่า

“ปกติ Breast Stupa Cookery จะถูกจัดขึ้นในลักษณะของกิจกรรมชั่วคราว จัดครั้งเดียวแล้วจบไป แต่คราวนี้เราอยากทำให้ยาวขึ้น ก็เลยเปลี่ยนให้เป็นนิทรรศการให้คนเข้ามาเยี่ยมชมได้ทุกวัน (ตามเวลาเปิดทำการ) นิทรรศการนี้เลยถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ การจัดเลี้ยงในพิธีเปิดนิทรรศการศิลปะ และกิจกรรม Breast Stupa Cookery Dinner หรือการจัดเลี้ยงอาหารค่ำโดยเชฟจากร้านระดับมิชลินสตาร์ที่เปิดให้คนจองเข้ามารับประทาน และสุดท้าย การจัดนิทรรศการศิลปะในรูปแบบของคาเฟ่ ขายขนม ของว่าง และเครื่องดื่ม เปิดให้คนเข้ามาใช้บริการได้ตามปกติ”

“ถ้าดูนิทรรศการใน HOUSE CALLS ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน จะให้ความรู้สึกเหมือนการเปิดห้องรับแขกให้ผู้ชมเข้าไปดูของสะสมในบ้าน”

The Affairs of Serving (2020) สีอะครีลิก, ดินสอบนผ้าใบ

“ส่วนนิทรรศการ Breast Stupa Cookery จะให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมได้เข้าไปนั่งกินข้าวในบ้านของศิลปิน ด้วยความที่ช่วงเวลาของนิทรรศการนี้ยังอยู่ในช่วงของสถานการณ์โควิด เราเลยอยากแสดงถึงความรู้สึกในการอยู่บ้าน ที่แม้จะรู้สึกถึงความปลอดภัย แต่ก็มีความสั่นไหวบางอย่าง”

“หรือแม้แต่การเปิดบ้านให้กลายเป็นพื้นที่ที่คนมาเจอกันและได้ทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงเวลาที่ช่างท้าทายเหลือเกิน ว่าเราจะนั่งกินอาหารด้วยกัน หรือมีประสบการณ์ร่วมกันได้ไหม?”

“อย่างผลงานประติมากรรม Breast Stupa Topiary ของคุณพินรีชุดนี้ ก่อนหน้านี้เคยแสดงที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม แต่เปลี่ยนวัสดุจากโลหะเป็นไม้ ต่อยอดจากชิ้นที่เคยแสดงที่เทศกาลศิลปะเซโทอุชิ เทรียนนาเล่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากบ้านของช่างไม้ท้องถิ่นที่นั่น แต่เราเปลี่ยนมาใช้ช่างไม้ชาวไทยจากอยุธยา ทำขึ้นด้วยเทคนิคงานไม้ของไทย และใช้ไม้ที่หาได้จากเมืองไทยแทน หรือประติมากรรมโต๊ะรูปนมคว่ำกลับหัว เราก็ตั้งใจทำให้ที่นี่เป็น “คาเฟ่น้ำนม” ให้คนมานั่งกินอาหาร พูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กันในผลงานศิลปะได้”

“ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญในผลงานของคุณพินรีเสมอมา”

เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่นอกจากจะได้อาหารต่างจากงานศิลปะหลากหลายแล้ว ยังได้ลิ้มชิมรสชาติและอิ่มท้องจากอาหาร ขนม เครื่องดื่มรสเลิศ และยังได้รับความเพลิดเพลินจากการพูดคุยสังสรรค์กับผู้คนที่รักอาหารและหลงใหลงานศิลปะเป็นอาหารใจไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

นิทรรศการ Breast Stupa Cookery : the world turns upside down โดยพินรี สัณฑ์พิทักษ์ และภัณฑารักษ์ กิตติมา จารีประสิทธิ์ จัดแสดง ณ โนวา คอนเทมโพรารี, กรุงเทพฯ ซอยมหาดเล็กหลวง 3 (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชดำริ), ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม-21 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 หอศิลป์และคาเฟ่จะเปิดทำการทุกวันอังคารถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทร. 09-0910-6863

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก โนวา คอนเทมโพรารี, ศิลปินและภัณฑารักษ์