การศึกษา/สำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอม สะท้อนหัวอก “พ่อแม่”?!?

ช่วงนี้ไปไหนมาไหน ก็เจอะเจอแต่เพื่อนพ้องน้องพี่บ่นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของลูกหลานในช่วงก่อนเปิดเทอมกันแล้ว

บ่นไม่บ่นเปล่า นั่งแจกแจงรายจ่ายให้ฟัง ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ที่โรงเรียนสรรหามาเรียกเก็บ ก็ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท

ถ้าเรียนโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนสาธิต ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ทำเอาผู้ปกครองต้องนั่งกุมขมับกันเป็นแถวๆ

ยิ่งถ้าพ่อแม่คนไหนมีลูกมากกว่า 1 คน ก็ต้องวิ่งหาเงินหาทองจนลมแทบจับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน แต่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆ ก็จำใจต้องนำทรัพย์สินที่พอมีอยู่บ้างไปเข้าโรงรับจำนำ เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินออกมาสำหรับใช้จ่ายกันเลยทีเดียว

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการตั้ง “คำถาม” ถึงรัฐบาล หรือผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง ว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย…”

ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศนโยบาย “เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ” นั้น “ทุกวันนี้ เด็กไทยได้เรียนฟรี!! จริงหรือไม่?”

เพราะความเป็นจริงในเวลานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกๆ หลานๆ สำหรับช่วงเปิดภาคเรียน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินใช้ทองซื้อหามาทั้งนั้น

ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2560

พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะทรงตัวถึงดีขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน สามารถวางแผน หรือคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62% ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงิน

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานเมื่อเทียบกับช่วงเปิดเทอมของปีที่ผ่านมา

โดยแหล่งที่มาของงบประมาณส่วนใหญ่ 80% มาจากเงินออม

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 38% กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2560 ส่วนใหญ่ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน หารายได้เสริม รวมถึงซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา อย่างชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียนราคาประหยัด

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในช่วงเปิดเทอมนี้ เฉพาะผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะใช้จ่ายเงินด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน คิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,000 ล้านบาท ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1/2559 ซึ่งเป็นรายจ่ายค่าเล่าเรียน และค่าเรียนกวดวิชา

ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 12,900 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเล่าเรียน เช่น ค่าบำรุงการศึกษา 4,500 ล้านบาท

ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน 4,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา

ค่าเรียนเสริมทักษะ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,400 ล้านบาท

ล่าสุด “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ได้แถลงผลการประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม

โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ

พบว่า

การใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50,196 ล้านบาท สูงสุดจากเมื่อปี 2553 ที่ศูนย์เคยสำรวจมาอยู่ที่ 38,377 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ 75.3% ไม่มีรายได้จากอาชีพเสริม

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ปกครองต้องซื้อ อันดับ 1 ชุดนักเรียน รองลงมา รองเท้า ถุงเท้านักเรียน และหนังสือเรียน เฉลี่ยโดยรวมเกิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,295 บาท เพิ่มขึ้น 35.6% เมื่อเทียบจำนวนชิ้นที่ซื้อในช่วงเปิดเทอม 43.6% ยังคงเท่าเดิม

ขณะที่ผู้ปกครองมีทัศนคติต่อราคาสินค้า เช่น ค่าหนังสือแพงขึ้น 44.8% ค่ารองเท้า ถุงเท้าแพงขึ้น 41.1% และค่าเสื้อผ้าแพงขึ้น 40.9% และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมถึง 53.1% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 51.3%

ส่งผลให้ผู้ปกครองจำนำทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 27.9% กู้เงินในระบบเพิ่มขึ้น 18.3% และเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 16.8% เพื่อใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของนักเรียน

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอม คือ ค่าเล่าเรียน ค่าหน่วยกิต 13,894.83 บาท เพิ่มขึ้น 41.3% ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 2,133 บาท เพิ่มขึ้น 42.9% ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียน (แป๊ะเจี๊ยะ) 9,138.63 บาท เพิ่มขึ้น 47.1% ค่าหนังสือ 1,642.34 บาท เพิ่มขึ้น 34.2% ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,928.79 บาท เพิ่มขึ้น 35.1% ค่าเสื้อผ้า 1,267.20 บาท เพิ่มขึ้น 49% ค่ารองเท้า ถุงเท้า 772.32 บาท เพิ่มขึ้น 46% และค่าบริการจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต 1,685.63 บาท เพิ่มขึ้น 31.1%

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังเห็นว่า การเรียนพิเศษเพิ่มเติม มีความจำเป็น เพื่อให้ลูกหลานได้เกรดเฉลี่ยสูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการเรียนพิเศษ โดยตั้งแต่ระดับอนุบาล มีค่าเรียนพิเศษคนละ 8,092 บาท ระดับประถม 10,704 บาท มัธยมต้น 9,740 บาท มัธยมปลาย 11,064 บาท และมหาวิทยาลัย 14,814 บาท

เพราะเห็นว่าการเรียนในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน และต้องเตรียมความพร้อมก่อนเรียน

คราวนี้ ลองมาฟังเสียงผู้ปกครองบ้าง เริ่มจาก “นายธนรัฐ รัฐกิจวิจารณ์ ณ นคร” อายุ 52 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว จ.ยะลา กล่าวว่า มีลูกคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนอนุบาลยะลา จ่ายค่าเทอม 4,000-5,000 บาทต่อเทอม

นอกจากนี้ ยังมีค่าเรียนพิเศษวิชาละ 3,000 บาทต่อเทอม

โดยปกติลูกจะเรียนเทอมละ 2 วิชา รวมประมาณ 6,000 บาท

ยังไม่นับรวมค่าชุดนักเรียน ยุวกาชาด และชุดพละ ที่ต้องซื้อใหม่ในเทอมนี้อีกประมาณ 3,000 บาท

แม้เป็นเงินไม่มากนัก แต่ต้องยอมรับว่าปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี ประกอบกับมีอาชีพค้าขาย รายได้ไม่แน่นอน จึงต้องประหยัดมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบ

“ที่ผ่านมา รัฐบาลบอกว่าเรียนฟรี แต่ผมคิดว่าไม่ฟรีจริง ผู้ปกครองต้องเสียค่าเทอม แม้แต่ค่าหนังสือเรียน ซึ่งปีนี้เปลี่ยนจากนโยบายแจกหนังสือเรียนฟรี มาเป็นหนังสือยืมเรียน ก็ไม่ได้ฟรีทั้งหมด เพราะผมยังต้องจ่ายค่าหนังสือให้ลูก 1,680 บาท แม้ผมยังมีรายได้พอจ่ายในส่วนนี้ แต่เท่าที่พูดคุยกับผู้ปกครองบางคน ก็ค่อนข้างตึง บางรายต้องพึ่งโรงรับจำนำเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ลูกก่อน”

ส่วน “นายภาสกร เพียรเก็บ” อายุ 41 ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง บอกว่า เศรษฐกิจค่อนข้างแย่ กระทบรายได้ เดิมตนมีฐานลูกค้าตั้งแต่ระดับล่าง ระดับกลาง ไปถึงระดับสูง

แต่ปีนี้ลูกค้าระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่หายไปมาก ทำให้รายได้ลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตนมีลูกที่อยู่ในวัยเรียน 2 คน อยู่ชั้น ม.4 และ ม.5 โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 โรงเรียนมีค่าชุดนักเรียนให้ 500 บาท

ส่วนหนังสือ ใช้หนังสือยืมเรียน แต่ยังมีค่าเทอมประมาณ 4,000-5,000 บาท

ซึ่งส่วนนี้โรงเรียนไม่เรียก “ค่าเทอม” แต่จะเรียกว่า “ค่าช่วยเหลือโรงเรียน” แทน

“ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาลบอกว่าเรียนฟรี จึงยังไม่ฟรีจริงทั้งหมด ผู้ปกครองยังรับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน ส่วนตัวไม่มีปัญหาเพราะอยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด แต่ถ้าบริหารจัดการให้เป็นเรียนฟรีได้จริง ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานถึงอุดมศึกษา ก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มาก”

นี่คือเสียงสะท้อนจาก “หัวอก” ของผู้ปกครอง ในยุคไทยแลนด์ 4.0!!