ช่วยกันเรียกหา “รัฐบาลที่ดี”

หลังที่รัฐสภาแสดงบทบาทได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมืองได้ทันกับอัตราที่ 2 ฝ่ายขับเคลื่อนพลังของตัวเองเข้ามาเสียดทานอีกฝ่าย

ดูเหมือนว่าการเมืองจะเป็นเกมที่ไปเล่นกันบนถนนมากขึ้น

ฝ่ายหนึ่งมี “ข้าราชการ” เป็นกลไกจัดการรวบรวมพลังและอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มี “เซเลบ” คนดังทั้งหลายเป็นผู้แสดงออกแถวหน้า มีกลุ่มที่อกระอุอยู่ด้วยศรัทธาความเชื่อเดินอยู่แถวหน้า มี “นักการเมือง” เปิดหน้าเล่นอย่างไม่ซ่อนเร้น

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเยาวชนคนหนุ่ม-สาว ที่มี “ความหวังต่ออนาคตที่ดีกว่า” เป็นพลังขับเคลื่อน มีความเชื่อว่า “ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ และถึงเวลาของความเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว” เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความกล้าหาญที่จะเดินหน้าท้าทาย

เมื่อเกมในระบบถูกล็อกชัยชนะด้วยกติกา และกลไกที่ถูกออกแบบและสถาปนามาเพื่อ “ปิดประตูแพ้” การต่อสู้จึงถูกลากมาเล่นนอกระบบ ด้วยความหวังว่าจะเป็นเวทีที่พอจะเหลือความยุติธรรมอยู่บ้าง

แม้กลไกที่นับวันจะไม่เหลือความเชื่อว่ายุติธรรมจะตามล่าอย่างไม่น่าเชื่อว่าสังคมจะเดินมาถึงจุดที่ “การทำหน้าที่ไม่เกี่ยวกับการทำตามกฎหมาย” จะได้รับการยอมรับ โดยผู้มีอำนาจไม่รับรู้ในเสียงโต้แย้ง

แต่การยอมจำนนยังดูจะไม่มีทางเกิดขึ้น

ดังนั้น เกมที่ลงมาเล่นกันบนถนน จึงมีหลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าจะลามไปสู่ความรุนแรง

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองจะจบอย่างไร”

ร้อยละ 19.44 เชื่อว่ารัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องของม็อบ, ร้อยละ 15.79 เชื่อว่าจะมีความรุนแรงทางการเมืองทำให้รัฐบาลลาออก, ร้อยละ 12.53 เชื่อว่าจะมีความรุนแรงทางการเมือง ต่อด้วยรัฐประหาร, ร้อยละ 11.39 เชื่อว่ามีความรุนแรงทางการเมือง แต่รัฐบาลควบคุมได้

ขณะที่ร้อยละ 11.39 เชื่อว่าผู้ชุมนุมจะลดน้อยลงจนเลิกชุมนุมไปเอง, ร้อยละ 11.31 เชื่อว่าภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมได้, ร้อยละ 7.52 เชื่อว่าผู้ชุมนุมจะประกาศยุติการชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด, ร้อยละ 4.25 เชื่อว่าเกิดการรัฐประหารก่อนมีความรุนแรงทางการเมือง, ร้อยละ 0.53 เชื่อว่ารัฐบาลและผู้ชุมนุมสามารถเจรจาต่อรองกันได้

จากผลโพลนี้สะท้อนว่า ความเห็นของประชาชนทั่วไปไม่ได้แตกต่างจากผู้มีบทบาททางการเมืองมากนัก

นั่นคือส่วนใหญ่เห็นว่า “จะต้องเกิดความรุนแรงขึ้น” เพียงแต่หลังเกิดความรุนแรงแล้วจะมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

บ้างเชื่อว่าจะทำตามเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุม บ้างเชื่อว่าผู้ชุมนุมจะพ่ายแพ้ต่อการใช้อำนาจ

ในทางที่ควรจะเป็นแล้ว “ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้น”

ผู้บริหารประเทศควรจะต้องมีความสามารถในการนำพาประชาชน ไม่ว่าฝ่ายไหนให้รอดพ้นจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการประชาชน หรือเกิดจากการปะทะกันเองของประชาชน ทั้งที่เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นต่าง หรือเพราะถูกจัดการให้เกิดความเห็นต่างเพื่อใช้การปะทะนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มบางพวก

รัฐบาลที่ดีจะต้องขจัดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความรุนแรง อย่างพร้อมจะเสียสละ

ไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงเป็นเหตุผลเพื่ออ้างความจำเป็นในการสืบทอดอำนาจต่อไป