คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระกับม็อบ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“ไม่ใช่กิจของสงฆ์”

คำนี้มักเป็นคำที่มักใช้กล่าวถึงพระที่ไปม็อบหรือไปกิจกรรมใดๆ ที่เขาเห็นว่าพระไม่ควรทำ

แต่ผมสงสัยว่า เราเข้าใจความหมายของ “กิจของสงฆ์” มากน้อยแค่ไหน

หรือเราก็แค่ด่าไปตามความเข้าใจเบลอๆ มั่วซั่วๆ ของเรา ซึ่งผมคิดว่ามักเป็นอย่างหลัง

ภาพลักษณ์ของพระที่ต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลกเลย ดูเหมือนเริ่มเกิดขึ้นภายหลังการรวมศูนย์ของคณะสงฆ์มายังส่วนกลางและการตั้งธรรมยุติกนิกาย

สิ่งนี้ได้สร้างภาพพระในอุดมคติของชั้นกลางและชั้นสูง คือมุ่งแต่ทำวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น

รวมถึงการออกกฎหมายคณะสงฆ์ในเวลาต่อๆ มาที่จำกัดขอบเขตกิจกรรมของพระไว้มากจนพระไม่เหลือมิติอะไรเลย

สมัยก่อน พระหลายรูปเป็นครูบาอาจารย์ทางศิลปวิทยาต่างๆ งานช่างสารพัด ยาพื้นบ้าน สวดลำ แหล่ แม้แต่เพลงดนตรีหรือกระบี่กระบองก็ยังมี แต่ทั้งหมดถูกมองว่าไม่เหมาะแก่สมณสารูป

การตั้งคณะธรรมยุติกนิกายทางหนึ่งก็เพื่อจัดการพระให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับอะไรพวกนั้น

 

ผมเคยได้ยินศิษย์เก่าวัดธรรมยุตหนึ่งในกรุงเทพฯ เล่าว่า เหตุที่วัดต้องจัดพระสำหรับสวดอภิธรรมไว้เป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงห้ามขาดไม่ให้พระ-เณรในวัดนั้นไปสวดศพ ใครขืนไปจับสึกสถานเดียว

แต่ที่ยังต้องมีพระสวดอภิธรรมไว้สำรับหนึ่งนั้น ก็เพื่องานพิธีหลวงที่ขัดพระราชประสงค์ไม่ได้

พระธรรมยุตซึ่งราชสำนักให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ถูกมองว่าเป็นพระปฏิบัติหรือสายวัดป่าไปโดยอัตโนมัติ (ทั้งๆ ที่สายหลวงพ่อชาก็เป็นพระป่าแต่อยู่ในมหานิกาย) การแยกพระป่าออกจากพระบ้าน พระปฏิบัติออกจากสายปริยัติ จึงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

แต่เดิมผมเข้าใจว่าพระป่าและพระบ้านไม่ได้แยกกันเท่าในปัจจุบัน กล่าวคือ พระบ้านก็ต้องออกรุกขมูล (ไปอยู่ป่า) ตามระยะเวลานอกพรรษากาล

ส่วนพระที่ออกธุดงค์อยู่เป็นปกตินั้นก็ต้องบิณฑบาตในละแวกบ้าน

และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชาวบ้านเสมอ

 

Buddhist monks supporters of pro-democracy protesters display placards as they march to the German Embassy in central Bangkok, Thailand Monday, Oct. 26, 2020. As lawmakers debated in a special session in Parliament that was called to address political tensions, the students-led rallies were set to continue with a march through centeral Bangkok Monday evening to the German Embassy, apparently to bring attention to the time King Maha Vajiralongkprn spends in Germany. Placards from left read: “Do you ever watch Dharma program? Or you watch only Nation channel, Police, do not use any weapon, because they are the people.” (AP Photo/Gemunu Amarasinghe)

ดังนั้น อะไรคือ “กิจของสงฆ์” ผมคิดว่าเราอาจต้องมุ่งมองไปยังพุทธเจตนารมณ์ กล่าวคือ พระพุทธะตั้งชุมชนสงฆ์ขึ้นเพื่อให้ผู้ออกบวชได้บรรลุ “ประโยชน์สอง” คือ ประโยชน์ตน หมายถึงได้ปฏิบัติจนบรรลุความหลุดพ้น และประโยชน์ท่าน คือได้อนุเคราะห์แก่สังคมโดยรวม ดังวลี “จงท่องไปเพื่อประโยชน์และความสุข”

นิพพานนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา

แต่ผมไม่เชื่อว่าพระพุทธะจะสอนคนให้นิพพานแบบเอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน

ไม่ว่าจะอุดมคติแบบเถรวาท มหายานหรือวัชรยานก็ล้วนมุ่งไปสู่นิพพานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นทั้งสิ้น

ดังนั้น ถึงที่สุดแล้วประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านจึงบรรสานสอดคล้องกัน และถ้าขัดกัน ผมเข้าใจว่าพระพุทธะคงเน้นประโยชน์ท่านก่อนเป็นแน่

คำถามต่อมาคือ การไปม็อบหรือประท้วงเป็นกิจของสงฆ์ไหม ถ้าตอบแบบมหาเถรสมาคมก็ต้องบอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ แถมยังเป็นความผิดด้วย ทั้งนี้เพราะมหาเถรสมาคมออกกฎไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ห้ามพระภิกษุสามเณรไปในที่ชุมนุมทางการเมืองทุกรูปแบบ

คณะสงฆ์พยายามแสดงตัวว่าเป็นกลางคือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า ที่พูดว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองคือการเมืองอีกแบบนั่นแหละ

อีกทั้ง “การเมือง” ในทัศนะคณะสงฆ์ไทยไม่ได้มีความชัดเจนว่าคืออะไรกันแน่ พระจึงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยออกตัวว่าไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่เสมอ

เราได้เห็นพระสมณศักดิ์สูงทำพิธีอวยพรให้กับผู้นำของรัฐที่เป็นเผด็จการอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นสำนักงานพุทธศาสนาเร่งให้ต้นสังกัดเอาผิดกับสามเณรเล็กๆ ที่ไปชุมนุม

เราไม่เคยเห็นคณะสงฆ์ (ที่เป็นทางการ) ออกมาตำหนิกิตติวุฑโฒที่ให้สัมภาษณ์ว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แถมกิตติวุฑโฒยังได้รับสมณศักดิ์เพิ่ม ไม่เคยเห็นคณะสงฆ์ออกมาประณามพุทธะอิสระที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้คน (มีเพียงคณะสงฆ์บางส่วนลงอุกเขปนียกรรม (ขับออกจากหมู่สงฆ์ชั่วคราว) แต่ก็ด้วยเหตุที่พุทธะอิสระต่อต้านมหาเถรสมาคมเป็นหลัก)

ขนาดพระด้วยกันเองยังไม่สามารถจะประณามได้ ไม่ต้องกล่าวถึงการประณามรัฐบาลที่มุสาวาทอยู่เป็นนิตย์ หรือกระทำความรุนแรงกับประชาชน

นี่คือความเป็นกลางแบบไหนผมก็อธิบายไม่ได้ เพราะผมไม่เคยเห็นตรงกลางระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง

แล้วหากพระจะยุ่งกับการเมือง ควรจะยุ่งแบบไหน ผมคิดว่าหากย้อนกลับไปดูในพระบาลี พระพุทธะเองเคยไปประสานความขัดแย้งระหว่างพระญาติพระวงศ์อยู่หลายครั้ง แม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพระไปในพื้นที่ขัดแย้งได้ หากไปด้วยความพยายามที่จะป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและชี้โทษภัยของการเข้าห้ำหั่นกัน

กล่าวคือ หากการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นไปด้วยความเมตตา เป็นความพยายามที่จะป้องกันความรุนแรง เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากและสรรพสัตว์ก็น่าจะกระทำได้

มักมีการยกพระวินัยเรื่องพระห้ามไปดูการศึกสงครามมาเทียบเคียงกับกรณีพระไปม็อบ แต่ผมคิดว่าต่างกัน กรณีนี้ ต้นบัญญัติคือพวกพระฉัพพัคคีย์ไปดูสงครามแล้วโดนลูกหลง ชาวบ้านเขาล้อเอา พระพุทธะจึงบัญญัติวินัยข้อนี้ แต่ก็เป็นเพียงอาบัติเล็กน้อยเท่านั้น แถมม็อบก็ไม่ใช่การศึกสงครามที่มีการจัดกระบวนทัพและมีการรบราฆ่าฟันด้วยกระบวนยุทธ์ให้เห็น จึงไม่น่าจะเทียบเคียงกันได้

ที่จริงผมออกจะเห็นใจพระหนุ่มเณรน้อยอยู่มากเลยนะครับ เท่าที่คุ้นเคยกับพระ-เณรมา ผมคิดว่ามีพระที่เห็นอกเห็นใจผู้คน รักความถูกต้องและอยากเห็นสังคมดีขึ้นอยู่มาก

เพียงแต่สังคมพระในบ้านเรานั้นเป็นสังคมอำนาจนิยม เผลอๆ จะยิ่งกว่าสังคมทหาร-ตำรวจ

ด้วยเหตุว่าได้มีการตั้งกฎหมายที่เข้มงวดและเกินพระธรรมวินัยไว้มาก โดยให้อำนาจไปอยู่ที่เจ้าอาวาสหรือผู้บังคับบัญชาตามลำดับของพระ

อำนาจของเจ้าอาวาสหรือสายบังคับบัญชาพระนั้น ถึงขนาดสามารถไล่พระ-เณรออกจากวัดหรือให้สึกได้หากเห็นสมควร แม้ไม่ได้ละเมิดวินัยที่รุนแรงด้วยซ้ำ มักอ้างว่าก็เพื่อความสงบเรียบร้อยของวัด แต่ในทางหนึ่งก็เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจกลั่นแกล้งกัน

พระ-เณรทั้งหลายซึ่งเป็นลูกชาวบ้าน มาบวชก็เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ การถูกไล่ออกจากวัดหรือถูกจับสึกจึงเป็นการทำลายโอกาสในชีวิตของคนเหล่านั้น เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตเขา

พระ-เณรส่วนหนึ่งจึงได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในใจ

 

ส่วนการอ้างว่า การยอมรับกฎหมายบ้านเมือง หรือ “ราชานุวัติ” (ราชูนํ อนุวตฺติ ตุงฺ) เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ควรยอมตาม ผมคิดว่า พระพุทธะอนุญาตเฉพาะให้อนุโลมตามกฎหมายบ้านเมือง เฉพาะที่ไม่ขัดกับพระวินัยและไม่ขัดกับ “ธรรม” เท่านั้น

แต่สมณศักดิ์และเงินเดือน (นิตยภัตร) ที่รับกันอยู่ ไม่ขัดกับพระธรรมวินัยที่ตรงไหน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ในปัจจุบันสอดคล้องกับพระธรรมวินัยแค่ไหน ไม่มีใครถาม

แต่ครั้นมีพระ-เณรไปม็อบกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต อ้างว่าผิดกฎที่ตั้งกันเองโดยไม่ได้สอดคล้องกับพระวินัย

ผมว่าพระทั้งหลายควรดูแบบอย่างของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ผู้แต่งบทเทศน์ “ธรรมวิจยานุศาสน์” วิจารณ์การเข้าร่วมสงครามของไทย ที่ต้องใช้อาวุธห้ำหั่นฆ่าฟันชีวิตกัน บทเทศน์นี้ขัดกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่หก ท่านจึงถูกถอดสมณศักดิ์และกักตัวไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร แม้ภายหลังจะได้คืนสมณศักดิ์ แต่ก็ถูกลงโทษกลายๆ คือสมณศักด์ไม่สอดคล้องกับราชทินนาม คือต่ำลงมาหนึ่งขั้นตลอดชีวิตท่าน

แต่นั่นคือความยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่านเองที่พยายามทัดทานผู้มีอำนาจโดยยึดหลักการของพุทธศาสนาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมตาม “ราชานุวัติ” หรือ “พระราชนิยม” หากเห็นว่าขัดกับ “ธรรม”

 

ผมเห็นภาพสะเทือนใจ ที่มีสามเณรรูปหนึ่งไปยืนอยู่ต่อหน้ารถฉีดน้ำแรงดันสูงของราชการ พร้อมพนมมือไหว้ขอร้องไม่ให้รถคันนั้นฉีดน้ำใส่นักเรียน-นักศึกษาที่ไปชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายไม่เป็นผล

ผมคิดว่าสามเณรรูปนั้นมิได้ทำอะไรผิดเลย ท่านยังโดนคนบางกลุ่มด่าว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ ยังมีภาพของสามเณรที่ช่วยเป็นกำแพงมนุษย์ไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจับกุมเยาวชน ภาพของภิกษุ-สามเณรที่เดินไปกับม็อบด้วยความสงบ ชูป้ายเตือนไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม สิ่งเหล่านี้ผิดพระธรรมวินัยตรงไหน

จากภาพเหล่านั้น ผมมีคำตอบง่ายๆ ว่า กิจของสงฆ์ที่แท้จริง

ไม่ต่างจากกิจที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันนั่นเอง