คนของโลก : มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่

มุน แจ อิน คือใคร?

คำตอบที่คนทั่วโลกอยากรู้คงไม่ใช่ในฐานะ “ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่”

ตำแหน่งซึ่งนักการเมืองวัย 64 ปีผู้นี้คว้ามาได้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

หากแต่เป็นเส้นทางชีวิตของชายที่เคยเป็นทั้ง “นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย” และ “ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน”

การเลือกตั้งมีขึ้นหลังการชุมนุม “จุดเทียน” ประท้วงขับไล่อดีตประธานาธิบดี “ปาร์ก กึน เฮ” ผู้นำที่ตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตอื้อฉาวก่อนปิดฉากลงด้วยการถูกศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งไป

“ความพยายามของเราที่จะสร้างประเทศให้น่าอยู่เริ่มต้นด้วยเปลวเทียน และต้องสิ้นสุดลงด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง” มุนระบุระหว่างการหาเสียง

มุนเคยเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดี ภายใต้ประธานาธิบดี “โนห์ มู ฮยอน” ผู้ที่ “ฆ่าตัวตาย” เมื่อปี 2009 หลังถูกสอบสวนในข้อกล่าวหาทุจริต

ชัยชนะในครั้งนี้นับเป็นจุดสูงสุดในแวดวงการเมืองของมุน กับชีวิตที่ต้องก้าวขึ้นจากความยากจนข้นแค้น ไปสู่การเผชิญหน้ากับการถูกดำเนินคดีเพื่อแลกกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

 

มุน แจ อิน เกิดที่ “กอเจ” เกาะตอนใต้ของเกาหลีใต้ ในช่วงสงครามเกาหลี เมื่อปี 1952 หลังจากพ่อและแม่ที่มีพื้นเพเป็นชาวเกาหลีเหนือ หนีลงมาปักหลักในเกาหลีใต้

พ่อของมุนทำงานเป็นคนงานใน “แคมป์เชลยศึก” ขณะที่แม่หาเลี้ยงชีพด้วยการ “เร่ขายไข่” โดยมีมุนแบกติดหลังอยู่ตลอดเวลา ที่เมืองท่าปูซาน ที่อยู่ไม่ไกลบ้านนัก

มุนเข้าเรียนในโรงเรียนสอนกฎหมายในกรุงโซล เมื่อปี 1972 แต่ต้องถูกจับกุมและถูกไล่ออกหลังเป็นแกนนำนักศึกษาประท้วงต่อต้านอำนาจเผด็จการของ “ปาร์ก จุง ฮี” พ่อของอดีตประธานาธิบดี ปาร์ก กึน เฮ

ความสนิทสนมระหว่างมุนกับโนห์ ผู้ที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีในอนาคตเกิดขึ้นเมื่อทั้งคู่ตั้งบริษัทด้านกฎหมายขึ้นมาในเมืองปูซาน โดยเน้นไปที่ประเด็นสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชน

มุนและโนห์กลายเป็นผู้มีบทบาทนำในการชุมนุมประท้วงที่กระจายไปทั่วประเทศในปี 1987 ก่อนที่จะนำเกาหลีใต้ไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปีเดียวกัน

โนห์ก้าวเข้าสู่เวทีทางการเมือง ขณะที่มุนทำสิ่งที่ตัวเองถนัดด้วยการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับนักศึกษาและแรงงานที่ถูกจับกุมในข้อหาเป็นแกนนำประท้วงและการนัดหยุดงาน

อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมาหลังโนห์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมายในปี 2002 มุนก็ได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี มีหน้าที่หลักในการจับทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และคัดเลือกผู้ที่จะก้าวเข้ามารับตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐมนตรี

ก่อนที่มุนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ของ “บลูเฮ้าส์” ในเวลาต่อมา

 


ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ ให้คำมั่นว่า จะมุ่งควบคุมความสนใจที่มีต่ออำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแชโบล กลุ่มธุรกิจครอบครัวซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวระดับชาติที่ส่งผลให้ประธานาธิบดีปาร์กต้องพ้นจากตำแหน่งไป

ประธานาธิบดีมุนมีแนวนโยบายต่อเกาหลีเหนือที่มุ่งไปในทิศทางของการเจรจาและความปรองดอง ท่าทีที่อาจนำไปสู่การเจรจาระหว่างกันที่ต้องหยุดชะงักมายาวนานเช่นประเด็นนิคมอุตสาหกรรมร่วม

ชัยชนะของมุนถูกมองว่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาด้วย

เมื่อมุนมีท่าทีที่อ่อนลงต่อเกาหลีเหนือ ถึงขั้นเคยระบุไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี ตนต้องการที่จะเดินทางเยือน “เกาหลีเหนือ” ก่อน “สหรัฐอเมริกา” ชาติที่ถือเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยให้กับเกาหลีใต้มาโดยตลอด และยังเคยแสดงความกังขาต่อการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธทาดของสหรัฐในเกาหลีใต้ด้วย

เหตุผลเหล่านี้ล้วนอาจส่งผลความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สหรัฐมีประธานาธิบดีชื่อว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้ที่เคยประกาศให้เกาหลีใต้จ่ายเงินค่าติดตั้งระบบป้องกันอันแสนแพงนั้นด้วยตัวเอง