ทำไม? ไทยต้องอ้างว่า ‘นางนพมาศ’ เป็นคนประดิษฐ์ “กระทง” | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในขณะที่หลักฐานฝั่งไทยเคลมหนักไปถึงขนาดที่ว่า ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมที่เรียกกันว่า “กระทง” นั้น เป็นนางสนมคนสวยของพระร่วง ที่ชื่อว่า “นางนพมาศ” หรือที่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” และเชื่อว่า มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคกรุงสุโขทัยเมื่อราวๆ 700 ปีเศษที่แล้ว แต่หลักฐานของกระทงที่เก่าแก่ที่สุดในอุษาคเนย์กลับไม่ได้เพิ่งจะมีอยู่ที่สุโขทัยเท่านั้น

เพราะว่าที่ระเบียงคดชั้นนอกของปราสาทบายน ศูนย์กลางของเมืองนครธม (หรือที่เรียกอย่างไทยว่าพระนครหลวง) มีภาพสลักเป็นรูปเหล่านางในกำลังถืออะไรที่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นกระทง เอาไปลอยละล่องลงในแม่น้ำน่ะสิครับ

ปราสาทบายนสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1743 เก่าแก่กว่าสุโขทัยในยุครุ่งเรืองประมาณ 100 ปี (ถึงแม้ว่าในยุคที่มีการสร้างปราสาทบายนนั้นจะมีบ้านมีเมืองขึ้นที่แถวๆ สุโขทัยมาช้านานแล้วก็เถอะ) ดังนั้น ถ้านางนพมาศจะเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงเองจริงอย่างที่ตำนานว่าแล้ว พาสปอร์ตของนางก็ควรจะแสตมป์ตราว่าออกให้ที่นครธมเสียมากกว่าที่จะเป็นสุโขทัย

“ลอยกระทง” เขมรเรียก “ลอยประเทียบ” ปัจจุบันจะจัดให้มีติดต่อกันนานสามวัน และไม่ได้เป็นเพียงการนำกระทงลงไปลอยเพื่อขอขมาแม่น้ำลำคลองเหมือนอย่างที่ไทยเราอธิบายเท่านั้นด้วย

แต่ยังมีการบูชาพระจันทร์ที่เรียกว่า “สมเปรี๊ยะพระแข” (sampeas pra khe, ขอให้สังเกตด้วยว่าพระจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำ) การตำ “ออก อำบก” (ork ambok) คือข้าวเม่า และที่สำคัญคือมีการแข่งเรือด้วย

“การแข่งเรือ” ในพระราชพิธีสิบสองเดือนข้างไทยเราก็มีนะครับ ในเอกสารโบราณอย่างกฎมณเฑียรบาล (คือกฎหมายที่ใช้ในวัง) ซึ่งรวมอยู่ในกฎหมายตราสามดวงเรียกว่า “ไล่เรือ” เป็นพิธีที่จัดกันในช่วงเดือนสิบเอ็ด ก่อนที่จะมีการลอยกระทงหนึ่งเดือน

แต่การไล่เรือ หรือแข่งเรือนั้น ก็ถือว่าเป็นพิธีที่ทำในช่วงน้ำมาก น้ำหลาก จะเดือนสิบเอ็ดอย่างไทย หรือเดือนสิบสองแบบเขมร ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะต่างก็คือการทำพิธีไล่น้ำให้ลดลงไปเพื่อการเพาะปลูกเช่นกันนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าชาวเขมรเขาจะเอา “การแข่งเรือ” มาผนวกรวมกับการ “ลอยกระทง” ในช่วงเดือนสิบสอง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรเลยสักนิด

ในประเทศเพื่อนบ้านของทั้งไทยและเขมร อย่างประเทศ “ลาว” ก็มีประเพณีแข่งเรือ พร้อมกันกับการลอยกระทง ซ้ำชาวลาวกลุ่มที่ลอยกระทงและแข่งเรือไปพร้อมกันนั้นยังเป็นชาวลาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณแขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว ที่ติดอยู่ทั้งกับไทยและเขมร

แต่ชาวลาวจำปาสักไม่ได้ทั้งแข่งเรือและลอยกระทงพร้อมกันในเดือนสิบสองเหมือนอย่างเขมร

ประเพณีเหล่านี้พวกเขาทำกันทุกวันออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีต่างหาก

โดยชาวลาวกลุ่มนี้อธิบายว่า การลอยกระทงเป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัย หรือเคราะห์กรรมทั้งปวงให้หายไปกับสายน้ำ

ไม่ได้เป็นการขอขมาพระแม่คงคาอย่างคำอธิบายของพี่ไทยในทุกวันนี้

(พื้นที่อื่นๆ ในประเทศลาวก็มีประเพณีการลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เช่นที่ปรากฏอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ปัจจุบันนี้ แต่เป็นการรับเอาประเพณีอย่างไทยเข้าไปในภายหลัง จนละเลิกการลอยกระทงในวันออกพรรษาตามประเพณีเดิม อย่างที่ยังคงมีอยู่ในจำปาสักไปเสียหมด)

ความเชื่ออย่างนี้ตรงกันกับประเพณีการ “ลอยโขมด” ทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกกันว่าเขตล้านนาประเทศ ซึ่งก็มีรูปแบบไม่ต่างไปจากการลอยกระทงในภาคกลาง โดยจะลอยกันในช่วง “ยี่เป็ง” คือ วันเพ็ญเดือนสอง ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 วันลอยกระทงของไทยภาคกลางนั่นเอง

“โขมด” เป็นคำเขมร แปลว่า “ผี” ชาวล้านนาโบราณ (ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือลาวกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง) เชื่อว่าการลอยโขมดนอกจากจะเป็นการลอยเคราะห์ ลอยบาป เอาเสนียดจัญไรออกจากตัว เหมือนอย่างชาวลาวจำปาสักแล้ว ยังเป็นการลอยเพื่อส่งข้าวของบรรณาการแก่ “โขมด” หรือ “ผี” บรรพบุรุษของตนเองอีกด้วย

ชาวพม่าก็มีการลอยกระทงในทุกวันเพ็ญเดือนตะส่องโมง ซึ่งนับเป็นเดือน 8 ของพม่า แต่ตรงกับเดือน 12 ของชาวไทยภาคกลาง แต่เป็นการลอยเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ (หรือที่มักเรียกกันว่า พระบัวเข็ม) ที่มีคติเชื่อกันว่าบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ที่กลางมหาสมุทร ตรงสะดือทะเล

เช่นเดียวกับที่วัฒนธรรมใหญ่อย่างอินเดีย มีประเพณีคล้ายๆ กับการลอยกระทง ที่เรียกทีปวลี ส่วนจีนก็มีประเพณีที่มีรูปร่างหน้าตาเช่นเดียวกับการลอยกระทงเช่นกัน และแน่นอนว่าทั้งในจีนและอินเดียมีตำนานที่มาของการลอยกระทงแตกต่างกันไป ซึ่งก็ไม่เหมือนกับตำนานทั้งหลายในอุษาคเนย์ด้วย

ทั้งชาวพม่า ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวเขมร ชาวลาว (ในทุกพื้นที่) และชาวล้านนาแต่โบราณ จึงไม่ได้เชื่อว่า “นางนพมาศ” เป็นผู้ประดิษฐ์กระทง เพราะนิทานเรื่องนี้มีอยู่เฉพาะในไทย ตั้งแต่หลังรัชกาลที่ 3 ลงมาเท่านั้น

ข้อมูลต่างๆ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า การ “ลอยกระทง” ในอุษาคเนย์นี้ เกี่ยวข้องอยู่กับการ “แข่งเรือ” สัมพันธ์อยู่กับการ “ไล่น้ำ” ในช่วงฤดู “น้ำหลาก” ก่อนหน้าที่พุทธ ที่พราหมณ์จากอินเดียจะเข้ามาเป็นประเพณีผี ลอยเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษ

แต่เมื่อรับพุทธ รับพราหมณ์มาจากชมพูทวีปแล้วก็ลอยเพื่อบูชาพระพุทธ หรือเทพเจ้าของพราหมณ์ไปตามแรงศรัทธาอย่างใหม่

ตลกร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตำนานที่ชาวเขมรผูกขึ้นเพื่ออธิบายที่มาที่ไปของเทศกาลลอยกระทง กลับไม่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับบรรดานางในที่ถือกระทงในปราสาทบายนแห่งนั้นเลย

เพราะพวกเขาเชื่อว่าประเพณีต่างๆ ที่ปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้เกี่ยวข้องกับการศึกสงครามต่างหาก

ปมในใจที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของกัมพูชา (ที่ก่อร่างสร้างตัวโดยมีฝรั่งเศสเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก และต่อยอดอีกมากมายมหาศาลโดยชาวเขมรเองหลังจากนั้น) สร้างไว้กับชนพื้นเมืองชาวเขมรคือ การหวาดระแวงกับการศึกทางน้ำ

การเสียกรุงครั้งแรกของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเมืองพระนครตามหลักสูตรประวัติศาสตร์แห่งชาติของกัมพูชาอ้างว่า เกิดจากการที่พวกจามเข้ามาจู่โจมในช่วงฤดูน้ำหลากนี่เอง

ภาพสลักบนผนังปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (คือผู้สร้างปราสาทบายน ที่มีภาพนางในทั้งหลายไปลอยกระทงนี่แหละ) ซึ่งทรงเป็นผู้กอบกู้เมืองพระนครที่ถูกทำลายไปจากการรุกรานของพวกจาม เต็มไปด้วยภาพการศึกสงครามทางน้ำระหว่างฝ่ายจามปาและฝ่ายเขมร

ชาวเขมรในปัจจุบันอธิบายว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นการขอขมาแม่น้ำ บูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระจันทร์ รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ คล้ายๆ กับความเชื่อของไทยเรา

แต่ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงนอกจากเรื่องของนางนพมาศแล้วก็คือ ความเชื่อที่ว่าเทศกาลลอยกระทงเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีต่อพวกจาม เมื่อครั้งยึดเมืองพระนครกลับคืนมาได้นี่เอง

(จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจด้วยเช่นกันที่ชาวเขมรจะมาแข่งเรือกันในช่วงลอยกระทง เพราะในภาพสลักก็มีเรือรบอยู่ให้เกลื่อนไปหมด)

ในเขมร ประเพณี (ที่ถือเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ใช้ในการจินตกรรมความเป็นชาติ) ถูกโยงเข้ากับภาพสลักบนปราสาทหิน ถ้าประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยผูกโยงอยู่กับราชสำนัก เช่นเดียวกับที่กระทง ต้องเป็นนวัตกรรมจากสนมนางในวังอย่างนางนพมาศ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของเขมรก็ผูกโยงอยู่กับปราสาทโบราณในยุครุ่งเรืองของขอม (ซึ่งก็คือเขมรนั่นแหละ) อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้เช่นเดียวกัน

หลายครั้งคำอธิบายเกี่ยวกับกำเนิดของประเพณีต่างๆ จึงเกี่ยวข้องกับว่า ชาติไหนเขาสร้างชาติอย่างไร? ในกรณีของไทยเกี่ยวโยงกับตำนานประวัติศาสตร์ราชสำนักสมัยสุโขทัย อย่างที่ชอบอ้างต่อๆ กันมาว่า สุโขทัยนั้นเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย

ดังนั้น จึงไม่มีสถานที่ไหนในโลกที่จะเหมาะสมกับการเป็นแหล่งกำเนิดประเพณีอันดีของไทยอย่างการ “ลอยกระทง” มากไปกว่าในราชสำนักสุโขทัยอีกแล้วแหละครับ